คณะตรวจข้าวไม่กังวลข้าวเสื่อมสภาพ เชื่อยังขายได้ โดยราคาขายเหลือแค่ตันละ2,500บ./ตัน ด้าน “ปลัดคลัง”ปิดบัญชีข้าวหาตัวเลขขาดทุนสัปดาห์นี้
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว
เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้จะมีการประชุมอนุกรรมการฯ ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งขึ้นมาใหม่เป็นครั้งแรก โดยจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาติดตามข้อมูลการตรวจสต๊อกข้าวของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อนำมาใช้ปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวที่ใช้เงินไป 8-9 แสนล้านบาท ในช่วงประมาณ 2 ปี ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ผลการขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวจะสูงกว่าที่ปิดบัญชีไว้ล่าสุดเมื่อเดือน พ.ค. 2556 ที่มีผลขาดทุนประมาณ 3.3 แสนล้านบาท ตามที่นักวิชาการประเมินไว้ที่สูงกว่า 5 แสนล้านบาทหรือไม่นั้น ยังคงไม่สามารถบอกได้ เนื่องจากต้องรอข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้ล่าสุดมาคำนวณอีกครั้ง
สำหรับการปิดบัญชีในโครงการรับจำนำข้าวในครั้งนี้ จะดำเนินการยากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา
เพราะก่อนหน้านี้ใช้ปริมาณข้าวที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) แจ้งมา และข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ที่ระบายข้าวออกไป มาหักลบต้นทุนจากการจำนำข้าว และรายได้จากการขายข้าวก็สามารถคิดผลขาดทุนจากการดำเนินโครงการได้
ส่วนการปิดบัญชีจำนำข้าวล่าสุด ต้องรอผลตรวจสต๊อกข้าวของคณะทำงานชุดที่มี ม.ล.ปนัดดา
สรุปออกมาก่อน ว่าปริมาณข้าวตามตัวเลขบัญชีที่ อคส. กับ อ.ต.ก. แจ้งมาว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะการตรวจสอบที่ผ่านมา บางส่วนพบว่ามีทั้งข้าวหาย ข้าวเสื่อมคุณภาพ ซึ่งจะทำให้ผลขาดทุนของการรับโครงการรับจำนำเพิ่มขึ้น
"การปิดบัญชีเดิมดูแต่ตัวเลขปริมาณข้าวทางบัญชีเป็นหลัก ไม่ได้ดูเรื่องคุณภาพของข้าวว่าเสื่อมคุณภาพหรือไม่ และไม่ได้ดูว่ามีข้าวหายตรงกับบัญชีหรือไม่ แต่ในครั้งนี้ต้องดูข้อมูลดังกล่าวทั้งหมด เพื่อให้การปิดบัญชีสะท้อนผลขาดทุนให้ตรงกับข้อเท็จจริงมากขึ้น"
นายรังสรรค์ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯ จะเร่งสรุปผลการขาดทุนจากโครงการให้เร็วที่สุด เพื่อรายงานให้กับ คสช. หรือรัฐบาลที่จะมีขึ้นในอนาคตรับทราบ เพื่อที่จะหาทางแก้ไขให้เร็วที่สุด เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
แหล่งข่าวจาก คณะทำงานตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าว กล่าวว่า จากการการตรวจสอบข้าวในสต็อกของรัฐบาล
จากโครงการรับจำนำทั้งหมด 18 ล้านตัน หลังจากที่ได้ตรวจสอบโกดัง 90% ของข้าวทั้งหมด คณะทำงานได้ประเมินข้าวที่มีมาตรฐานต่ำกว่าเกณฑ์ และเสื่อมคุณภาพแล้วประมาณ 3 ล้านตัน ซึ่งในส่วนของข้าวที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานก็ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการระบายข้าว โดยต้องยอมรับว่าข้าวดังกล่าวคงต้องขายในราคาต่ำ เพราะผู้ชนะประมูลต้องมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการปรับปรุงคุณภาพข้าว และอื่นๆ เฉลี่ย 2,500 – 3,000 บาทต่อตัน ทั้งนี้ตลาดที่สนใจข้าวประเภทนี้จะเป็นตลาดแอฟริกา เป็นต้น
"ข้าวที่เสื่อมคุณภาพนั้นอาจไม่สามารถที่จะระบายได้ทันที แม้ว่าจะมีหลายหน่วยงานมีความสนใจที่จะซื้อข้าวประเภทนี้ เช่น ปตท. และ บางจาก ที่จะนำไปเป็นส่วนผลิตเอทานอล เพราะคงต้องให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ และเจ้าของโกดัง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายก่อน"
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า
ปัญหาเรื่องของข้าวคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน และข้าวเสื่อมคุณภาพที่เก็บไว้ในโกดังของโครงการรับจำนำข้าวนั้น กระแสสังคมรู้อยู่แล้วว่ามีจำนวนมากจึงไม่แปลกใจ ทั้งนี้ที่ผ่านมาหลายฝ่ายก็มีการเสนอแนะเกี่ยวกับการบริหารจัดการข้าว และมีการตักเตือนผู้ที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายผลที่ได้ก็เกิดขึ้นจริงตามที่หลายฝ่ายกังวล สำหรับข้าวคุณภาพต่ำที่ผู้บริโภคสามารถรับประทานได้นั้น หากจะมีการเปิดประมูลราคาก็น่าจะต่ำกว่าราคาทั่วไป 20-30 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพราะภาคเอกชนต้องนำข้าวดังกล่าวไปปรับปรุงคุณภาพอย่างมาก และที่สำคัญเมื่อปรับปรุงคุณภาพแล้วก็จะทำให้น้ำหนักของข้าวลดลงไปตามไปด้วย
"การตั้งราคาข้าวคุณภาพต่ำนั้น คงต้องดูว่าคุณภาพจะเสื่อมมากแค่ไหนและดูว่ามีกลิ่นขนาดไหน อย่างไรก็ตามหากข้าวเสื่อมแล้วก็คงทำอาหารสัตว์ หรือไม่ก็ทำเป็นเอทานอล แต่หากยังไม่เสื่อมซึ่งคนยังกินได้ก็คงต้องมีการปรับปรุงคุณภาพอย่างมาก ซึ่งตรงนี้ตลาดแอฟริกาน่าจะขายได้อยู่" นายชูเกียรติ กล่าว