เมื่อวันที่ 10 มีนาคม นายระวี รุ่งเรือง ประธานเครือข่ายชาวนาไทย ที่ปักหลักชุมนุมประท้วงที่กระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี
เปิดเผยถึงการเคลื่อนไหวของเครือข่ายฯว่า ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคมเป็นต้นไป ชาวนาจะทยอยมารวมตัวกันเพื่อไปเคลื่อนไหวร่วมกับพระพุทธะอิสระ แกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่ สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เวทีแจ้งวัฒนะ และจะเคลื่อนไหวใหญ่วันพุธที่ 12 มีนาคม โดยจะมีชาวนาจากหลายจังหวัดเดินทางมาสมทบอีก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกิจกรรมการเคลื่อนไหวของมวลชน กปปส. เวทีแจ้งวัฒนะวันที่ 11 มีนาคม เวลา 09.00 น. จะร่วมกับชาวนาที่ออกมาชุมนุมประท้วงนำข้าว 10 คันรถบรรทุก ไปขาย แต่ยังไม่เปิดเผยสถานที่
ส่วนความคืบหน้าการนำเงินจากงบกลาง 20,000 ล้านบาท ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อนุมัติไปจ่ายหนี้ชาวนา
ซึ่งอยู่ในขั้นตอนรอการเซ็นอนุมัติการเบิกจ่ายจากผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลังนั้น นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กรณีที่ยังไม่มีการเซ็นเพื่อนำเงินฉุกเฉิน 2 หมื่นล้านมาจ่ายหนี้ชาวนา เพราะข้าราชการไม่กล้า เนื่องจากเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีอาญาและวินัยในอนาคต เพราะรัฐบาลไม่สามารถระบายข้าว เพื่อนำเงินมาคืนได้ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม ตามเงื่อนไขของ ก.ก.ต. ตนจึงเกรงว่าชาวนาจะถูกหลอกอีกครั้ง ฉะนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯและรมว.กลาโหมรวมถึงผู้เกี่ยวข้องต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ชัดว่า ชาวนาจะได้เงินเมื่อไหร่ นอกจากนี้ อีกทางที่จะได้เงินเร็วที่สุดคือ กองทุนช่วยเหลือของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แต่เป็นความใจดำของตระกูลชินวัตรและวงศ์สวัสดิ์ ที่ไม่มีเงินแม้แต่สลึงเดียวเข้ากองทุนของชาวนา
วันเดียวกัน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เร่งจ่ายเงิน 712 ล้านบาท ให้เกษตรกรที่ได้รับใบประทวนโครงการรับจำนำข้าว ฤดูกาลผลิตปี 2555/2556 ทั้งหมด 3,900 ราย รวม 5 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ อุทัยธานี ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา และฉะเชิงเทรา
โดยนายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าวว่า เกษตรกรที่ทำสัญญาเงินโครงการจำนำข้าวไว้ก่อนแล้ว จะได้รับเงินโอนเข้าบัญชีเงินฝากทันที แต่หากเกษตรกรรายใด ที่ยังไม่ได้ทำสัญญาเงินกู้ในโครงการไว้กับธนาคาร ทางเกษตรกรจะต้องเข้ามาทำสัญญาเงินกู้ให้เสร็จสิ้นก่อน ถึงจะได้รับเงินโอนเข้าบัญชี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธ.ก.ส.รายงานยอดเงินฝากสมทบเข้ากองทุนช่วยชาวนาวันนี้
รวม 616,535,172.87 บาท แบ่งเป็น กองทุนที่ 1 (บริจาค) 17,159,440.61 บาท กองทุนที่ 2 สมทบแบบคืนต้น แต่ไม่มีผลตอบแทน จำนวน 459,532,514.66 บาท และกองทุนที่ 3 แบบคืนต้น มีผลตอบแทน ร้อยละ 0.63 ต่อปี จำนวน 139,843,217.60 บาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1,000 ล้านบาท ในช่วง 7 วันแรกที่เปิดกองทุน
ขณะที่ธ.ก.ส. สาขาสุรินทร์ มีชาวนาจำนวนมาก ซึ่งเป็นลูกค้า ธ.ก.ส. นำเงินมาชำระหนี้เงินกู้ หลัง ธ.ก.ส.สุรินทร์
มีหนังสือถึงลูกหนี้เงินกู้ เร่งรัดให้นำเงินมาชำระดอกเบี้ย เงินต้น รวมทั้งชำระหนี้บัตรเครดิตเกษตร สร้างความเดือดร้อนซ้ำเติมชาวนาที่ยังไม่ได้รับเงินจำนำข้าว ต้องวิ่งกู้หนี้ยืมสินเงินกู้นอกระบบ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อเดือน บางรายต้องจำใจนำใบประทวนข้าวไปจำนำไว้กับนายทุนที่มีชื่อว่า เจ๊ ม. อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อเดือน มีมูลค่าจำนำหลายร้อยล้านบาท
สำหรับความคืบหน้าการยื่นซองประมูลข้าวเป็นการทั่วไปของกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ(คต.)
ที่เปิดให้เอกชนและผู้สนใจยื่นซองเสนอราคา ปริมาณ 5.17 แสนตัน จนถึงเวลา 16.30 น.มีผู้สนในเดินทางมายื่นซองทั้งหมด 34 ราย เป็นครั้งแรกที่มีผู้สนใจยื่นซองมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากราคาข้าวตกต่ำ รวมถึงรัฐบาลเปิดโอกาสให้โรงสีเข้ามาร่วมประมูลได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของโกดังที่รู้สภาพข้าวของตน โดยการประมูลครั้งนี้ เปิดโอกาสให้ทั้งประมูลเพื่อนำข้าวส่งออกและจำหน่ายในประเทศ
นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ อธิบดีได้รับความสนใจจากเอกชนเป็นจำนวนมาก และเชื่อว่าจะสามารถระบายข้าวได้ทั้งหมด
โดยวันที่ 11 มีนาคม จะเปิดซองและเจรจาต่อรองกับผู้เสนอราคาใกล้เคียงกับราคาตลาดมากที่สุด หากผู้ประกอบการรายใดเสนอต่ำกว่าเกณฑ์ราคากลางจะไม่พิจารณา ยืนยันว่าการระบายข้าวครั้งนี้จะไม่เปิดขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด เพื่อเร่งระบายสต๊อกอย่างที่เป็นข่าวแน่นอน
นายมานัส กิจประเสริฐ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทยกล่าวว่า จากราคาข้าวในตลาดที่ปรับตัวลดลง
ทำให้เอกชนสนใจเข้าร่วมประมูลข้าวในสต๊อกของรัฐบาลมากขึ้น และเชื่อว่าในการประมูลครั้งนี้จะมีโรงสี 20-30 รายเข้าร่วมยื่นซองเสนอราคาซื้ข้าวในสต็อกของรัฐบาล และเชื่อว่าแนวโน้มราคาข้าวมีโอกาสปรับลดลง หากรัฐบาลยังทยอยระบายข้าวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การซื้อขายข้าวในตลาดค่อนข้างซบเซา
สำหรับราคาข้าวขาว 5%ในตลาดโลกขณะนี้ ข้าวไทย(ใหม่) อยู่ที่ตันละ 440 เหรียญสหรัฐ ข้าวไทย(เก่า) อยู่ที่ตันละ 370 เหรียญสหรัฐ ข้าวเวียดนาม(ใหม่) อยู่ที่ตันละ 370 เหรียญสหรัฐ ข้าวอินเดีย(ใหม่) อยู่ที่ตันละ 410 เหรียญสหรัฐ