เมียนมาร์ผ่านร่างกม.ควบคุมประชากร องค์กรสิทธิฯ ชี้ หวังลดจำนวนโรฮิงญา

เมียนมาร์ผ่านร่างกม.ควบคุมประชากร องค์กรสิทธิฯ ชี้ หวังลดจำนวนโรฮิงญา


       จากรายงานของอิระวดี เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาร่างกฎหมายที่ถูกวิจารณ์ว่าจะละเมิดสิทธิในการเจริญพันธุ์ของสตรี ได้ผ่านการลงมติเห็นชอบจากรัฐสภาเมียนมาร์  (หรือที่เคยรู้จักกันในชื่อพม่าในอดีต) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รอเพียงการลงนามจากประธานาธิบดีเท่านั้นเพื่อให้กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้

       "เมียนมาร์อลินน์" หนังสือพิมพ์ของรัฐบาลได้รายงานเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า "กฎหมายควบคุมประชากร" ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาในสมัยประชุมที่ 12 ในกรุงเนปิดอว์

        กฎหมายฉบับนี้มีกฎเกณฑ์ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กรณีบังคับให้ผู้หญิงต้องเว้นระยะการตั้งครรภ์เป็นเวลา 3 ปี ซึ่งนักสิทธิสตรีอ้างว่ามาตรการเช่นนี้เป็นการทำลายสิทธิในการเจริญพันธุ์ของสตรี


        ด้านรองอัยการสูงสุด นายตัน ตัน อู ซึ่งมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายฉบับนี้อ้างว่า กฎหมายฉบับนี้จะช่วยส่งเสริมการบริการด้านสาธารณสุขในแก่ผู้หญิงในพื้นที่ด้อยพัฒนาของประเทศ และอ้างว่ากฎหมายมิได้มีเป้าหมายที่จะลงโทษผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนด


       ทั้งนี้ แม้ว่ากฎหมายดังกล่าวจะมิได้มีบทลงโทษ สำหรับผู้หญิงที่ฝ่าฝืนมีลูกในช่วงเวลาเว้นวรรคตามที่กฎหมายกำหนด แต่กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนเตือนว่าเด็กๆ ที่เกิดในช่วงเวลาดังกล่าว เจ้าหน้าที่อาจไม่รับจดทะเบียนการเกิดได้

       กฎหมายฉบับนี้ ยังให้อำนาจรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลางเพื่อขอให้ประธานาธิบดีออกคำสั่งจำกัดอัตราการเกิดได้ตามความจำเป็น หากอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการพัฒนาภูมิภาค 


       เครือข่ายความเท่าเทียมทางเพศกล่าว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมอัตราการเกิดจำเพาะภูมิภาค และการเลือกว่าจะมีลูกเมื่อไหร่และจำนวนกี่คนควรเป็นทางเลือกส่วนตัวไม่จำเป็นต้องออกเป็นกฎหมาย


      นักสิทธิมนุษยชนบางรายอ้างว่ากฎหมายฉบับนี้ อาจมีขึ้นเพื่อควบคุมประชากรชาวมุสลิม ซึ่งถือเป็นชนกลุ่มใหญ่ในพื้นที่ภาคเหนือของรัฐยะไข่ ซึ่งเป็นถิ่นฐานของชาวมุสลิมโรฮิงยาที่มีสถานะเป็นบุคคลไร้รัฐ ซึ่งในปี 2013 เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นพยายามบังคับใช้กฎห้ามมีลูกเกิน 2 คน ในเขตมุสลิมมาแล้วโดยอ้างว่าการเพิ่มประชากรในเขตดังกล่าวสูงเกินไปสำหรับพื้นที่ยากจน

      ขณะที่นายเดวิด แมธิสัน นักวิจัยของฮิวแมนไรทส์วอทช์กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้อาจส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสิทธิสตรีและยังบิดเบือนวัตถุประสงค์ของมาตรการวางแผนครอบครัวที่แท้จริง เขายังเกรงว่าหลังเกิดปัญหาความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาในปี 2012 มาตรการนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่จะใช้ลดจำนวนประชากรชาวมุสลิม โดยเฉพาะชาวโรฮิงญา


      กฎหมายควบคุมประชากรถือว่าเดินหน้าในกระบวนการทางกฎหมายมาไกลที่สุด ในบรรดา "กลุ่มกฎหมายเพื่อปกป้องเชื้อชาติและศาสนา" ซึ่งมีทั้งหมดสี่ฉบับ โดยอีกสามฉบับเป็นกฎหมายที่ห้ามการมีคู่สมรสหลายคน, การกำหนดให้เจ้าหน้าที่สามารถขัดขวางการเปลี่ยนศาสนาของคู่สมรส และการกำหนดให้คู่สมรสต่างศาสนาต้องขออนุญาตในการแต่งงานจากเจ้าหน้าที่เสียก่อน

      กลุ่มกฎหมายเหล่านี้ ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรเพื่อการปกป้องเชื้อชาติและศาสนา กลุ่มองค์กรพระสงฆ์ชาตินิยมที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้เผยแพร่วาทกรรมต่อต้านชาวมุสลิม และปลุกกระแสชาตินิยมในประเทศ


     นายแมธิสัน กล่าวว่า การผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของเมียนมาร์กำลังเดินผิดทางเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงของเมียนมาร์ รวมทั้งการรู้จักยอมรับความแตกต่างของผู้อื่นซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในสังคมที่มีความหลากหลาย


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์