ทีวีรุมตอมเด็กโย่ง สธ.พร้อมช่วยรักษา

"หัวใจต้องทำงานหนักกว่าปกติ"

ทีวีรุมตอมเด็กโย่ง สธ.พร้อมช่วยรักษา


รายการทีวีรุมตอม"เด็กโย่ง" ด.ญ.วัย 14 ปี สูงถึง 207 ซ.ม. ที่อ.บ่อไร่ จ.ตราด ยกทีมไปถ่ายทำชีวิตประจำวัน รวมทั้งเชิญมาออกรายการสดด้วย เผย"เด็กโย่ง" สามารถทำอะไรได้เหมือนเพื่อนน.ร.ทั่วไป เพียงแต่จะคิดได้ช้ากว่าเท่านั้น สธ.จังหวัดเผยเป็นอาการผิดปกติของต่อมใต้สมอง หรือต่อม"พิตูอิเตรี่" ซึ่งเป็นจุดควบคุมต่อมต่างๆ ของร่างกาย ฝังอยู่ในแกนสมอง การรักษาต้องระมัดระวังอย่างมาก ที่น่าห่วงคือหัวใจ เนื่องจากรูปร่างสูงใหญ่ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักกว่าคนทั่วไป ขณะที่อธิบดีกรมการแพทย์เสนอรับตัวมาช่วยรักษา ซึ่งมีทั้งให้ยาหรือผ่าตัด แต่ต้องตรวจดูอาการอย่างละเอียดอีกครั้งก่อน

จากกรณี"ข่าวสด"นำเสนอเรื่องราวของด.ญ.มาลี ทองดี ชาวมอญอายุ 14 ปี นักเรียนชั้นป.3 โรงเรียนบ้านปะเดา อ.บ่อไร่ จ.ตราด ซึ่งเป็นเด็กที่รูปร่างใหญ่สูงถึง 207 ซ.ม. หนักกว่า 100 ก.ก. ต้องมีชีวิตอย่างลำบากเนื่องจากรูปร่างสูงใหญ่ผิดปกติ พ่อแม่ซึ่งเป็นแรงงานชาวมอญต้องหาเงินรักษาหมดไปหลายแสนบาท โดยด.ญ.มาลีสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนเด็กทั่วไป แม้จะทำอะไรเชื่องช้า รวมทั้งมีความคิดช้ากว่าเด็กปกติก็ตาม

"ทำได้ช้ากว่าเด็กอื่น"


เมื่อวันที่ 11 ต.ค. รายการเรื่องจริงผ่านจอ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี ส่งทีมงานนำโดยนายอดิศร เชียงทอง และช่างภาพเดินทางไปพบด.ญ.มาลี ทองดี เด็กหญิงโย่ง นักเรียนชั้นประถมปีที่ 3 ที่มีส่วนสูงถึง 207 ซ.ม. หนักกว่า 100 ก.ก. ที่โรงเรียนบ้านปะเดา อ.บ่อไร่ จ.ตราด เพื่อบันทึกเทปโทรทัศน์เตรียมไว้ออกอากาศ โดยได้รับความร่วมมือจากนายพรชัย เชวงสุภรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียน และนางวันนา คณาญาติ ครูประจำชั้น พร้อมทั้งครอบครัวของด.ญ.มาลีที่มาร่วมการบันทึกเทปครั้งนี้ด้วย โดยนายอดิศรให้ด.ญ.มาลียืนเทียบกับนักเรียนในโรงเรียน ขณะเข้าแถว พบว่าด.ญ.มาลีสูงกว่าเพื่อนๆ ประมาณหนึ่งเท่าตัว

จากนั้นเมื่อด.ญ.มาลีเข้าไปที่ห้องเรียนชั้นประถมปีที่ 3 พบว่าด.ญ.มาลีต้องนั่งอยู่แถวหน้าสุด และต้องใช้เก้าอี้ของผู้ใหญ่ เนื่องจากมีร่างกายที่ใหญ่และไม่สามารถนั่งเก้าอี้ของเด็กทั่วๆ ไปได้ ซึ่งเมื่อเทียบกับเด็กทั่วไปแล้ว มีความสูงมาก คุณครูประจำชั้นให้เด็กนักเรียนท่องสูตรคูณ บวกเลข 3 หลัก ปรากฏว่า ทุกคนสามารถท่องได้ และบวกเลขได้ แต่ด.ญ.มาลีจะทำได้ช้ากว่าเด็กคนอื่น อย่างไรก็ตามพฤติกรรมอื่นๆ เด็กหญิงมาลีสามารถปฏิบัติได้เหมือนกับเด็กทั่วไป

"ชอบช่วยเหลือเพื่อนๆ"


นายอดิศร สัมภาษณ์เพื่อนๆ ของด.ญ.มาลีถึงความสัมพันธ์ในห้องเรียนพบว่า เด็กหลายคน กลัวด.ญ.มาลีในช่วงแรกๆ เพราะมีรูปร่างสูงใหญ่ แต่ปัจจุบันไม่กลัวและบอกว่าด.ญ.มาลีเป็นคนใจดี และชอบเล่นกับเพื่อนๆ และไม่เคยรังแก และช่วยเหลืองานเพื่อน โดยเฉพาะด.ญ.มณทาที่เป็นญาติกันของด.ญ.มาลี

นอกจากนี้รายการเรื่องจริงผ่านจอยังให้ด.ญ.มาลีแสดงความสามารถในด้านอื่น เช่น ร้องเพลง ระบายสี และเล่นมอญซ่อนผ้า ซึ่งจะสังเกตได้ว่าด.ญ.มาลีจะเคลื่อนไหวตัวได้ช้ากว่าเด็กทั่วไป ส่วนเรื่องการระบายสี และร้องเพลง สามารถทำได้ดี จากนั้นทีมงานเดินทางไปที่บ้านพัก สัมภาษณ์ครอบครัวและด.ญ.มาลี ท่ามกลางญาติพี่น้องที่เป็นชาวมอญ มามุงดูการบันทึกเทปด้วยความสนใจ

"ส่งทีมผู้สื่อข่าวติดตามดูชีวิต"


นายอดิศรกล่าวว่า การมาติดตามข่าวครั้งนี้ทราบข่าวจากทีมงานแจ้งไป ทางทีมผู้บริหารรายการเห็นว่าน่าสนใจจึงส่งทีมงานมาพิสูจน์และดูสภาพชีวิตจริงของด.ญ.มาลี โดยจะนำเสนอเป็น 3 ตอน คือ ตอนแรกจะออกอากาศวันพฤหัสฯที่ 12 ต.ค.นี้ นำเสนอภาพช่วงอยู่ในโรงเรียน และการเรียน พร้อมพฤติกรรมทั่วไป รวมทั้งสภาพชีวิตในบ้านและปัญหาที่เกิดขึ้น ตอนที่ 2 นำเสนอการรักษาน้องมาลี ที่ไปรักษาตัวที่ร.พ.จุฬาฯ กทม. และตอนที่ 3 จะพาน้องมาลีไปเที่ยวห้างสรรพสินค้าที่อยากไป และอาจพาไปพบกับ "โยกเยก" ดาราตลกชื่อดัง ที่มีความสูงใกล้เคียงกับน้องมาลีด้วย ทั้งนี้หัวใจสำคัญคือรายการจะไม่นำเสนอในแง่มุมปมด้อยของน้องมาลีเด็ดขาด

ขณะที่น.ส.บุศรา พูลเกษม นายกอบต.ด่านชุมพล อ.บ่อไร่ จ.ตราด หลังจากทราบเรื่องเด็กสูงจากข่าว ได้เดินทางไปที่บ้านของเด็กหญิงมาลี ดวงดี เพื่อไปมอบของเพื่อช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่านอกจากรายการเรื่องจริงผ่านจอแล้ว ยังมีรายการทีวีอีกจำนวนมากที่ติดต่อเพื่อทำข่าวเรื่องของด.ญ.มาลี อาทิ รายการบ้านเลขที่ 5 และเมืองไทยวาไรตี้ ทางช่อง 5 นำด.ญ.มาลีไปออกอากาศด้วย

"ส่วนควบคุมการเจริญเติบโตผิดปกติ"


วันเดียวกันน.พ.ระวี สิริประเสริฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตราด กล่าวว่า เด็กที่มีความสูงผิดปกติจะเกิดจากต่อมพิตูอิเตรี่ หรือต่อมใต้สมอง ที่อยู่ในแกนกลางสมอง ซึ่งควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกาย หากทำงานผิดปกติจะทำให้ไม่สามารถควบคุมการเจริญเติบโตได้ จากที่ทราบสื่อมวลชนพบว่า มีเนื้องอกกดทับต่อมพิตูอิเตรี่นี้อยู่ จึงทำให้การเจริญเติบโตของเด็กมีปัญหา ซึ่งเด็กสูงมากๆ โดยทั่วไปจะพบว่าจะมีปัญหาในเรื่องของโรคหัวใจ

เนื่องจากหัวใจต้องทำงานหนัก เพื่อสูบฉีดโลหิตไปหล่อเลี้ยงตามร่างกาย หากทำงานหนักมากๆ อาจจะเกิดหัวใจวายได้ อาการที่จะพบกับเด็กที่มีความสูงมากๆ จะมีอาการหน้ามืด เนื่องจากหัวใจไม่สามารถสูบฉีดโลหิตไปหล่อเลี้ยงในสมองได้ ส่วนในเรื่องเนื้องอกที่พบในสมองในขณะนี้ หากจะมีการผ่าตัดจะเกิดปัญหาตามมาก็คือ ต่อมพิตูอิเตรี่ ซึ่งฝังตัวอยู่ในแกนกลางของสมอง เหมือนกับลูกแอปเปิ้ลที่มีแกนกลางอยู่ เมื่อมีการผ่าตัดจะต้องทะลุทะลวงเปลือกนอกและเนื้อสมองเพื่อเข้าไปสู่แกนกลาง อาจจะทำลายส่วนประสาทด้านอื่นของสมองไป ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก

"เป็นต่อมเล็กๆที่ควบคุมหลายระบบ"


นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตราด กล่าวด้วยว่า ต่อมพิตูอิเตรี่ เป็นต่อมเล็กๆ ที่ควบคุมหลายระบบ เช่น ระบบการเจริญเติบโต ต่อมไร้ท่อทั้งหมด ต่อมไทรอยด์ ระบบประสาท และต่อมหมวกไต หากต่อมพิตูอิเตรี่ ได้รับผลกระทบกระเทือนก็จะกระทบกระเทือนกับต่อมต่างๆ ทั้งหมดด้วย ซึ่งการจะดำเนินชีวิตประจำวันของ ด.ญ.มาลี ควรจะปรึกษาแพทย์ และควรจะดูแลสภาพร่างกายไม่ให้เกิดปัญหากับหัวใจ เพราะอาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ด้านน.พ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรณีด.ญ.มาลี ในทางการแพทย์เรียกว่าเป็นเด็กร่างยักษ์(Gigantism) เกิดจากโกรทฮอร์โมน(Growth Hormone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมและกระตุ้นการเจริญเติบโตของมนุษย์ให้เป็นไปตามปกติ ร่างกายจะสร้างขึ้นตลอดชีวิตเป็นฮอร์โมนที่มีความจำเป็น หากต่อมใต้สมองหรือต่อมพิตูอิเตรี่ สร้างฮอร์โมนชนิดนี้มากหรือน้อยเกินไป จะทำให้ร่างกายทำงานผิดปกติ โดยในเด็กหากผลิตมากเกินไปจะทำให้ร่างกายใหญ่โตกว่าปกติ กระดูกสามารถเพิ่มความยาวได้มาก น้ำตาลในเลือดสูง ทนต่อความเครียดได้น้อย ในเบื้องต้นอาจวินิจฉัยได้ว่ามีภาวะโกรทฮอร์โมนมากเกินไป

"เกิดจากเนื้องอกของต่อมใต้สมอง"


อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวต่อว่า ส่วนสาเหตุอาจเกิดจากเนื้องอกของต่อมใต้สมอง ซึ่งเป็นเนื้องอกธรรมดาไม่ใช่มะเร็ง นอกจากนี้ยังมีการตรวจทางการแพทย์เพิ่มเติมว่ามีภาวะผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งมักจะพบว่ามีภาวะความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันสูง ตับ และม้ามโตด้วย สำหรับการรักษาในเบื้องต้นอาจให้ยารับประทาน เพื่อทำให้ก้อนเนื้องอกเล็กลง อาการต่างๆ จะดีขึ้นได้ผลประมาณ 40% ในกรณีที่รักษาทางยาไม่ได้ผลจะทำการรักษาโดยการผ่าตัดสมองผ่านทางช่องจมูก ซึ่งการรักษาได้ผลดี โรคแทรกซ้อนต่ำ นอกจากนี้อาจรักษาโดยการฉายรังสีเพื่อให้ก้อนเนื้องอกยุบหรือมีการรรักษาร่วมกันหลายๆ วิธี ซึ่งสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ มีความพร้อมและยินดีรับผู้ป่วยมาทำการรักษาต่อไป

รศ.น.พ.จิตติวัฒน์ สุประสงค์สิน หัวหน้าสำนักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี กล่าวว่า กรณีการสูงผิดปกติเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งเนื้องอกกดทับต่อมใต้สมอง ทำให้การสร้างฮอร์โมนการเจริญเติบโตผิดปกติไป สาเหตุจากกรรมพันธุ์ และการสร้างเซลล์กระดูกไม่ยอมปิดตัว ซึ่งต้องตรวจอย่างละเอียด เพราะหากเกิดจากสาเหตุของการมีเนื้องอกกดทับสมอง จะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้หลายอย่าง

"รักษาได้ด้วยการผ่าตัดหรือฉายแสง"


รศ.น.พ.จิตติวัฒน์ กล่าวต่อว่า การระบุว่า สูงอย่างผิดปกติที่อาจเกิดจากเนื้องอกในต่อมใต้สมองนั้น ระดับความสูงอาจถึง 200 ซ.ม. หรือสามารถเทียบได้จากความสูงของพ่อแม่ โดยนำความสูงของพ่อบวก 6.5 ความสูงแม่ลบ 6.5 และนำมาบวกรวมกันหาร 2 จะได้เป็นความสูงของลูก บวก ลบ 10 ซ.ม. หากลูกมีความสูงเกินกว่านี้มาก สามารถสันนิษฐานได้ว่าอาจเกิดความผิดปกติ ซึ่งต้องระวังโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะนอกจากเนื้องอกจะกดทับบริเวณต่อมใต้สมอง ยังอาจกดทับสมองส่วนอื่น และทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ด้วย

"ลักษณะของคนที่มีความสูงผิดปกติ จะสามารถสังเกตได้ภายนอก โดยจะมีลักษณะร่างกายใหญ่ หน้าใหญ่ ผิวหยาบ และหากเนื้องอกกดทับต่อมไทรอยด์ด้วย จะมีลักษณะเชื่องช้า ความตั้งใจเรียนน้อยกว่าเด็กทั่วไป และอ้วนง่าย ส่วนใหญ่ผู้ที่มีเนื้องอกกดทับในต่อมใต้สมองจะมีอายุสั้นกว่าคนทั่วไป เพราะมีภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง" รศ.นพ.จิตติวัฒน์ กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อในเด็ก กล่าวด้วยว่าการรักษาผู้ที่มีความผิดปกติดังกล่าวต้องตรวจอย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด หากเกิดจากเนื้องอกในสมองสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดหรือฉายแสง ส่วนมากการผ่าตัดมักไม่สามารถเอาเนื้องอกออกได้หมด ทำให้การรักษาต้องทำอย่างต่อเนื่อง อาจจะผ่าตัดพร้อมกับใช้การฉายแสงรักษาเพิ่มเติมด้วย


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์