นักปฏิวัติวงการแพทย์ผู้อื้อฉาว จากพันล้านสู่ศูนย์เหรียญ

นักปฏิวัติวงการแพทย์ผู้อื้อฉาว จากพันล้านสู่ศูนย์เหรียญ

ในช่วงเวลานี้ คงไม่มีผู้บริหารสตาร์ทอัพคนไหนที่จะครอบครองพื้นที่สื่อได้เท่ากับ เอลิซาเบธ โฮล์มส แห่งบริษัท เทรานอส (Theranos) อีกแล้ว

แต่น่าเสียดายที่พื้นสื่อของ โฮล์มส ไม่ใช่ข่าวที่น่าพิสมัยนัก เกือบร้อยทั้งร้อยเป็นข่าวเกี่ยวกับการเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลของเทรานอส และรายได้ที่หดหายจากระดับพันล้านจนกลายเป็นศูนย์ในเวลาไม่นานนัก

ย้อนกลับไปเมื่อ 13 ปีก่อน โฮล์มส จัดตั้งเทรานอสด้วยวัยเพียง 19 ปี ภายในเวลา 1 ปี ระดมทุนได้ถึง 6.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อมาภายในเวลา 3 ปี สามารถระดมทุนได้กว่า 44 ล้านเหรียญสหรัฐ เทรานอสเนื้อหอมสุดติดต่อกันนานหลายปี แถม โฮล์มส เองก็ถูกมองว่าเป็นอนาคตไอคอนแห่งวงการในระดับเดียวกับ สตีฟ จ็อบส์ เลยทีเดียว

จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้วนี่เอง บริษัทมีมูลค่าตลาดสูงถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่แล้วในปีเดียวกันนั้นเอง ทุกสิ่งที่สร้างมาก็เริ่มที่จะสั่นคลอน และสุดท้ายบริษัทถูกสื่อขุดคุ้ยความจริงจนแทบไม่เหลือชิ้นดี

กลายเป็นว่าสตาร์ทอัพในตำนานกับนายหญิงยอดอัจฉริยะ ถูกมองว่าเป็นเรื่องอื้อฉาวที่สุดเรื่องหนึ่งในวงการ แม้ว่าเจ้าตัวจะยืนยันในความบริสุทธิ์ ประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ และบริการก็ตาม

เรื่องราวของ โฮล์มส กับ เทรานอส จึงไม่ได้เกี่ยวกับความสำเร็จอันสวยหรูของวงการสตาร์ทอัพเท่านั้น แต่ยังฉายให้เห็นด้านมืด ความผิดพลาด และความล้มเหลวที่บรรดาเจเนอเรชั่นใหม่ที่แสวงหาความร่ำรวยแบบสำเร็จรูป จะต้องพึงสังวรให้ดี

เรื่องนี้อาจไม่ใช่ตัวอย่างของความสำเร็จสวยหรูอย่างที่เราเคยนำเสนอมาตลอด แต่เป็นตัวอย่างของความผิดพลาดและการจัดการเรื่องอื้อฉาวที่บริษัทเกิดใหม่สามารถใช้เป็นกรณีศึกษาได้

เพราะหากมุ่งแต่ความสำเร็จโดยไม่ประเมินโอกาสตกม้าตาย ก็เท่ากับทำธุรกิจด้วยความเลินเล่อ

ตำนานสตาร์ทอัพอันอื้อฉาวนี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อตอนที่ โฮล์มส อายุได้ 19 ปี ตอนนั้นเธอยังเป็นนักศึกษาด้านวิศวกรรมเคมี ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด แต่ยังไม่ทันจะจบการศึกษาเธอก็ชิงลาออกเสียก่อน ตามสูตรไอคอนในวงการที่มักเรียนไม่จบมหาวิทยาลัย แต่มักสร้างกิจการที่ยิ่งใหญ่ด้วยตัวเองหลังจากนั้น

โฮล์มส ก็เช่นกัน เธอมีความคิดที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ที่ครอบคลุม เป็นระบบสาธารณสุขแบบสามัญประจำบ้านที่ทุกคนเข้าถึงได้ รวมถึงลดความซับซ้อนและราคาที่แสนแพงของการเข้าถึงการรักษาในสหรัฐ

แต่แรงบันดาลใจจริงๆ เกิดจากประสบการณ์ในวัยเด็กที่เธอต้องสูญเสียญาติสนิทด้วยโรคมะเร็ง ทำให้เธอเฝ้าคิดคำนึงอยู่เสมอว่า หากเราสามารถรู้ล่วงหน้าว่ากำลังป่วยด้วยโรคอะไร คงจะไม่ต้องสูญเสียคนที่รักไปก่อนกาล

นี่คือความฝันที่สตาร์ทอัพส่วนใหญ่อยากจะทำกัน นั่นคือการสร้างธุรกิจที่ทำกำไรไปพร้อมๆ กับรับผิดชอบต่อสังคม หรือหากมีฝันที่สูงส่งสักหน่อยก็อาจฝันถึงการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น โฮล์มส ก็เช่นกัน เธอหวังที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบสาธารณสุขอันเป็นปัจจัยสำคัญของชีวิตมนุษย์ แต่คนส่วนใหญ่ในโลกมักเข้าไม่ถึงปัจจัยนี้

แนวคิดของ โฮล์มส ได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์ที่ปรึกษาผู้เห็นดีเห็นงามกับการลาออกจากมหาวิทยาลัยไปตั้งบริษัท แถมตัวเขาเองยังกระโจนมาร่วมงานด้วยอีกต่างหาก อาจารย์คนนี้เผยว่า ในเวลานั้นเขามองเห็นแววตาของ โฮล์มส สะท้อนแววตาของ บิล เกตส์ หรือคนอย่าง สตีฟ จ็อบส์ หรือ ไมเคิล เดล ซึ่งล้วนแต่เป็นไอคอนผู้สร้างตัวเองจากศูนย์สู่แสนล้าน

คำยกยอนี้ไม่เกินความจริงเท่าไหร่นัก ในขณะที่เทรานอสกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองความโหยหาในบริการสาธารณสุขแบบครบวงจรแต่ไม่ซับซ้อนของชาวสหรัฐ ทำให้เทรานอสเริ่มได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ บวกกับบริษัทและนายทุนต่างเห็นแวว คอยอัดฉีดเงินทุนไม่หยุดหย่อน

บริการของเทรานอสคือการบริการตรวจสุขภาพแบบทันใจ ไม่ต้องผ่านกระบวนการของโรงพยาบาลหรือแล็บตรวจ ซึ่งคิวยาวและกระโดดไปกระโดดมา โฮล์มส จัดการขมวดกระบวนการที่เยิ่นเย้อนี้ด้วยการตรวจแบบวันสต็อปผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่า Edison วิธีการก็ไม่ซับซ้อนไปกว่าการใช้เข็มเจาะเลือด หรือ Fingerstick แทนที่จะดึงเลือดออกมาจากเข็มทีละมากๆ แล้วนำไปเข้าแล็บเทคนิคการแพทย์เพื่อตรวจอีกรอบก่อนจะไปถึงมือหมอ เพื่อลงรายละเอียดตามอาการที่แล็บตรวจพบอีกครั้ง

วิธีการนี้ช่วยย่นระยะเวลาในการตรวจโรคของชาวสหรัฐ และทำให้เธอได้รับการยกย่องเป็นผู้ปฏิวัติวงการแพทย์เลยทีเดียว พร้อมกับที่เทรานอสสั่งสมทุนและรายได้มากมายจนถูกประเมินว่ามีมูลค่าตลาดระดับกว่าพันล้าน

มุมมืดของเทรานอส

แต่แล้วภาพลักษณ์นักปฏิวัติวงการแพทย์เริ่มสั่นคลอนลง เมื่อเดือน ต.ค. ปี 2015 หนังสือพิมพ์เดอะ วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานอ้างข้อมูลจากอดีตพนักงานของเทรานอสว่า Edison อาจให้ผลการตรวจสอบที่ผิดพลาด นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์หลายรายยังกังขากับความน่าเชื่อถือของระบบนี้ ยังไม่นับผู้ใช้บริการอีกจำนวนหนึ่งที่รับรู้ถึงความไม่ชอบมาพากล และร้องเรียนไปยังสำนักงานอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐ จนกระทั่งมีการตรวจสอบอย่างจริงจัง ที่น่าตกใจก็คือ มีการเปิดเผยว่าที่จริงแล้วหลายๆ กรณี เทรานอสไม่ได้ใช้เครื่อง Edison ตรวจแต่อย่างใด แต่ใช้วิธีการตรวจแบบเดิมที่แพทย์ทั้งหลายใช้กัน ทั้งยังใช้เครื่องตรวจของบริษัทอื่นอีกด้วย ทำให้ข้อครหาต่อบริษัทและผู้ก่อตั้งเริ่มรุนแรงขึ้น แม้เจ้าตัวจะปฏิเสธรายงานข่าวและข้อกล่าวหาทั้งหมดก็ตาม

การตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเทรานอสยังมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเผยดีลที่ไม่โปร่งใส การอ้างตัวเลขทางธุรกิจที่เลื่อนลอย ไปจนถึงการตรวจสอบประสิทธิภาพของ Edison อย่างจริงจังจนพบข้อบกพร่องที่ชัดเจนขึ้น โดยสื่อและหน่วยงานของรัฐตามกัดเรื่องนี้ไม่ยอมปล่อยตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว จนกระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมานี้เอง สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้ตั้งคณะกรรมาธิการสอบสวนกรณีเทรานอสอย่างเป็นทางการ และได้ส่งจดหมายไปยัง โฮล์มส เพื่อขอคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ภายในวันที่ 14 ก.ค.

นี่เป็นเพียงกระบวนการทางการเมืองเท่านั้น ในด้านธุรกิจ โฮล์มส ยังไม่ได้รับผลกระทบไม่น้อย จากเมื่อปี 2014 เธอได้รับการยกย่องจากนิตยสาร ฟอร์บส์ว่าเป็นเศรษฐินีหญิงสร้างตัวที่อายุน้อยที่สุดในสหรัฐ ด้วยมูลค่าทรัพย์สินถึง 4,700 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ตอนนี้ฟอร์บส์ประเมินทรัพย์สินของเธอใหม่และพบว่ามันมีค่าเท่ากับศูนย์ เนื่องจากเธอถือหุ้นสามัญของบริษัท จึงเป็นรายสุดท้ายที่จะได้รับเงินปันผลหากกิจการล้มลง ซึ่งในเวลานี้สถานการณ์มันช่างหมิ่นเหม่เหลือเกิน

แต่หากเธอสามารถพิสูจน์ตัวเองได้ คำว่า "นักปฏิวัติวงการแพทย์" จะไม่ใช้คำที่ยกยอเกินจริงอีกต่อไป



ที่มา : Posttoday.com

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์