หนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้กับชีวิตที่ไม่ใช่ K-pop ต้องอ่านหนังสือวันละ 15 ชั่วโมงเพื่อสอบเข้าทำงาน!!

หนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้กับชีวิตที่ไม่ใช่ K-pop ต้องอ่านหนังสือวันละ 15 ชั่วโมงเพื่อสอบเข้าทำงาน!!

พิษเศรษฐกิจทำให้หนุ่มสาวในเกาหลีใต้ที่อยากได้งานดี ๆ ทำ ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องสอบไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะสอบได้

ลิม ฮยุก-จู อายุ 25 ปี ย้ายมาอาศัยอยู่คนเดียวในห้องอพาร์ตเมนต์ขนาดเพียง 30 ตรม. แต่ค่าเช่าสูงถึงเดือนละกว่า 13,000 บาทในย่านมหาวิทยาลัยของกรุงโซล แถมผนังยังบางจนต้องคอยระวังไม่ส่งเสียงรบกวนห้องข้าง ๆ ที่ก็ใช้ชีวิตไม่ต่างจากตัวเธอ นั่นคือทุ่มเทเวลาวันละ 15 ชั่วโมงในการอ่านหนังสือเพื่อเตรียมตัวสอบ !

ลิมเรียนจบด้วยคะแนนอันดับหนึ่งและมุ่งหวังอยากเป็นนักบัญชี พ่อแม่เธอสนับสนุนความคิดนี้ซึ่งเป็นความคิดทั่วไปของผู้คนในเกาหลี นั่นคือ หลังเรียนจบก็เตรียมตัวสอบเข้าทำงานในหน่วยงานของรัฐหรือในบริษัทใหญ่ ๆ อย่างเช่น ซัมซุง ฮุนได หรือ LG สำหรับระยะเวลาในการเตรียมตัวสอบนั้น บางคนเป็นเดือน บางคนเป็นปี หรือหลายปี "การสอบทั้งหมดต้องอาศัยการท่องจำ บางครั้งฉันก็สงสัยว่าวิธีนี้มันดีจริงหรือเปล่า" ลิมพูดถึงระบบสังคมที่เธอเองก็ปฏิเสธไม่ได้

 

เช่นเดียวกับเบค อึย-ฮุน ตอนนี้เขาอายุ 28 แล้วแต่ยังตกงานอยู่ เขาทุ่มเทเตรียมตัวสอบเข้าทำงานในหน่วยงานของรัฐมาสองปี สอบตกมาแล้วสองครั้ง แต่ก็จะสอบต่อไปจนกว่าจะสอบได้ "เศรษฐกิจแย่ การแข่งขันก็เลยสูงเพราะไม่มีงานดี ๆ ให้เลือกมากนัก จริง ๆ แล้วไม่มีใครอยากใช้เวลาเกือบทั้งหมดหมกตัวอยู่แต่ในห้องแคบ ๆ เอาแต่อ่านหนังสือเตรียมตัวสอบหรอก แต่เราไม่มีทางเลือก"

 

เศรษฐกิจเกาหลีใต้ชะลอตัวและดูเหมือนหนุ่มสาวคือคนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ประมาณร้อยละ 11.3 ของหนุ่มสาวอายุ 15-28 ปีไม่มีงานทำหรือเกือบ 3 เท่าของอัตราว่างงานทั้งหมด

หนุ่มสาวในเกาหลีใต้จำนวนมากฝันอยากได้งานมั่นคงที่ทำได้ไปจนเกษียณ แต่เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว ตำแหน่งงานที่เปิดรับตามองค์กรใหญ่ ๆ จึงไม่อาจรองรับบัณฑิตจบใหม่ได้ทั้งหมด ผลคือจะต้องมีการสอบแข่งขันกัน และดูเหมือนการแข่งขันทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างเช่น ฮุนไดจัดสอบ 6 ชั่วโมงเพื่อคัดคนเข้าทำงาน

 

แม้มุน แจ-อินจะชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้เมื่อเดือนพฤษภาคมส่วนหนึ่งเพราะให้คำมั่นว่าจะเพิ่มตำแหน่งงานในภาครัฐ แต่นักเศรษฐศาสตร์บางคนไม่คิดว่าเรื่องนี้ทำได้ง่าย ๆ

 

คิม กวาง-ซุก นักเศรษฐศาสตร์และศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฮันยาง มองว่า "การสร้างงานควรเป็นหน้าที่ของภาคเอกชนไม่ใช่รัฐบาล ถึงรัฐบาลจะทำได้ แต่ก็เป็นเพียงระยะสั้น สิ่งที่รัฐบาลควรทำจริง ๆ คือให้ความช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลาง ปฏิรูปธุรกิจขนาดใหญ่ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการลงทุนมากขึ้นในระยะยาว"

 

 


ที่มา NPR

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
เช็คเบอร์มือถือ คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์