อีก ด้านหนึ่ง บรรยากาศการฝากถอนเงินที่ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ ยังคงมีประชาชนและนักธุรกิจ
รวมถึงนักการเมืองเข้ามาฝากและถอนเงินกันอย่างต่อเนื่อง แต่บางตาลงกว่าที่ผ่านมา ขณะที่พนักงานธนาคารส่วนใหญ่ยังคงใส่ชุดดำมาทำงานตามการนัดหมายของสหภาพแรง งานรัฐวิสาหกิจธนาคารออมสิน เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับการปล่อยเงินกู้อินเตอร์ แบงก์ให้ ธ.ก.ส. โดยผู้ที่มาฝากเงินส่วนใหญ่ ต้องการมาเพื่อแสดงสัญลักษณ์และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนทั่วไป ขณะเดียวกัน ประชาชนบางส่วนยังมองว่าการฝากเงินและซื้อสลากออมสิน โดยเฉพาะฝากออมทรัพย์พิเศษ 5 เดือน จะให้อัตราดอกเบี้ยสูงถึง 2.6% จึงถือเป็นประโยชน์สำหรับผู้ออมอีกด้วย โดยช่วงเช้าที่ผ่านมา นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นำเงินสดมาฝากวงเงิน 3.5 ล้านบาท และนายปรีชา ธรรมพิภพ อดีตประธานสมาคมการค้าและกลุ่มธุรกิจบันเทิงและการสื่อสารนักธุรกิจได้นำ เงินมาฝากกับธนาคาร 4 ล้านบาท รวมทั้งกลุ่มแพทย์พยาบาลเพื่อประชาธิปไตยนำเงินมาฝากจำนวนหนึ่งด้วย
นาย อำนวย ปรีมนวงศ์ กรรมการธนาคารออมสิน สรุปยอดการถอนและฝากเงินของประชาชนว่า เมื่อวันที่ 18 ก.พ. พบมีการฝากเงิน 10,800 ล้านบาท และถอนเงิน 38,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับวันที่ 17 ก.พ. ที่มียอดฝาก 10,000 ล้านบาท และถอน 30,000 ล้านบาท ทำให้ธนาคารมีเงินไหลออกรวม 2 วันนี้ ประมาณ 48,000 ล้านบาท
ขณะ ที่สภาพคล่องของธนาคารก่อน วันที่มีการถอนเงินอยู่ที่ 200,000 ล้านบาท
ทั้งนี้คาดหวังว่าสถานการณ์การถอนเงินของประชาชนในวันนี้ และวันต่อ ๆ ไป จะเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากนายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ยื่นหนังสือลาออกจากผู้อำนวยการธนาคาร เพื่อยุติความขัดแย้งภายในองค์กร และสร้างความเชื่อมั่นต่อลูกค้าธนาคาร หลังจากให้กู้อินเตอร์แบงก์กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 20,000 ล้านบาท ขณะนี้ธนาคารได้เตรียมเงินสดให้เพียงพอกรณีที่ลูกค้ามีความต้องการจะถอนเงิน ออกอย่างต่อเนื่อง
นาย ลิขิต กลิ่นถนอม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจธนาคารออมสิน กล่าวภายหลังการประชุมสหภาพฯ ว่า ที่ประชุมสหภาพฯ มีมติ 3 ข้อ
ที่จะเสนอให้คณะกรรมการธนาคารออมสิน ในวันที่ 20 ก.พ.นี้ พิจารณา คือ 1.เรียกร้องให้คณะกรรมการทุกคนออกมาขอโทษลูกค้าที่ทำให้ธนาคารเกิดวิกฤติ 2.ห้ามนำธนาคารออมสินเข้าสู่การเมือง และ 3.ธนาคารออมสินต้องหลีกเลี่ยง ละเว้นการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงด้านการเมือง ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารออมสิน ในวันที่ 20 ก.พ.นี้ จะพิจารณาหาแนวทางเร่งด่วน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของลูกค้ากลับคืนมาโดยเร็ว ยืนยันว่าธนาคารออมสินไม่ได้ยืนอยู่ข้างฝ่ายใด และขอให้ลูกค้าเชื่อมั่นว่าการทำธุรกรรมทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย โดยเชื่อว่าเมื่อผู้บริหารยื่นใบลาออกแล้วสถานการณ์จะดีขึ้น
นาย ลิขิต กล่าวด้วยว่า สหภาพฯยังเป็นห่วงเรื่องที่ลูกค้าได้ถอนเงิน 2 วัน รวม 70,000 ล้านบาท
เพราะถือเป็นวิกฤติการเงินที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งต้องการเรียกร้องให้คณะกรรมการธนาคารออมสินออกมาแสดงความรับผิดชอบด้วย การเรียกความเชื่อมั่นของลูกค้ากลับคืนมาโดยเร็ว และมองว่าอาจยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมหากคณะกรรมการธนาคารลาออก เพราะอยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการที่ไม่สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ได้ เบื้องต้นสหภาพฯได้ทำหนังสือชี้แจ้งไปยังสาขาและลูกค้าเพื่อสร้างเข้าใจและ เรียกความเชื่อมั่นกลับมา เช่น ออมสินยังให้อัตราดอกเบี้ยที่สูง เงินฝากเพื่อเรียก ดอกเบี้ย 1.5% และรัฐบาลประกันเงินฝากเต็มจำนวน
ฝั่ง ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิด เผยว่า จากกรณีปัญหาโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลนั้น
ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีแนวคิดที่จะช่วยเหลือเกษตรกรในการทำนา เพื่อประหยัดรายจ่าย ต่าง ๆ ให้กับเกษตรกร โดย สอศ. จะระดมวิทยาลัยเกษตรทั่วประเทศ มาช่วยผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพให้กับเกษตรกร โดยจะมีการทำความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมการข้าว ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีศูนย์เมล็ดพันธ์ุชุมชน มาช่วยกันส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้กับเกษตรกร นอกจากนี้ สอศ. ยังได้รับข้อมูลว่าบุตรหลานของชาวนาที่เดือดร้อนจากโครงการรับจำนำข้าว ที่อยู่ในภาคกลางและภาคเหนือ ส่วนใหญ่กำลังศึกษา ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ชั้นสูง (ปวส.) อยู่ในวิทยาลัยสังกัด สอศ. และต้องลงทะเบียนเรียนภาคเรียนละประมาณ 3,000-5,000 บาท โดย สอศ.จะมีการผ่อนผันค่าเล่าเรียน หรืออาจจะมีการยกเว้นค่าเล่าเรียนให้กับลูกหลานชาวนาด้วย ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวให้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของสถานศึกษา ซึ่งบางวิทยาลัยอาจช่วยเหลือในรูปแบบของการให้ทุน อย่างไรก็ตามจะมีการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจให้กับผู้บริหารวิทยาลัย อาชีวศึกษาทั่วประเทศ ได้นำไปปฏิบัติพร้อมกัน
ส่วน บรรยากาศความทุกข์ของชาวนา ตามต่างจังหวัด เริ่มที่ จ.อำนาจเจริญ บริเวณพุทธอุทยานเขาดานพระบาท
ด้านหน้าองค์พระมงคลมิ่งเมือง ชาวนากว่า 200 คน นำโดย นายวานิช บุตรี ประธานเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน นายวิรัตน์ สุขกุล ผู้ประสานงานองค์กรสภาชุมชน จัดเวทีเสวนาความเดือดร้อนของชาวนา จากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เพื่อหาทางออก นายวิรัตน์ แกนนำชาวนา กล่าวว่า ยังมีชาวนากว่า 20,000 ครัวเรือน จาก 56 ตำบล ใน จ.อำนาจเจริญ เดือดร้อนไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าว โดยชาวนาส่วนใหญ่อยากรู้ว่าจะได้เงินเมื่อใด ทั้งนี้ชาวนาบางคนถึงกับร่ำไห้ วอนขอให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือชาวนาเป็นการด่วน ด้าน นายวิชิต แก้วกอ ผู้จัดการ ธ.ก.ส.อำนาจเจริญ ชี้แจงว่า ขณะนี้ ธ.ก.ส.ได้โอนเงินให้แก่ชาวนาเฉลี่ยสัปดาห์ละ 15 ล้านบาท ซึ่งยังไม่พอ ทั้งนี้ยืนยันว่าถ้ารัฐบาลโอนเงินมาเมื่อใด ทาง ธ.ก.ส.จะทยอยจ่ายให้จนครบแน่นอน
ที่ จ.นครสวรรค์ กลุ่มชาวนาภาคเหนือตอนล่างจาก จ.น่าน สุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ และอุทัยธานี กว่า 1,000 คน
พร้อมรถเครื่องมือทางการเกษตร อาทิ รถอีแต๊ก รถอีแต๋น รถไถนา นับ 100 คัน เดินทางมารวมตัวกันที่บริเวณถนนทางหลวงหมายเลข 1 นครสวรรค์-กรุงเทพ ฝั่งขาล่อง ในเขตพื้นที่ อ.พยุหะคีรี เพื่อเคลื่อนพลไปสมทบกับชาวนาในจังหวัดกลุ่มภาคกลาง อาทิ จ.ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี ปทุมธานี นนทบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม และปราจีนบุรี ในการเคลื่อนขบวนเข้าสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อทวงถามเงินจากโครงการรับจำนำข้าว โดยการรวมตัวเข้ากรุงเทพมหานครครั้งนี้ ยืนยันว่าจะชุมนุมจนกว่าจะได้เงินครบทุกบาททุกสตางค์
ที่ จ.อุทัยธานี นายชาดา ไทยเศรษฐ์อดีต ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา
พร้อม นายก อบจ. และนายก อบต. จาก 8 อำเภอ ในจังหวัด นำชาวนา 8,000 คน ขึ้นรถเครื่องมือทางการเกษตร อาทิ รถอีแต๊ก รถอีแต๋น รถไถนา 800 คัน มุงหลังคาป้องกันแดดและฝน มารวมตัวกันที่ศูนย์โอทอป อ.เมืองอุทัยธานี เพื่อลงทะเบียนก่อนเดินทางตามถนนมิตรภาพมาสมทบกับม็อบชาวนาของ จ.พิจิตร และนครสวรรค์ ที่มุ่งหน้ามาสมทบกับชาวนา จ.ชัยนาท สิงห์บุรี และอ่างทอง ก่อนที่จะมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพมหานคร เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินตามโครงการรับจำนำข้าวให้กับชาวนาโดยเร็ว ซึ่งการเดินทางในครั้งนี้ มีการเตรียมความพร้อมจัดตั้งชุดการ์ดรักษาความปลอดภัย 200 คน ขี่รถจยย. ดูแลความเรียบร้อยด้วย
ที่ จ.นครศรีธรรมราช บริเวณ ธ.ก.ส. สาขาทุ่งใหญ่ ปรากฏว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา มีประชาชนแห่ไปปิดบัญชีกันอย่างต่อเนื่อง
เพราะไม่พอใจที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ประกาศใช้บริการ ธ.ก.ส. จ่ายเงินชาวนาตามโครงการรับจำนำข้าว โดย นายองอาจ เมฆาสุวรรณรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. สาขาทุ่งใหญ่ ได้มอบหมายให้ นายเฉลิมชัย ร่างเล็ก ผู้ช่วยผู้จัดการ และนายเฉลิมพร พนาลี หัวหน้าหน่วย ตั้งจุดประชา สัมพันธ์ พูดคุยกับลูกค้าผ่านเครื่องเสียง อธิบายถึงเหตุผลและจุดยืนของธนาคาร โดยยืนยันชัดเจนว่า ธ.ก.ส. ไม่นำเงินฝากพี่น้องไปจ่ายเงินจำนำข้าวแน่นอน
ที่ จ.บุรีรัมย์ ชาวนากว่า 60 ราย หลายตำบล ในเขต อ.เมือง แห่นำสมุดบัญชีมาปรับเช็กยอดและเบิกเงินที่ ธ.ก.ส. สาขาอิสาณ ตั้งอยู่บ้านหัวลิง ต.อิสาณ อ.เมือง
หลังจากทาง ธ.ก.ส.จังหวัด ได้กระจายเงินในโครงการรับจำนำข้าวกว่า 108 ล้านบาท ที่ได้รับการจัดสรรมางวดล่าสุด หรือครั้งที่ 14 แจกจ่ายให้กับทั้ง 22 สาขาในจังหวัด เพื่อจ่ายเงินให้กับชาวนาที่ยังไม่ได้รับเงิน สร้างความปลาบปลื้มใจแก่ชาวนาที่ได้รับเงินเป็นอย่างมาก.