โลกจับตาสกอตแลนด์ ลงประชามติแยกเอกราช เสียงสูสีโหวตพ้นอังกฤษ

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 18 กันยายน ว่า หน่วยเลือกตั้ง 2,608 แห่ง ใน 32 เขต ของเขตปกครองสกอตแลนด์ เปิดให้ประชาชนทยอยไปใช้สิทธิ์ลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์ 

เรื่องการแยกประเทศเป็นอิสระจากสหราชอาณาจักร
 
โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 07.00 น.-22.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ตรงกับเวลา 13.00-04.00 น.วันศุกร์ตามเวลาในประเทศไทย และจะประกาศผลการลงประชามติอย่างเป็นทางการในวันศุกร์ที่ 19 กันยายน ซึ่งผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงครั้งนี้คิดเป็น 97% ของผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ จากจำนวนประชากร 4,285,323 ราย และคาดการณ์กันว่าน่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์สูงถึงร้อยละ 80

สำหรับคุณสมบัติผู้มีสิทธิ์ออกเสียงนั้น เป็นประชาชนซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในสก็อตแลนด์ จนถึงวันลงประชามติ ไม่ว่าจะเป็นชาวสก็อต หรือถือสัญชาติประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) หากมีอายุไม่ต่ำกว่า16 ปี สามารถออกเสียงได้หากลงทะเบียนขอรับสิทธิ์จากรัฐบาลทันตามกำหนด

โดยผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนครั้งนี้ จะตอบคำถามที่อยู่บนบัตรลงคะแนนที่ระบุว่า สก็อตแลนด์ควรเป็นประเทศเอกราชใช่หรือไม่
 
เพียงแต่เลือกคำตอบว่า ใช่ หมายถึงสนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราช หรือ ไม่ใช่ หมายถึง ต้องการอยู่ร่วมการปกครองกับอังกฤษต่อไป
ส่วนการนับคะแนนจะมีขึ้น หลังเสร็จสิ้นการหย่อนบัตร หน่วยเลือกตั้งแต่ละแห่งจะนับคะแนนทันที แล้วแจ้งผลมารวมกันที่สำนักงานคณะกรรมการจัดการเลือกตั้งสกอตแลนด์ ก่อนมีพิธีประกาศผลอย่างเป็นทางการที่รอยัล ไฮแลนด์ เซ็นเตอร์ ชานกรุงเอดินเบอระ ช่วงเช้าวันศุกร์ตามเวลาท้องถิ่น ทั้งนี้ สำนักงานการเลือกตั้งแห่งสก็อแลนด์เผยว่า ผลนับคะแนนน่าจะประกาศได้ช่วงเวลา 6.30-7.30 น.ตามเวลาท้องถิ่นหรือประมาณ 11.00 น.วันที่ 19 กันยายนตามเวลาในไทย


โลกจับตาสกอตแลนด์ ลงประชามติแยกเอกราช เสียงสูสีโหวตพ้นอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม มีผลสำรวจความคิดเห็นชาวสก็อตช่วงโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันลงประชามติของสำนักวิจัยชื่อดัง 7 แห่ง

อาทิ ยูกอฟ เซอร์เวชั่น พาเนลเบส โอพิเนียม และไอซีเอ็ม บ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันคือ ฝ่ายที่ต้องการให้สก็อตแลนด์ยังอยู่รวมกับอังกฤษต่อไปมีคะแนนนำฝ่ายสนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชเล็กน้อย โดยมีคะแนนอยู่ที่ร้อยละ 51-53 ส่วนฝ่ายสนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชมีคะแนนตามหลังอยู่ที่ร้อยละ 48-49 อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของนักวิเคราะห์การเมืองเห็นว่า กลุ่มผู้ชี้ขาดที่แท้จริงคือ ชาวสก็อตแลนด์ประมาณ 600,000 คน หรือร้อยละ 8-14 ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงที่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่า ควรให้สก็อตแลนด์อยู่หรือแยกตัวจากสหราชอาณาจักร

ก่อนหน้าการลงประชามติ นายอเล็กซ์ ซัลมอนด์ รัฐมนตรีที่ 1 ของสก็อตแลนด์

ซึ่งผลักดันให้เกิดการลงประชามติครั้งนี้ และเป็นแกนนำรณรงค์แยกเอกราชปราศรัยเมื่อวันพุธ เรียกร้องให้ชาวสก็อตออกมาใช้สิทธิ์ลงคะแนนด้วยการเลือกแยกเอกราชให้มากที่สุด เพื่อที่อนาคตของสก็อตแลนด์จะอยู่ในมือของชาวสก็อต

ส่วนท่าทีของนานาชาติต่างจับตาผลการลงประชามติของสก็อตแลนด์ครั้งนี้อย่างใจจดจ่อ

โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ผู้นำอังกฤษ ยอมรับว่ากังวลกับการลงประชามติครั้งนี้มาก

แต่หวังว่าท้ายที่สุดสก็อตแลนด์จะยังคงอยู่ร่วมกันเป็นสหราชอาณาจักรต่อไป หลังอยู่ด้วยกันมาแล้ว 307 ปี ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีคาเมรอน เดินทางไปสก็อตแลนด์ถึง 2 ครั้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อวิงวอนชาวสก็อตให้อยู่ในสหราชอาณาจักรร่วมกันต่อไป

ด้านประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐ โพสต์ผ่านทวิตเตอร์ระบุ ต้องการเห็นสหราชอาณาจักรยังคงเป็นคู่หูที่เข้มแข็งเป็นปึกแผ่น แม้จะเป็นการตัดสินใจของชาวสก็อตแลนด์ก็ตาม โดยเจ้าหน้าที่กลาโหมสหรัฐแสดงความกังวลต่อปัญหายุ่งยากซับซ้อนในการดำเนินความสัมพันธ์กับสก็อตแลนด์ที่แยกตัวเป็นเอกราช เนื่องจากเขตปกครองสก็อตแลนด์ เป็นฐานต่อเรือบรรทุกเครื่องบินและเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์แห่งเดียวของสหราชอาณาจักร ขณะที่ผู้แทนทูตของอเมริกาเกรงว่า การแตกสลายของสหราชอาณาจักรอาจทำให้เศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายอ่อนแอลง และเป็นไปได้ว่าสหราชอาณาจักรอาจออกจากการเป็นสมาชิกอียู ส่งผลให้อิทธิพลของสหรัฐฯภายในกลุ่มสกุลเงินเดียวนี้ถดถอยไปด้วย

เช่นเดียวกับ นายกรัฐมนตรีมาริอาโน่ ราฮอยของสเปน ที่คัดค้านการแยกตัวของสก็อตแลนด์

โดยเตือนว่าการแยกตัวของสก็อตแลนด์จะทำลายรากฐานของยุโรป ทำให้เกิดเศรษฐกิจถดถอยในยุโรป ขณะเดียวกัน สเปนกำลังมีปัญหาแคว้นคาตาโลเนียต้องการจัดลงประชามติแยกตัวเหมือนสก็อตแลนด์

ขณะที่นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลของเยอรมนี แสดงความกังวลว่าการแยกตัวเป็นเอกราชของสก็อตแลนด์ อาจทำให้เกิดกระแสแบ่งแยกดินแดนในประเทศอื่นของอียู เช่น สเปน


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์