เปิด 7 แผนด่วนอัดฉีดเศรษฐกิจของคสช.

เปิด 7 แผนด่วนอัดฉีดเศรษฐกิจของคสช.

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง แจ้งว่า ในการหารือระหว่าง พล.อ.อ.ประจินกับผู้บริหารระดับสูง กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน

กระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการเร่งด่วน ในส่วนมาตรการสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 8 แห่ง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงมิถุนายน 2557-ธันวาคม 2558 รวม 11 มาตรการ วงเงินรวม 343,600 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.ธนาคารออมสิน ในโครงการสินเชื่อเอสเอ็มอีสุขใจ วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ให้สินเชื่อระยะสั้นและระยะยาว วงเงินกู้รายละไม่เกิน 10 ล้านบาท ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 10 ปี อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 เอ็มแอลอาร์-1 ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 1 หมื่นราย

2.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โครงการเพิ่มสินเชื่อตลอดห่วงโซ่อุปทาน วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท จำนวน 6.35 พันราย สินเชื่อวิสาหกิจชุมชนวงเงิน 7.5 พันล้านบาท จำนวน 10,437 กลุ่มวิสาหกิจ สินเชื่อผู้ประกอบการ 3.4 พันล้านบาท และสินเชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก (บัตรสินเชื่อเกษตรกร) 3 หมื่นล้านบาท จำนวน 3 หมื่นราย

3.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) โครงการขยายสินเชื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต 2 วงเงิน 3 พันล้านบาท รวม 1.2 พันราย โครงการสินเชื่อสนับสนุนผู้ประกอบการตามยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรม 5 พันล้านบาท จำนวนผู้ประกอบการ 600 ราย และมาตรการป้องกันหนี้ตกชั้นเป็นหนี้เสีย โดยพักชำระหนี้เงินต้น 6 เดือนและเพิ่มวงเงินสินเชื่อฉุกเฉิน

4.ธนาคารเพื่อการส่งออกและการนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) โครงการขยายสินเชื่อให้เอสเอ็มอี 1 หมื่นล้านบาท ให้กับผู้ส่งออก 2.2 หมื่นราย
 
5.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาตรการจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันแทนเอสเอ็มอีปีแรก วงเงิน 1.19 แสนล้านบาท และของบชดเชย 1.22 พันล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 1.5 หมื่นราย มาตรการให้ความช่วยเหลือไมโครเอสเอ็มอี 5 พันล้านบาท มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโอท็อป 1 หมื่นล้านบาท และมาตรการพักชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 6 เดือน

6.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โครงการเอสเอ็มอีฮาลาลเทรด วงเงิน 2 พันล้านบาท สำหรับลูกค้ารายใหม่ 40 ราย โครงการสินเชื่อมาตรฐานเฟร็คซี่แอนด์ชัวร์ วงเงิน 4.8 พันล้านบาท มาตรการแคมเปญสินเชื่อบุคคล 4 โครงการ วงเงิน 800 ล้านบาท

7.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) โครงการสินเชื่อเพิ่มสุขสำหรับลูกหนี้ประวัติดี ปล่อยกู้เพิ่มรายละไม่เกิน 1.5 ล้านบาทต่อ 1 หลักประกัน/ราย และโครงการอื่นๆ อีก 14 โครงการ

และ 8.บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ลูกค้า โดยใช้นโยบายและมาตรการที่สอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว

..........

(ที่มา:มติชนรายวัน 3 มิ.ย.2557)


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์