สังหารหมู่ปมพลิกเกม ตุรกีผนึกสหรัฐรุกซีเรีย ลุยIS

"สังหารหมู่"ปมพลิกเกม ตุรกีผนึกสหรัฐรุกซีเรีย ลุยIS

ตุรกีรองรับผู้อพยพที่ทะลักหนีภัยสงครามกลางเมืองซีเรียมาตั้งแต่ปี 2554 ในฐานะเป็นประเทศเพื่อนบ้าน

 แม้ตุรกีแสดงตัวอย่างเปิดเผยว่าสนับสนุนกลุ่มโค่นอำนาจ ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ผู้นำซีเรีย แต่ไม่เคยสู้รบโดยตรงกับไอเอส เพราะมีนโยบายว่าจะสู้ก็ต่อเมื่อนายอัสซาดจะพ้นไปจากตำแหน่งผู้นำแล้ว

 

 

 


 กระทั่งเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ยุทธศาสตร์จึงต้องเปลี่ยนตาม

 หลังเกิดเหตุก่อการร้ายสังหารหมู่สะเทือนขวัญ 32 ศพ บาดเจ็บ 104 รายในศูนย์วัฒนธรรมเมืองซูรุก เขตแดนของตุรกี ติดเมือง โคบาเนของซีเรีย เมื่อ 20 ก.ค.2558 ตุรกีไม่อาจเป็นฝ่ายตั้งรับได้อีก

 เหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นจุดหักเหด้านยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาลตุรกีครั้งสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อผลสอบสวนเบื้องต้นพบเบาะแสเป็นฝีมือกองกำลังรัฐอิสลาม หรือไอเอส

 การตอบโต้เปิดฉากในวันที่ 24 ก.ค. ตุรกีรุกเข้าไปโจมตีในซีเรียเป็นครั้งแรก เมื่อส่งเครื่องบินรบรุ่นเอฟ-16 จำนวน 3 ลำออกจากฐานทัพอากาศดิยาร์บาคีร์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ รุกไปยังจังหวัดคิลิส ใกล้หมู่บ้านฮาวาร์และเปิดฉากถล่มยิงแหล่งซ่องสุมของกองกำลัง ไอเอสด้วยขีปนาวุธนำร่อง



ตามมาด้วยแผนเปิดให้กองทัพสหรัฐอเมริกาใช้ฐานทัพในตุรกีสำหรับการบุกถล่มฐานที่มั่นของไอเอสในซีเรีย

 แต่การกระโดดเข้าร่วมศึกของตุรกีไม่ได้มี "ชั้นเดียว" เพราะต้องเผชิญกับความสัมพันธ์อันซับซ้อนของกองกำลังติดอาวุธกลุ่มต่างๆ ของชาวเคิร์ดที่จ้องจะแยกตัวอยู่ทุกขณะ

 เห็นได้จากเหตุการณ์ที่ตำรวจตุรกี 2 นายถูกลอบสังหารจากกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดในวันที่ 23 ก.ค. อ้างว่าตำรวจทั้งสองเป็นสาย ให้ไอเอสที่พัวพันกับเหตุสังหารหมู่กลุ่มสนับสนุนชาวเคิร์ด 32 ศพ ในเมืองซูรุก พร้อมกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลตุรกีอาจร่วมมือกับกองกำลังไอเอสเล่นงานคนในชุมชนชาวเคิร์ดฝั่งภาคตะวันออกเฉียงใต้

 มีกลุ่มประชาชนชาวเคิร์ดลุกฮือประท้วงรัฐบาลในหลายเมือง รวมถึงนครอิสตันบูล

 ดังนั้น รัฐบาลตุรกีจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากแถลงปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับกองกำลังไอเอสแล้วยังต้องกระโดดเข้าไปร่วมศึกปราบปรามไอเอสด้วย พร้อมกับการรับมือกองกำลังแบ่งแยกดินแดนชาวเคิร์ดในเวลาเดียวกัน

 ดังที่ปรากฏว่า ในช่วงที่ส่งทัพฟ้าลุยไอเอสในซีเรียยังต้องส่งตำรวจจู่โจมพรรคคนงาน เคอร์ดิสถาน หรือพีเคเค ในนครอิสตันบูล และพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศกวาดจับผู้ต้องสงสัยไปด้วย 297 ราย ในวันที่ 24 ก.ค.

 สําหรับศึกรับมือกองกำลังไอเอสเป็นหัวข้อการเจรจาระหว่างรัฐบาลตุรกีกับรัฐบาลสหรัฐมานานหลายเดือนแล้ว

 แต่การขยับปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์อย่างชัดเจนและรวดเร็วฉับพลันของประธานาธิบดีเรเซ็ป เทย์ยิป เออร์โดกัน ผู้นำตุรกีในครั้งนี้ มีขึ้นหลังการหารือทางโทรศัพท์กับ ประธานา ธิบดีบารัก โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกา หลังเกิดเหตุเขย่าขวัญที่ไอเอสข้ามแดนเข้ามาก่อการ ถึงในถิ่นตุรกี

 รัฐบาลตุรกีจึงเห็นชอบอนุมัติให้กองทัพนานาชาติ แนวร่วมปราบปรามกองกำลังไอเอส นำโดยสหรัฐ ใช้ฐานกองทัพอากาศ "อินเซอร์ลิก" ในประเทศเป็นที่ตั้งกองบัญชาการปราบปรามไอเอสได้

 หนังสือพิมพ์เฮอร์ริเยตของตุรกีรายงานว่า ตามข้อตกลงกับสหรัฐดังกล่าวจะนำไปสู่การจัดตั้ง "เขตห้ามบิน" ตามแนวพื้นที่ชายแดนของตุรกีติดซีเรีย กินพื้นที่ 90 กิโลเมตร

 เขตห้ามบินหรือโนฟลายโซนจะส่งผลให้เกิดพื้นที่คุ้มครองบนภาคพื้นดินขยายเข้าไป ในประเทศซีเรีย 50 กิโลเมตร เพื่อป้องกัน การแทรกซึมจากกองกำลังไอเอสและนักรบจิฮัดกลุ่มอื่นๆ ที่แฝงตัวเข้ามากับกลุ่มผู้อพยพกลุ่มใหม่

 "เครื่องบินรบของสหรัฐอเมริกาที่ติดตั้งระเบิดและขีปนาวุธจะใช้ฐานทัพอากาศอินเซอร์ลิกได้ สำหรับการโจมตีไอเอส แต่เครื่องบินรบของรัฐบาลซีเรียไม่มีสิทธิ์จะเข้ามาในเขตห้ามบิน หากรุกล้ำเข้ามาก็โอกาสจะตกเป็นเป้าหมายการโจมตีในทันที" ข้อตกลงของรัฐบาลตุรกีและสหรัฐระบุ

 สำหรับความเป็นไปได้ที่อเมริกาจะส่งกองกำลังภาคพื้นดินเข้ามาในตุรกียังไม่มีในตอนนี้ สหรัฐเพียงจะส่งบุคลากรทางทหาร 50 นายเข้ามาสนับสนุนด้านเทคนิค

 "แม้จะยังไม่กำหนดเวลาแน่นอน แต่ฐานทัพอากาศอินเซอร์ลิกจะเปิดให้กองกำลังสหรัฐอเมริกาใช้โจมตีซีเรียใน เร็ววันนี้" หนังสือพิมพ์เฮอร์ริเยตระบุ

 ในขณะที่นายอาเหม็ต ดาวูโทลู นายกรัฐมนตรีตุรกีประกาศว่า ปฏิบัติการปราบปรามไอเอสและนักรบเคิร์ดเริ่มต้นแล้วในวันนี้และจะดำเนินต่อไป

สังหารหมู่ปมพลิกเกม ตุรกีผนึกสหรัฐรุกซีเรีย ลุยIS


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์