"ประจิน"เคาะแล้วย้ายขนส่งหมอชิตไปอยู่รังสิต ปรับแบบรถไฟสีแดง-บาน8พันล.
"ประจิน จั่นตอง"รมว.คมนาคม ฟันธงย้ายขนส่งหมอชิตไป"รังสิต" ส่วนที่ดินหมอชิดเก่าตรงข้ามจตุจักร เล็งเปิดเป็นขนส่งทางสายสั้น พร้อมปรับแบบรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต งบฯ บานอีกกว่า 8 พันล้านบาท ต้องเลื่อนเปิดใช้เป็นปี"61
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม กล่าวถึงการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ หรือหมอชิต 2
และอู่รถเมล์ ขสมก. ออกจากพื้นที่เพื่อใช้ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ว่าในส่วนของอู่รถเมล์ ขสมก.จะยังให้บริการภายในสถานีกลางบางซื่อ เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางของ ผู้โดยสาร แต่ในส่วนของสถานีหมอชิต 2 จะต้องย้ายออกจากพื้นที่แน่นอน
"เบื้องต้นกระทรวงเห็นชอบ 2 พื้นที่ ก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารใหม่นั้น คือ 1. บริเวณด้านทิศเหนือของห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกของถนนวิภาวดีรังสิต และ 2.บริเวณติดทางด่วนบางปะอิน โดยพื้นที่ที่จะใช้ก่อสร้างจะต้องมีประมาณ 100 ไร่ โดยให้ บขส.ไปสำรวจพื้นที่ที่ว่าเป็นของหน่วยงานใด รวมทั้งประเมินค่าใช้จ่ายหากจะต้องมีการเวนคืนที่ดินให้ได้ข้อสรุปภายในสิ้น ปีนี้"
นอกจากนี้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมศึกษาพื้นที่ของกรม ธนารักษ์
ที่ปัจจุบันเป็นศูนย์ซ่อมและสถานีของรถไฟฟ้าบีทีเอส บริเวณหมอชิตเก่า ริมถนนพหลโยธิน มีแผนจะใช้เป็นสถานีรถโดยสารเส้นทางสายสั้น (วิ่งระหว่าง กทม.-จังหวัดใกล้ๆ) อย่างไรก็ตามการจะใช้พื้นที่ดังกล่าวหรือไม่นั้นขอศึกษาความเหมาะสมในราย ละเอียดอีกครั้งว่ามีความเหมาะสมหรือไม่
ส่วนคืบหน้ารถไฟชาน เมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26.3 กิโลเมตร คาดว่าสัปดาห์หน้า
กระทรวงคมนาคมจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติการปรับแบบการก่อสร้าง เพื่อรองรับการเดินรถไฟประเภทต่างๆ ได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้วงเงินก่อสร้างภาพรวมทั้งโครงการเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 8,140 ล้านบาท
แบ่งออกเป็นค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นในส่วน ของสัญญา 1 งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง จำนวน 4,315 ล้านบาท
สัญญา 2 งานโยธาทางยกระดับตลอดเส้นทาง จำนวน 3,352 ล้านบาท และสัญญา 3 งานระบบราง จำนวน 473 ล้านบาท หาก ครม.อนุมัติก็จะหารือกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง เพื่อให้จัดหาแหล่งเงินทุนต่อไป เบื้องต้นอาจจะใช้เงินกู้ภายในประเทศ
การ ปรับแบบดังกล่าว จะเพิ่มความยาวของชานชาลาชั้น 3 และโครงสร้างทางวิ่งในสถานีกลางบางซื่อ ปรับและเพิ่มทางรถไฟเข้า-ออกโรงซ่อมบำรุง ฯลฯ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ช้ากว่าที่กำหนด 1 ปี คือ จากเดิมตั้งเป้าหมายในปี 2560 จะเปิดได้จริงในปี 2561