สื่อนอกมอง ถ้าคลินตันชนะ เมียนมาได้-ไทยเสีย

สื่อนอกมอง ถ้าคลินตันชนะ เมียนมาได้-ไทยเสีย

เซาท์ ไชน่า มอร์นิง โพสต์มอง หากคลินตันเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมียนมาจะได้ประโยชน์มากขึ้น ขณะที่ไทยอาจได้ประโยชน์น้อยลง

สำนักข่าวเซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ของฮ่องกงลงบทวิเคราะห์เกี่ยวกับอนาคตของเมียนมาและไทย หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ โดยมองว่า หากนางฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนพรรคเดโมแครตชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ เมียนมาจะได้ประโยชน์มากขึ้น ขณะที่ไทยอาจได้ประโยชน์น้อยลง

ที่ผ่านมา นายโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯไม่เคยพูดถึงนโยบาย อะไรเกี่ยวกับประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่นางคลินตันมีความสัมพันธ์อันดีกับนางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา ซึ่งน่าจะทำให้นางคลินตันรู้สึกสบายใจที่จะพูดคุยเจรจากับนางซูจีมากกว่า รัฐบาลทหารของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเมียนมาเริ่มเว้นระยะห่างออกจากจีนทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมืองและการทหาร เพื่อเปิดทางให้สหรัฐฯและชาติตะวันตกเข้าไปสานสัมพันธ์กับเมียนมามากขึ้น

ใน Hard Choices หนังสือบันทึกความจำของนางคลินตันจำนวน 656 หน้า นางคลินตันได้พูดถึงการเดินทางไปหลายประเทศทั่วโลกขณะที่เธอเป็นรัฐมนตรีว่า การกระทรวงต่างประเทศ โดยมี 1 บทเต็มที่พูดถึงเมียนมา ซึ่งเป็นประเทศเดียวในเอเชีย-แปซิฟิกที่นางคลินตันพูดถึง ซึ่งเธอบอกว่า ในขณะที่อาหรับสปริงเริ่มไม่รุ่งโรจน์อีกต่อไป เมียนมากำลังทำให้โลกมีความหวังว่าจะมีการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลเผด็จการไปยังประชาธิปไตยอย่างสันติ และแม้จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านของเมียนมา แต่เมียนมาก็ถือว่าเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่สำคัญของนางคลินตัน เพราะเธอเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศคนแรกของสหรัฐฯในรอบหลายทศวรรษที่เยือนเมียนมา

ด้วยเหตุนี้ จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า นางคลินตันจะหันมาให้ความสำคัญกับเมียนมามากขึ้น โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ เพื่อสานต่อนโยบายของนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่บอกว่า เศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เมียนมาพัฒนาประเทศต่อไป นอกจากนี้ สหรัฐฯอาจเริ่มสานสัมพันธ์ทางการทหารกับเมียนมามากขึ้น หลังเมียนมามาสังเกตการณ์การฝึกคอบร้าโกลด์ระหว่างสหรัฐฯกับไทยมาตั้งแต่ปี 2013 แล้ว

ในทางกลับกัน สหรัฐฯจำเป็นต้องจำกัดความร่วมมือกับไทย หลังการรัฐประหารปี 2014 เพราะกฎหมายสหรัฐฯระบุให้ตัดงบช่วยเหลือประเทศที่โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการ เลือกตั้ง และระงับโปรแกรมฝึกตำรวจร่วมกัน รวมถึงลดระยะเวลาซ้อมรบร่วมของกองทัพเรือของทั้งสองประเทศ ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็ไม่อาจละเลยไทยไปได้ ในฐานะมหามิตรเก่าแก่นับตั้งแต่สงครามอินโดจีน และสหรัฐฯก็มองว่า ไทยเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นทางการทหาร จึงยังมีการจัดการฝึกคอบร้าโกลด์

อย่างไรก็ตาม ช่วงหลังมานี้ ไทยพยายามไปผูกสัมพันธ์ทางการทหารกับจีนมากขึ้น โดยกองทัพเรือของทั้งประเทศเพิ่งซ้อมรบร่วมกันไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ไทยก็เพิ่งห้ามนายโจชัว หว่อง เลขาธิการพรรคเดโมซิสโต และแกนนำเรียกร้องประชาธิปไตยของฮ่องกงเข้าประเทศไทย โดยอ้างว่าจีนยื่นคำร้องมา จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลทหารไทยเริ่มตีตัวออกห่างจากสหรัฐฯ และหันไปซบอกจีน โดยเฉพาะในช่วงเปราะบางเช่นนี้ ที่กองทัพยังคงกุมอำนาจทางการเมืองที่สำคัญที่สุดเอาไว้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัฐบาลของนางคลินตันก็อาจไม่รุ่งโรจน์นักเมื่อเทียบกับเมียนมา

 

ขอบคุณ voicetv.co.th


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์