การโจมตีที่กรุงปารีสเป็นการก่อการร้ายรูปแบบใหม่หรือไม่

การโจมตีที่กรุงปารีสเป็นการก่อการร้ายรูปแบบใหม่หรือไม่

เหตุโจมตีที่เกิดขึ้นในกรุงปารีสเมื่อคืนวันศุกร์ (13 พ.ย.) ทำให้คนฝรั่งเศสจำนวนมากยังคงรู้สึกขวัญผวา ทั้งนี้เพราะเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงและสะเทือนขวัญ จัดเป็นเหตุก่อการร้ายที่ร้ายแรงที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่เหตุระเบิดรถไฟที่กรุงมาดริดเมื่อปี 2547
เหตุที่เกิดขึ้นซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 129 ราย ทำให้มีการตั้งคำถามมากมายถึงความสามารถในการรับมือและป้องกันเหตุการณ์ร้ายแรงในลักษณะนี้ของหน่วยความมั่นคงในชาติตะวันตก ลอว์เรนซ์ ปีเตอร์ ผู้สื่อข่าวบีบีซี รวบรวมประเด็นที่น่าสนใจจากการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง
ทำไมกรุงปารีสถึงตกเป็นเป้า ?
นับตั้งแต่เหตุโจมตีที่สำนักพิมพ์นิตยสารชาร์ลี เอ็บโดและซูเปอร์มาร์เก็ตชาวยิว เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 17 ราย ได้มีการยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยเพิ่มขึ้นทั่วกรุงปารีส หนึ่งในมือปืนที่ก่อเหตุที่ซูเปอร์มาร์เก็ตชาวยิวอ้างว่า ลงมือก่อเหตุในนามของกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส)
เป็นเวลาหลายปีแล้วที่เคหะชุมชนสำหรับผู้ยากจนชานกรุงปารีสและตามเมืองอีกหลายแห่ง ได้กลายเป็นสถานที่บ่มเพาะให้คนมุสลิมรุ่นหนุ่มสาวไม่น้อยที่อาศัยอยู่ในชุมชนดังกล่าว มีแนวคิดสุดโต่ง ทั้งนี้เพราะพวกเขาไม่มีงานทำและถูกละเลยจากคนกลุ่มใหญ่ของสังคม มีคนฝรั่งเศสมุสลิมกว่า 500 คน ได้เดินทางไปเข้ากับกลุ่มสุดโต่งที่รบอยู่ในซีเรียกับอิรัก ซึ่งจัดได้ว่ามากกว่าประเทศใด ๆ ในโลกตะวันตก ขณะเดียวกันเครื่องบินรบฝรั่งเศสก็ยังคงโจมตีที่มั่นของนักรบไอเอสในซีเรียและอิรักอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพราะฝรั่งเศสเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรที่มีสหรัฐฯ เป็นแกนนำในการปราบกลุ่มไอเอส
จุดที่ตกเป็นเป้าการโจมตีบ่งบอกอะไรได้บ้าง ?
กลุ่มผู้ลงมือในครั้งนี้เลือกโจมตีเป้าหมายอ่อน เพราะต้องการให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุด เป็นที่ชัดเจนว่าสนามกีฬาสต๊าดเดอฟรองซ์ เป็นสถานที่ที่มีโอกาสตกเป็นเป้าอยู่แล้ว แต่การที่กลุ่มผู้ก่อเหตุเลือกโจมตีบาร์และภัตตาคารเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ ฝรั่งเศสไม่เคยเจอกับความรุนแรงในลักษณะนี้มาก่อนที่ คนร้ายสามารถลงมือก่อเหตุได้ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน
การโจมตีที่ศูนย์ศิลปะบาตาคล็อง ซึ่งมีเป้าหมายทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตมากที่สุดนั้น มีนักวิจารณ์ในฝรั่งเศสบางคนชี้ว่า ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ที่กลุ่มติดอาวุธเชเชนบุกยึดโรงละครแห่งหนึ่งในกรุงมอสโกเมื่อปี 2545 ปฏิบัติการช่วยตัวประกันของรัสเซียทำให้มีตัวประกันเสียชีวิต 130 ราย และนักรบเชเชนเสียชีวิต 40 ราย
การโจมตีที่กรุงปารีส มีเป้าหมายโจมตีคนชั้นกลางที่อาศัยอยู่ในกรุงปารีส ไม่ใช่โจมตีนักท่องเที่ยว ในประเด็นนี้ชาแชงค์ โจชิ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายความมั่นคงที่ Royal United Services Institute ในกรุงลอนดอนชี้ว่า นี่เป็นการโจมตีเป้าหมายด้านวัฒนธรรม ผู้ก่อเหตุจงใจเลือกโจมตีจุดที่เป็นสถานที่บันเทิงและพักผ่อนหย่อนใจ และเลือกสถานที่ที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก โดยทางกลุ่มไอเอสอ้างว่าสิ่งบันเทิงดังกล่าวเป็นเรื่องนอกรีตและผิดศีลธรรม
การก่อการร้ายในครั้งนี้คล้ายคลึงกับกรณีที่เคยเกิดขึ้นในเมืองอื่นมากน้อยแค่ไหน ?
โจชิชี้ว่าคล้ายกับเหตุที่เกิดขึ้นในเมืองมุมไบเมื่อปี 2551 ที่กลุ่มติดอาวุธที่อยู่ในปากีสถานเป็นผู้ลงมือ โดยในครั้งนั้นเกิดระเบิดและมีการกราดยิงหลายจุดในเมืองมุมไบ
สำหรับในยุโรป เหตุการณ์ในกรุงปารีสทำให้นึกถึงเหตุระเบิดรถไฟที่กรุงมาดริดเมื่อปี 2547 และระเบิดในกรุงลอนดอนเมื่อปี 2548 ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์เป็นฝีมือของกลุ่มที่นิยมความสุดโต่ง
ที่ผ่านมา มีหลายครั้งที่ชาวยิวตกเป็นเป้าการโจมตี เช่น ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตชาวยิว ในกรุงปารีสเมื่อต้นปีนี้ และเมื่อปีก่อนที่พิพิธภัณฑ์ยิวในกรุงบรัสเซลส์ การโจมตีชาวยิวโดยกลุ่มติดอาวุธสุดโต่ง ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับความเป็นปรปักษ์ระหว่างอาหรับกับอิสราเอล
อย่างไรก็ตามสำหรับเหตุการณ์ที่กรุงปารีสในครั้งนี้ ดูเหมือนว่าคนร้ายไม่ได้จัดอันดับความสำคัญในการเลือกเป้าหมาย แต่ที่ชัดเจนคือให้มีการสูญเสียมากที่สุด
ปีเตอร์ แวน โอสเตเยน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกลุ่มติดอาวุธสุดโต่งชี้ว่า ดูเหมือนว่ากลุ่มไอเอสได้ส่งสัญญาณให้เห็นว่าสามารถโจมตีที่ไหนก็ได้ เวลาไหนก็ได้ และเราป้องกันไม่ได้ การโจมตีแบบกรณีที่กรุงปารีส ต้องใช้การเตรียมการและซ้อมแผนเป็นเดือน
เป็นความผิดพลาดของหน่วยความมั่นคงหรือไม่ ?
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนายโจชิกับนายแวน โอสเตเยน ไม่ได้คิดเช่นนั้น โดยนายโจชิชี้ว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงไม่สามารถดูแลเป้าหมายอ่อนได้ทุกที่ อย่างไรก็ตามในตอนนี้จะต้องมาหาวิธีรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ประสานงานและแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ, ควบคุมข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งหาทางไม่ให้คนในสังคมรู้สึกหวาดหวั่นมากไปกว่านี้
ส่วนนายแวน โอสเตเยนเห็นว่า ฝรั่งเศสทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ อย่างไรก็ตามตอนนี้ ยังเร็วเกินไปที่จะชี้นิ้วไปที่หน่วยความมั่นคง และบอกว่าพวกเขาน่าจะป้องกันได้ คำถามที่สำคัญคือเหตุการณ์ครั้งนี้มาจาก กลุ่มไอเอสที่สามารถวางแผนการโจมตีมาจากนอกประเทศ หรือว่าเป็นฝีมือของคนมุสลิมในฝรั่งเศสเองที่ได้แรงบันดาลใจมาจากกลุ่มไอเอส
‪#‎ParisAttacks‬


ขอขอบคุณ บีบีซีไทย - BBC Thai

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์