ประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วโลก‘อีโบลา’คุมไม่อยู่‘ฮู’เร่งหยุดไวรัสมรณะ

ประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วโลก‘อีโบลา’คุมไม่อยู่‘ฮู’เร่งหยุดไวรัสมรณะ



ประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วโลก ‘อีโบลา’คุมไม่อยู่ ‘ฮู’เร่งหยุดไวรัสมรณะ ชี้ไม่ให้ระบาดข้ามปท. สธ.ให้เป็นโรคอันตราย

องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศหวังหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 930 คนใน 4 ประเทศแอฟริกาตะวันตกสำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันศุกร์ว่า องค์การอนามัยโลก มีมติเห็นชอบให้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ กรณีการแพร่ระบาดอย่างเลวร้ายของเชื้อไวรัสอีโบลา ซึ่งจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องหามาตรการตอบโต้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสมรณะชนิดนี้

โดยองค์การอนามัยโลกออกประกาศว่า การแพร่ระบาดของอีโบลาซึ่งเป็นครั้งใหญ่และยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ ถือเป็นความวิตกกังวลมากพอที่จะประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ หลังจากก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลกเคยประกาศลักษณะเดียวกันมาแล้ว เมื่อครั้งมีการระบาดของไวรัสไข้หวัดนกในปี 2552 และโปลิโอในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

“การระบาดของอีโบลาในแอฟริกาตะวันตกถือเป็นเหตุการณ์พิเศษ และขณะนี้ได้ยกระดับเป็นความเสี่ยงด้านสุขภาพระหว่างประเทศแล้ว หลังมีความเป็นไปได้ว่าการระบาดครั้งนี้อาจคุมไม่อยู่ จนเกิดการแพร่ระบาดระหว่างประเทศ เฉพาะใน 4 ประเทศแอฟริกาตะวันตกมีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 930 คน การร่วมมือกันระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหา จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อหยุดยั้งการระบาดของอีโบลาข้ามประเทศ”ประกาศขององค์การอนามัยโลกระบุ

ด้านดร.มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกกล่าวว่า การประกาศดังกล่าวถือเป็นข้อเรียกร้องอย่างชัดเจนให้นานาชาติร่วมมือกันอย่างแข็งขันในการต่อสู้กับอีโบลา เนื่องจากประเทศที่ได้รับผลกระทบในปัจจุบัน ไม่มีขีดความสามารถในการบริหารจัดการการแพร่ระบาดของอีโบลาในระดับนี้ได้ จึงขอเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศให้การสนับสนุนอย่างเร่งด่วนเท่าที่จะเป็นไปได้

ส่วนสถานการณ์การรับมือล่าสุด ของประเทศต่างๆที่มีการระบาดนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเทศเซียร์ราลีโอน หนึ่งในประเทศแอฟริกาตะวันตกที่กำลังเผชิญปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาระบาด ส่งทหารและตำรวจไปปิดล้อมเขตเคเนมาและเขตไคลาฮุน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาดแล้วตั้งแต่เมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น หลังไลบีเรียประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 90 วัน เพื่อจำกัดการแพร่ระบาด เจ้าหน้าที่จะเดินเท้าลาดตระเวนอย่างเข้มงวดเพื่อสกัดไม่ให้มีผู้คนเล็ดลอดเข้าออกได้ มาตรการปิดล้อมขั้นต้นจะดำเนินไปเป็นเวลา 50 วัน

ขณะที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐสั่งให้ครอบครัวของเจ้าหน้าที่สถานทูตในไลบีเรียเดินทางกลับประเทศ พร้อมประกาศเตือนไม่ให้พลเมืองชาวอเมริกันเดินทางไปยังไลบีเรีย ขณะที่เจ้าหน้าที่สหรัฐจะยังอยู่ปฏิบัติหน้าที่ที่สถานทูต และจะส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยเหลือในการควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสมรณะดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ที่จะส่งไปกรุงมันโรเวีย เมืองหลวงของไลบีเรีย มีทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันโรคจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) และเจ้าหน้าที่จากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐ (ยูเอสเอด)

ในส่วนของประเทศไทย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)เปิดเผยถึงมาตรการรับมือเชื้อไวรัสอีโบลาระบาดหนักในหลายประเทศขณะนี้ว่า จะเพิ่มมาตรการด้านกฎหมาย ในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เพื่อประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านสาธารณสุข โดยเพิ่มประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตราย ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2523 เป็นโรคที่ 6 จากเดิมที่มี 5 โรคได้แก่ อหิวาตกโรค ไข้ทรพิษ ไข้เหลือง กาฬโรค และโรคซาร์ส หรือโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขดำเนินการป้องกันควบคุมโรคได้อย่างเข้มข้นทั้งในคนและสัตว์ 

อีกทั้ง ให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง บริเวณท่าอากาศยาน ท่าเรือ หรือท่าขนส่งทางบกได้ตรวจร่างกายผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศอย่างละเอียดโดยจะเสนอขออนุมัติที่ประชุมฝ่ายสังคมและจิตวิทยาในสัปดาห์หน้า เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับทันที

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์