เด็กไทยกับภัยจากอินเทอร์เน็ต

เด็กไทยกับภัยจากอินเทอร์เน็ต

อินเทอร์เน็ตเป็นคลังแห่งข้อมูลและเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารและรับส่งข้อมูลข่าวสารต่างๆ ทั่วโลก การใช้อินเทอร์เน็ตนั้นก่อประโยชน์มหาศาล แต่ก็แอบแฝงไปด้วยภัยอันตรายต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเข้าถึงข้อมูลที่ไม่เหมาะสำหรับเด็ก   ค่านิยมผิด ๆ ในเรื่องเพศ การล่อลวงในวงสนทนา นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์ที่เต็มไปด้วยเรื่องลามก และเรื่องรุนแรงต่าง ๆ ที่ยากต่อการที่จะควบคุมตรวจสอบได้ อาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตเหล่านี้เป็นภัยที่อันตรายมากพอที่จะกำหนดเส้นทางอนาคตของเด็กได้ ดังนั้น ก่อนที่เด็กไทยเราจะตกเป็นเหยื่อของภัยเหล่านี้ พ่อแม่ ผู้ที่อยู่ใกล้ชิด จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจภัยอันตรายต่าง ๆ อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกยุคใหม่นี้ เพื่อที่จะรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และปรับตัวเอง
ตั้งรับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างชาญฉลาด เพื่อช่วยปกป้องและนำพาให้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้องไม่ไขว้เขวออก


 อินเทอร์เน็ตอันตรายต่อเด็กอย่างไร


               เมื่อพูดถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งานของอินเทอร์เน็ตโดยไม่มีการจำกัดขอบเขต หรือดูแลการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็ก  ก็จะมองเห็นปัญหาอย่างมากมาย  ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบอื่นได้เช่น ภาพความรุนแรงระหว่างเด็กกับอินเทอร์เน็ตในบ้านเราอาจจะไม่รุนแรงเท่ากับประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีทั้งหลาย หากแต่พิจารณาตามศักยภาพและตัวเลขการใช้อินเทอร์เน็ต หรือการเปิดบริการอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ที่เติบโตขึ้นเรื่อยมา ทำให้หลายคนอดเป็นห่วงอันตรายจากอินเทอร์เน็ตที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก
ในหลายรูปแบบ


อย่างแรก คือภาพหรือข้อมูลที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก เช่น  เว็บลามก  เว็บที่สนับสนุนให้ก่อความรุนแรง หรือ เว็บที่กล่าวถึงยาเสพย์ติด หรือเว็บที่สอนในสิ่งที่ไม่ดี เช่น สอนทำระเบิดขวด เว็บเหล่านี้อาจส่งผลต่อความคิดของเด็ก และส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กในอนาคต (Suler.1999)


เช่นกรณีของเด็กในยุโรปเจอเวบไซต์ที่เกี่ยวกับการทำระเบิดขวดแล้วลองทำด้วยตัวเองโดยที่พ่อแม่ไม่ทราบแล้วนำไปโยนเล่น จนเกิดเป็นเหตุสลดใจ ซึ่งในที่สุดเด็กสารภาพว่านำความรู้มาจากอินเทอร์เน็ต จึงก่อให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา  เมื่อเด็กไปเจอกับเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม จึงเป็นเหมือนสะพานนำเด็กไปพบกับบุคคลที่ไม่หวังดีได้ เช่นกรณีของการเล่นแชท  เด็กอาจถูกล่อลวงจากผู้ใหญ่ที่มีความผิดปกติทางจิต หรือเป็นพวกนิยมมีเพศสัมพันธ์กับเด็กเป็นต้น


อันตรายในลำดับถัดมาพบว่า เด็กในปัจจุบันใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตมากเกินไป ซึ่งไม่เพียงส่งผลต่อสุขภาพร่างกายโดยตรงแล้ว ยังเป็นการลดความสัมพันธ์กับสังคมในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะการมีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัว เด็กจะหันไปสร้างความสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า เป็นความรู้สึกแบบฉาบฉวยและทำให้เด็กไม่กล้าสื่อสารโดยการพูด การออกกฎหมายเพื่อควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นความพยายามอย่างหนึ่งที่จะสกัดกั้นอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก ( Scherer.1997)


อย่างไรก็ตาม การตามจับกุมผู้กระทำผิดทางอินเทอร์เน็ตตามจับกุมได้ยากมาก เพราะไม่สามารถทราบได้เลยว่าคนที่เป็นเจ้าของอยู่ที่ใด และอาจใช้เซิร์ฟเวอร์จากเมืองนอกได้ การหวังพึ่งกฎหมายเพียงอย่างเดียวคงไม่อาจสกัดกั้นได้ จึงมีการออกเป็นข้อห้ามให้เด็กท่องก่อนการใช้อินเทอร์เน็ต เช่น ห้ามบอกชื่อที่อยู่หรือข้อมูลของตัวเด็กให้กับคนในแชท นอกจากขออนุญาตจากพ่อแม่ก่อนห้ามให้เบอร์บัตรเครดิต หรือเลขที่บัญชีเงินฝาก ห้ามให้พาสเวิร์ด ห้ามโต้ตอบกับข้อความหยาบคายและที่สำคัญห้ามไปพบกับคนที่นัดหมายมาจากการแชท เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องห้ามเด็กเพราะว่าเด็กส่วนใหญ่ที่ไม่เคยเล่นอินเทอร์เน็ต เชื่อว่าสิ่งที่คู่สนทนาบอกนั้นเป็นความจริง
( ศุภเดช สุทธิพงศ์คณาสัย:2537)

ความเสี่ยงบนโลกไซเบอร์(ศรีดา.2544)

ถึงแม้อินเทอร์เน็ตจะมีประโยชน์มหาศาล แต่ในทางกลับกัน ก็มีความเสี่ยงทุกครั้งเมื่อลูกหลานของท่านออนไลน์ เราควรรู้ถึงความเสี่ยงเหล่านี้แต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันลูกหลานจากภัยอินเทอร์เน็ตที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ความเสี่ยงเหล่านี้ได้แก่

เปิดรับสิ่งที่ไม่เหมาะสม เมื่อเข้าไปในบางเว็บไซต์ มีความเป็นไปได้ที่จะเด็กจะเจอกับสิ่งที่ไม่เหมาะสมโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น โฆษณาชวนเชื่อ ข้อความรุนแรงในเว็บบอร์ด เรื่องเกี่ยวกับเซ็กซ์ภาพอนาจาร ลิงค์ไปยังเว็บไซต์ลามก รวมไปถึงกิจกรรมมอมเมาเยาวชน และสิ่งผิดกฎหมายทั้งหลายการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และการทำร้ายร่างกาย เมื่อเกิดการพูดคุย หรือการแชท (Chat) เกิดขึ้น เด็กอาจจะถูกล่อหลอกให้บอกข้อมูลส่วนตัวทั้งของตนเอง และของครอบครัว ซึ่งมิจฉาชีพจะนำไปหาผลประโยชน์ และอาจก่อความเสียหายร้ายแรงได้ หรืออีกในกรณี เด็กอาจจะถูกชักชวนให้ไปนัดพบกับเพื่อนในอินเทอร์เน็ต อาจเกิดการล่อลวงไปทำมิดีมิร้ายได้ และเกิดอาชญากรรมตามมาถ้อยคำรุนแรง มักจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กเข้าไปแชทกับคนแปลกหน้า หรือเมื่อเด็กเข้าไปอ่านข้อความ
และแสดงความคิดเห็นในเวบบอร์ด เวบบอร์ดส่วนใหญ่จะมีระบบกรองคำหยาบอยู่แล้ว แต่ก็มีเวบบอร์ดอีกไม่น้อยเช่นกัน ที่สามารถพิมพ์คำหยาบลงไปได้ ส่วนใหญ่เว็บบอร์ดที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้จะแฝงตัวอยู่ในพวกเว็บไซต์ใต้ดิน หรือเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความรุนแรง และอนาจารโดยเฉพาะ ซึ่งเด็กอาจจะพลัดหลงเข้าไปในเว็บไซต์ประเภทนี้ได้
สิ่งผิดกฎหมาย และการเงิน มีความเป็นไปได้ที่เด็กอาจจะถูกเกลี้ยกล่อมให้บอกหมายเลขบัตรเครดิตของผู้ปกครอง ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้ หรือแม้กระทั่งถูกชักจูงให้เข้าขบวนการมิจฉาชีพ ทำสิ่งผิดกฎหมาย โดยใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือ

ยาเสพติด ความสามารถในการหาข้อมูลเกือบทุกอย่างได้จากอินเทอร์เน็ต มันง่ายจนหลายคนคิดไม่ถึงเลยทีเดียว เช่น เด็กสามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่ตนสนใจได้โดยง่าย   หรือหาอาวุธต่างๆ ได้ บางเว็บไซต์จะมีเนื้อหาสนับสนุนเรื่องยาเสพติด บุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งชักชวนเด็กให้คล้อยตามได้ง่าย

การพนัน เว็บไซต์เกี่ยวกับการพนันมีมากมาย ทั้งที่เล่นเพื่อความสนุก และเล่นพนันด้วยเงินจริง เว็บไซต์ส่วนใหญ่จะชักชวนให้ผู้เล่นใช้บัตรเครดิต หรือเช็ค ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้เกิดการโจรกรรมหมายเลขบัตรเครดิตได้

ความเสี่ยงทั้งหลายที่ต้องเผชิญโดยไม่ได้ต้องการ เราสามารถป้องกันได้ เพียงดูแล ให้คำแนะนำในการเล่นอินเทอร์เน็ตอย่างถูกวิธีให้แก่บุตรหลาน แต่ไม่ควรห้ามเด็กไม่ให้ใช้อินเทอร์เน็ตเลย เพราะอินเทอร์เน็ตเป็นแหล่งการเรียนรู้สำหรับเด็ก ถ้าเราสอนให้พวกเค้ารู้จักใช้อย่างถูกวิธีทั้งรวมไปถึงการฝึกฝนให้เด็ก ๆ รู้จัดจัดสรรเวลาในด้านต่าง ให้เป็นประโยชน์มองเห็นคุณค่าของเวลาที่หมดไปโดยสูญเปล่าว่า เวลาเหล่านี้สามารถนำไปพัฒนาตนเองให้เก่งได้เพื่อสร้างอนาคตที่ดีให้กับตนเอง


โลกยุคอินเทอร์เน็ต พ่อแม่จะปกป้องลูกอย่างไร( ศรีดา ตันทะอธิพานิช.2544)
พ่อแม่ยุคใหม่ก็จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมในปัจจุบัน ดังนี้


1. เป็นผู้ที่เรียนรู้อยู่เสมอ  พ่อแม่จำเป็นที่จะต้องรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างทันต่อเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในยุคใหม่ หรือการปรับเปลี่ยนในด้านความคิด ค่านิยมหรือกระแสต่าง ๆ ที่เข้ามาในสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจส่งผลกระทบมาสู่ลูกของเราได้ ดังนั้นเองพ่อแม่จึงควรที่จะเป็นผู้ที่เรียนรู้อยู่เสมอ


2. ติดตามข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ อยู่เสมอ   เพื่อที่จะสามารถ "รู้เท่าทัน" สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อที่จะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมลูกให้ใช้ประโยชน์ จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้มากที่สุดและเพื่อที่จะสามารถปกป้องสิ่งต่าง ๆ ที่อาจจะเข้ามาทำร้ายหรือเป็นอันตรายต่อลูกของเราโดยพ่อแม่สามารถที่จะติดตามข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับอันตรายในรูปแบบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นรวมถึงแนวทางในการป้องกันแก้ไข ได้จากหลายช่องทางเช่นจากสื่อโทรทัศน์วิทยุ หนังสือพิมพ์วารสารต่าง ๆ อินเทอร์เน็ต รวมถึงการรับข่าวสารข้อมูลจากบุคคลที่รู้จัก ครูอาจารย์ หรือจากข่าวของทางโรงเรียนที่ลูกกำลังศึกษาอยู่เช่น ถ้าพ่อแม่มีความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต
ย่อมสามารถตรวจสอบว่าลูกใช้คอมพิวเตอร์อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดหรือไม่สามารถแนะนำลูกในการค้นหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ สามารถติดตั้งโปรแกรมเพื่อตรวจสอบและกลั่นกรองเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมไม่ให้เข้ามาขณะที่ลูกใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ สามารถรู้เท่าทันและป้องกันลูกจากภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นทางอินเทอร์เน็ตได้


3. เรียนรู้ที่จะรู้จักลูกของตนเอง  วัยรุ่นมีพัฒนาการทางด้านร่างกาย และอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรุนแรง ขึ้นลงได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งความต้องการในด้านต่าง ๆ ของลูกวัยรุ่น เช่น ความอยากรู้อยากลอง อยากได้อยากมีในสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการยอมรับในหมู่เพื่อน ความต้องการที่จะเป็นที่สนใจในหมู่เพื่อนต่างเพศ ซึ่งธรรมชาติของวัยรุ่นนี้เองที่ทำให้ตกเป็นเหยื่อในการล่อลวงต่าง ๆ ได้โดยง่าย พ่อแม่จำเป็นต้องมีความเข้าใจ รู้จักลูกของตนมากยิ่งขึ้นในพฤติกรรมต่าง ๆ ที่แสดงออกมาและสามารถที่จะป้องกันปัญหาและช่วยเหลือลูกได้อย่างทันท่วงที โดยพ่อแม่สามารถที่จะเรียนรู้ได้จากหนังสือที่อธิบายเกี่ยวกับการพัฒนาการของวัยรุ่น หรือขอคำปรึกษาจากผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในด้านการศึกษาพฤติกรรมของเด็กวัยรุ่นโดยตรง เพื่อช่วยให้พ่อแม่รู้เท่าทันและสามารถแนะนำลูกในสิ่งที่เป็นประโยชน์ พร้อมกับสามารถปกป้องลูกของตนจากภัยอันตรายต่าง ๆ ที่แฝงเข้ามาได้


4. เป็นผู้ที่ปลูกฝังความคิดและทัศนคติที่ถูกต้องให้แก่ลูก
ก่อนที่พ่อแม่จะตัดสินใจเชื่อในสิ่งใด หรือรับเอาความคิดใด ๆ เข้ามา
ต้องคิดให้รอบคอบอย่างสมเหตุสมผลก่อน ในสิ่งที่ได้รับมาว่าเป็นสิ่งดี
เป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมแล้วจริงหรือไม่เพื่อสอนลูกให้เป็นคนที่มีเหตุผลและรู้จักที่จะคิด
อย่างมีวิจารณญาณในการแยกแยะที่จะเลือกรับในสิ่งที่ดี และปฏิเสธในสิ่งที่ไม่ดี
เพื่อไม่ให้ถูกกลืนไปกับกระแสค่านิยมต่าง ๆ ที่หลั่งไหลเข้ามาได้โดยง่าย อาทิ
ค่านิยมในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันก่อนแต่งงาน เราอาจคิดว่าเป็นวิธีการที่ดีมีประโยชน์เพราะ
เป็นการทดลองใช้ชีวิตคู่ร่วมกันก่อน หากเข้ากันไม่ได้ทั้งคู่สามารถจะเลิกรากันไปได้โดยง่ายไม่ต้องมีพันธะอะไรต่อกัน แต่ถ้าหากเราลองคิดอย่างมีวิจารณญาณแล้วจะพบว่าการอยู่ร่วมกันก่อนแต่งไม่ได้ก่อให้เกิดความสุขใด ๆ เลยเพราะเป็นการอยู่ร่วมกันด้วยความหวาดระแวงไม่ไว้วางใจ มีแต่ความวิตกกังวลกลัวว่าอีกฝ่ายจะจากไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ายังอยู่ในวัยเรียนทั้งคู่ และถ้าพลาดเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นมา อนาคตในการเรียนต่อก็มีอันต้องสูญหายไปอย่างแน่นอน


5. เป็นผู้ที่ให้ความรักและความเอาใจใส่ห่วงใยลูกอยู่เสมอ  โดยทั่วไปเมื่อลูกมีพัฒนาการก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ปัญหาที่พบมักจะเป็นในเรื่องของการเกิดช่องว่างในความรักความเข้าใจและช่องว่างในความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากการรับอิทธิพลต่าง ๆ ในโลกที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างมากมายก่อให้เกิดความแตกต่างอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้นระหว่างวิถีชีวิตวัยรุ่นยุคก่อน กับวิถีชีวิตของเด็กวัยรุ่นในสมัยนี้ ซึ่งความแตกต่างอย่างมากนี้เองอาจส่งผลให้ช่องว่างในความเข้าใจระหว่างพ่อแม่และลูกวัยรุ่นที่มักเป็นปัญหาที่สะสมมาอยู่ก่อนแล้วถูกทำให้ขยายห่างมากยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้นเองเพื่อการลดช่องว่างที่เกิดขึ้นพ่อแม่จึงควรที่จะทำความเข้าใจในตัวลูกให้มาก


6. มีเวลาให้กับลูกอย่างเฉพาะเจาะจง พ่อแม่จำเป็นต้องมีเวลาใกล้ชิดลูกอยู่เสมอ ในการพูดคุย การปรึกษาหารือ ให้ลูกรู้สึกว่าตนเองเป็นคนพิเศษของพ่อแม่ โดยตระหนักว่าแม้ว่าลูกจะเติบโตเป็นวัยรุ่นแต่เขายังคงมีความต้องการในความรัก ความห่วงใยเอาใจใส่และการชี้ทิศนำทางจากพ่อแม่อยู่เสมอ พ่อแม่จึงควรมีเวลาให้กับลูกอย่างเฉพาะเจาะจง


7. เปิดใจในการรับฟังความคิดเห็นของลูก เนื่องจากลูกในวัยรุ่นมีความสามารถที่จะเข้าใจในการใช้เหตุผลต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดีในระดับหนึ่ง ดังนั้นในการพูดคุยกับลูก พ่อแม่ไม่ควรใช้อารมณ์ความรู้สึกเท่านั้น เช่น การเอะอะโวยวายอาละวาด แสดงอาการโกรธเกรี้ยวไม่พอใจในการกระทำของลูก เพราะการแสดงออกเช่นนี้จะทำให้ลูกสูญเสียความไว้วางใจที่ลูกเคยมีในตัวของพ่อแม่ เพราะคิดว่าพ่อแม่ไม่รักและไม่เข้าใจ เช่น ในกรณีที่ลูกมีรสนิยมการแต่งตัวที่ดูแปลกประหลาด ตามแฟชั่น ใส่เสื้อเกาะอก หรือการย้อมผมสีแปลก ๆ เป็นต้น
สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือ พูดคุยกับลูกด้วยความเข้าใจในสภาพที่เขาเป็น ให้ลูกสามารถที่จะสัมผัสในความรักและความห่วงใยที่พ่อแม่มีต่อลูก แล้วจึงค่อยทำการชี้แจงในสิ่งที่ลูกทำพร้อมกับฝึกให้ลูกเป็นคนที่รู้จักคิดอย่างมีเหตุผล เพื่อลูกจะได้สามารถแยกแยะที่จะเลือกรับในสิ่งที่ดีและปฏิเสธในสิ่งที่ไม่ดี เพื่อไม่ให้ถูกกลืนไปกับกระแสค่านิยมต่าง ๆ ที่หลั่งไหลเข้ามาได้โดยง่าย เช่น ชี้แจงให้ลูกฟังว่าการใส่เสื้อผ้าสายเดี่ยวนั้นทำให้เสี่ยงต่ออันตรายจากภัยข่มขืนได้ หรือการแต่งตัวที่แปลกประหลาดผิดสถานที่ผิดกาลเทศะอาจทำให้สูญเสียความน่าเชื่อถือและสูญเสียโอกาสที่จะเจริญก้าวหน้าต่อไปในอนาคต

8. หมั่นสังเกตและเอาใจใส่ในเรื่องการใช้เวลาของลูกอยู่เสมอ    พ่อแม่ไม่ควรที่จะปล่อยปละละเลยลูกในการใช้เวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยที่พ่อแม่ไม่รู้ว่าลูกของตนกำลังทำอะไรอยู่หรือออกไปที่ไหนกับใคร โดยอาจให้เหตุผลว่าลูกโตแล้วหรือไม่อยากที่จะละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของลูก เนื่องจากเด็กเป็นวัยที่ถูกล่อลวงได้โดยง่าย ซึ่งอาจเกิดอันตรายที่เราไม่คาดคิดกับลูกได้ เช่น ภัยจากยาเสพติด การถูกล่อลวงทางเพศ ถึงแม้ลูกจะอยู่แต่ในบ้านไม่ได้ออกไปที่ไหนก็ตามแต่ภัยอันตรายต่าง ๆ เหล่านี้สามารถที่จะแฝงมาในรูปแบบที่เราคิดไม่ถึงได้เช่น ทางอินเทอร์เน็ต สื่อวิทยุ โทรทัศน์ หรือแม้กระทั่งหนังสือการ์ตูนบางประเภทที่แฝงไว้ด้วยเรื่องของเพศและความรุนแรงต่าง ๆ ดังนั้นเองพ่อแม่จึงควรที่จะหมั่นสังเกตและเอาใจใส่ในเรื่องการใช้เวลาของลูกอยู่เสมออย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะสามารถป้องกันอันตรายต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับลูก
ได้อย่างทันท่วงที
จากบทบาทของความเป็นพ่อแม่ที่แต่เดิมนับว่าหนักหนาสาหัสอยู่แล้ว เมื่อเข้าสู่ในยุคสมัยใหม่พ่อแม่ต้องแสดงบทบาทที่หนักและเหน็ดเหนื่อยกว่าเดิมอีกหลายเท่า ไม่ว่าจะต้องพัฒนาตัวเองเป็นผู้ที่กระตือรือร้นในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ การที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการคิดอย่างรอบคอบและมีวิจารณญาณมากยิ่งขึ้นในการรับข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ การที่ต้องเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์และมองการณ์ไกลวางแผนอนาคตเผื่อให้ลูก หรือการที่จะต้องเป็นผู้ที่มีความรักความอดทนและเข้าใจจิตใจภายในของลูกอยู่เสมอ(สุพัตรา สุภาพ.2545)


สิ่งที่พ่อแม่ต้องทำทั้งหมดนี้ เพื่อที่จะสามารถสร้างชีวิตของลูกให้เติบโตขึ้นมาได้อย่างประสบความสำเร็จในโลกยุคใหม่นี้ได้ และเพื่อที่จะปกป้องดูแลและป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ ไม่ให้เข้ามาทำร้ายลูกได้นั่นเอง


ด้วยเหตุนี้ ในสังคมปัจจุบัน เราจำเป็นต้องให้เด็กได้คุ้นเคยกับเทคโนโลยีใหม่ๆ และในขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวัง   การเข้าถึงข้อมูลออนไลน์ของพวกเขา ด้วยอินเทอร์เน็ตเป็นโลกที่เปี่ยมไปด้วยความเป็นไปได้ ทำให้เราสามารถขยายขอบเขตที่ครั้งหนึ่งเคยจำกัดออกไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ   ซึ่งหากจะว่าไปแล้ว ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา อินเทอร์เน็ตได้กลายมาเป็นช่องทางที่สำคัญที่สุดช่องทางหนึ่ง สิ่งใดที่ไม่ปรากฏบนอินเทอร์เน็ต เราจะรู้สึกราวกับว่าสิ่งนั้นไม่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม พึงระลึกไว้เสมอว่าอินเทอร์เน็ตเป็นโลกแห่งภยันตรายที่ผู้ให้การศึกษาและสังคม โดยทั่วไปที่ต้องตระหนักเป็นพิเศษ


อ้างอิง

-  ศรีดา ตันทะอธิพานิช. ท่องอินเตอร์เน็ตอย่างปลอดภัยและได้ประโยชน์ : ข้อคิดสำหรับผู้ปกครองและ
                                 เยาวชน พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพมหานคร ด่านสุทธาการพิมพ์ จำกัด, 2544.

- ศุภเดช สุทธิพงศ์คณาสัย. เปิดโปงภัยมืดบนอินเตอร์เน็ต กรุงเทพมหานคร สำนักพิมพ์ใบลาน, 2537

- สุพัตรา สุภาพ. วัยรุ่นกับพฤติกรรมรุนแรงยุคโลกาภิวัฒน์ สังคมไทย : มุมมองนักสังคมวิทยา ภาควิชา
                       สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คระรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2545

- สุพัตรา สุภาพ. ศีลธรรมกับเพศศึกษาในวัยรุ่น : อาชญาวิทยาและงานยุติธรรมแบบสังคม ภาควิชา
                       สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คระรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2545

-Scherer, K.(1997). College life online : Healthy and unhealthy internet use.J.College Stud.
                             Dev.38(6) : 655-665

-Suler,J.R.(1999). To get whatyou need : Healthy and pathological internet use.
                           Cyberpsychol.Behav.2(5): 355-393


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์