กฟผ. เตรียมขึ้นค่าเอฟที 10 สต.ต้นปีหน้า

กฟผ. เตรียมขึ้นค่าเอฟที 10 สต.ต้นปีหน้า

กฟผ.ส่งซิกฃ่วงหน้า อ้างบาทอ่อน - ก๊าซแพง ดันต้นทุนพุ่ง รอเรกูเลอเตอร์ชี้ขาด

แหล่งข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า อัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ที่เรียกเก็บบิลค่าไฟประชาชนรอบใหม่ระหว่างเดือนม.ค.-เม.ย.57 มีทิศทางปรับขึ้น 10 สตางค์ต่อหน่วย เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติ ปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันเล็กน้อย รวมทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนค่า จากการคำนวณค่าเอฟทีงวดที่แล้วใช้ฐานการคำนวณ 31.24 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ล่าสุดค่าเงินบาทเคลื่อนไหวเฉลี่ยที่ 32 บาทกว่าต่อดอลลาร์ ฯ รวมทั้งค่าเอฟที งวดที่ผ่านมา ระหว่างเดือนก.ย.-ธ.ค.56 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) ให้กฟผ.แบกรับภาระต้นทุนไว้ 2.91 สตางค์ต่อหน่วย

“ค่าเอฟที งวดก.ย.-ธ.ค.56 ควรจะต้องขึ้น 14.18 สตางค์ต่อหน่วย แต่เพื่อลดภาระประชาชนเรกูเลเตอร์จึงนำเงินชดเชยจากการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าขนอมและเงินค่าปรับโรงไฟฟ้าเอกชน 2,247 ล้านบาทคิดเป็น 4.91 สตางค์ต่อหน่วย และให้กฟผ. รับภาระ 1,566 ล้านบาทหรือคิดเป็น 2.91 สตางค์ต่อหน่วย จึงทำให้เอฟที ปรับขึ้นเพียง 7.08 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนงวดหน้า คงต้องดูว่างเรกูเลเตอร์ จะให้กฟผ.แบกรับภาระอีกหรือไม่อย่างไร”

สำหรับแนวโน้มทิศทางค่าไฟฟ้าในปี 57 หากพิจารณาจากปัจจัยเชื้อเพลิง ยอมรับว่า ไทยต้องทยอยใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี)
 
นำเข้ามากขึ้นในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งสัดส่วนที่ต้องใช้มากขึ้น จะมีผลต่อค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น เนื่องจากขณะนี้แอลเอ็นจีมีราคาสูงถึง 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ฉบับใหม่ ที่กำลังปรับปรุง พยายามเปลี่ยนมาใช้ถ่านหินเพื่อกระจายความเสี่ยงเชื้อเพลิง และความมั่นคงมากขึ้น เพื่อรักษาระดับค่าเอฟทีไม่ให้สูงเกินไป

“เราเองต้องยอมรับว่าการส่งเสริมพลังงานทดแทนก็มีต้นทุนค่าไฟที่สูงตามไปด้วยไม่ว่าจะเป็นหญ้าเนเปียร์ พลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาหรือโซล่าร์รูฟทอป แต่สิ่งเหล่านี้ก็ต้องทำไปแต่ถ่านหินน่าจะเป็นทางออกของไทยในช่วง 10-20 ปีข้างหน้านี้หากไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามแผนค่าไฟไทยจะสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การซื้อไฟต่างประเทศมากไปก็เสียงต่อความมั่นคง”

นายดิเรก ลาวัลย์ศิริ ประธานเรกูเลเตอร์ กล่าวว่า กลางเดือนธ.ค.นี้ จะพิจารณาต้นทุนการผลิตไฟฟ้า
 
เพื่อสรุปตัวเลขก่อนนำมาคำนวณค่าเอฟที ที่จะเรียกเก็บบิลค่าไฟประชาชนรอบใหม่ระหว่างเดือนม.ค.-เม.ย.57 โดยเฉพาะ 2 ปัจจัยหลักที่จะมีผลให้ค่าไฟฟ้าเปลี่ยนแปลง คือราคาก๊าซธรรมชาติ และค่าเงินบาท ซึ่งค่าเงินบาทที่อ่อนค่าทุก 1บาทต่อดอลลาร์สหรัฐอเมริกามีผลกระทบต่อต้นทุนค่าเอฟที สูงถึง 6 สตางค์ต่อหน่วย

“ยังไม่สามารถตอบได้ว่าตัวเลขจะเป็นอย่างไรเพราะคงจะต้องดูหลายปัจจัยทั้งราคาก๊าซฯ ค่าเงินบาทภาระอื่นๆ ที่มีอยู่ และมีเงินชดเชยอื่นๆเหลือพอมาดูแลบ้างหรือไม่ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจในช่วงนั้นหากขึ้นก็ต้องดูว่าอัตราใดที่จะเหมาะสมไม่ให้เป็นภาระต่อประชาชนต่อเศรษฐกิจมากไป".



เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์