อ่างทองช้ำสุด11ปี พระครวญของบูดยันกทม.ไม่น่าห่วง

"ท่วมรุนแรงสุดรอบ 111 ปี"


อภิรักษ์ชี้ 23-25 ต.ค.ไม่น่าห่วง ผู้ว่าฯ อ่างทองระบุน้ำท่วมรุนแรงสุดในรอบ 111 ปี เจ้าของฟาร์มหมูระทม น้ำซัดหมูลอยเกลื่อนนับพัน-ตายกว่า 400 ตัว ที่สิงห์บุรีพระโอดของบริจาคหมดอายุ พระลุยน้ำรับกฐิน

ด้าน ปภ.ควักเงินทดรองราชการกว่า 222 ล้าน ช่วยผู้ประสบภัย 46 จว. สธ.สรุปยอดผู้ป่วยพุ่งเกือบ 5 แสนราย ด้าน "สมิทธ" ชี้เสียหายหมื่นล้าน

แม้ว่าสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ระดับน้ำจะลดลงแล้ว แต่ประชาชนผู้ประสบภัยยังเดือดร้อน เนื่องจากขาดแคลนอาหารและน้ำดื่ม นอกจากนี้ ยอดผู้ป่วยทั้งทางกายและป่วยทางจิตเนื่องจากความเครียดมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง

ตจว.ดีขึ้น-กทม.วิกฤติ

การระบายน้ำจากเขื่อนหลายแห่ง เมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 22 ตุลาคม นายสามารถ โชคคณาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ 5,245 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลดลงจากวันก่อน 275 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีน้ำล้นตลิ่งเข้าทุ่ง 839 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ปริมาณน้ำไหลผ่าน 4,050 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลดลง 46 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนการผันน้ำเข้าทุ่งและล้นตลิ่ง 788 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ส่วนที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ลดการระบายน้ำเหลือ 251 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้แม่น้ำป่าสักมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหก จ.พระนครศรีอยุธยา ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา 398 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลดลง 174 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา น้ำไหลผ่านเข้ากรุงเทพฯ 3,660 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้น 43 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ผลการผันน้ำเข้าทุ่งภาคกลางเป้าหมาย 1.38 ล้านไร่ 550 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้ดำเนินการแล้ว 1.18 ล้านไร่ ปริมาตรน้ำ 471 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ระดับความลึกของน้ำ 13-79 เซนติเมตร ส่วนการผันน้ำเข้าพื้นที่ส่วนพระองค์ คือ ทุ่งมะขามหย่อง กับทุ่งภูเขาทอง จ.พระนครศรีอยุธยา สระพระราม 9 จ.ปทุมธานี และทะเลสาบบ้านหมอ จ.สระบุรี มีปริมาตรกว่า 124 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายสามารถ กล่าวอีกว่า ในช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงสุดวันที่ 23-25 ตุลาคมนี้ คาดว่าระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2.20-2.30 เมตร ที่กรุงเทพฯ บริเวณสะพานพระพุทธยอดฟ้า สูงกว่าเมื่อน้ำทะเลหนุนสูงครั้งก่อน ซึ่งมีระดับน้ำสูง 2.07 เมตร ซึ่งได้ประสาน จ.ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ ให้เตรียมรับสถานการณ์แล้ว โดยแนะให้ตรวจสอบความมั่นคงและความสูงของคันกั้นน้ำ ประชาชนอาศัยบริเวณริมน้ำควรย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง

ปภ.ควักกว่า222ล.ช่วยน้ำท่วม


นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า จากที่เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 46 จังหวัด ส่งผลให้ประชาชนกว่า 3 ล้านคน ได้รับความเดือดร้อน ปภ.จ่ายเงินทดรองราชการแก่ผู้ประสบภัยในจังหวัดที่ประสบอุทกภัยเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนรวมทั้งสิ้น 222,172,009 บาท แบ่งออกเป็น ด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัย 152,945,496 บาท ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข 3,624,725 บาท ด้านปศุสัตว์ 1,455,199 บาท ด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 41,199,654 บาท ด้านการปฏิบัติงานช่วยเหลือ 9,523,935 บาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ 13,373,000 บาท

นายอนุชา กล่าวอีกว่า การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ 46 จังหวัด ได้ประสานศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 1-12 รวมทั้งสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 75 จังหวัด เข้าฟื้นฟูพื้นที่เสียหาย ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายน้ำออกวันละ 2 แสนลิตร นำเรือท้องแบน 191 ลำ ขนย้ายผู้ประสบภัยและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ติดตั้งเต็นท์ยกพื้นพักอาศัยชั่วคราว 448 หลัง บ้านพักอาศัยชั่วคราวแบบบ้านน็อคดาวน์ 10 หลัง รวมถึงรถบรรทุกทรายขนาดใหญ่ 49 คัน รถบรรทุกน้ำ 12 คัน รถผลิตน้ำดื่ม 4 คัน ซึ่งผลิตน้ำสะอาดแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัยได้กว่า 5.2 หมื่นลิตร และจัดส่งถุงยังชีพ 73,500 ชุด

การให้ความช่วยเหลือในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปภ.ได้จ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้ประสบภัยเป็นค่าจัดการศพ 2 ราย รายละ 1.5 หมื่นบาท ในกรณีได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมให้สำนักงานเขตออกหนังสือรับรองครอบครัวผู้ประสบภัยเป็นรายครอบครัว และให้ผู้นำชุมชนรับรองความเสียหายพร้อมภาพถ่าย ส่งมาให้ ปภ.ตรวจสอบเพื่อจ่ายเงินให้ครอบครัวละ 2,000 บาท โดยให้สำนักงานเขตไปมอบให้แก่ผู้ประสบภัยภายใน 1 สัปดาห์" นายอนุชา กล่าว

นอกจากนี้ ปภ.ได้เปิดรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยผู้มีจิตศรัทธาสามารถบริจาคผ่านบัญชีสมทบทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัย ธนาคารออมสิน สาขามหาดไทย เลขที่บัญชี 00-0006-20-014496-3 หรือบริจาคสิ่งของได้ที่ ปภ. อาคาร 1 โทร.0-2243-2213, 0-2243-2215, 0-2243-2195 ทั้งนี้ ผู้ประสบภัยติดต่อสายด่วน ปภ.โทร.1784 ตลอด 24 ชั่วโมง

ยอดผู้ป่วยพุ่งเกือบ5แสนราย

น.พ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมยังคงรุนแรงในหกจังหวัด ได้แก่ จ.สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นนทบุรี และปทุมธานี ส่วนการเจ็บป่วยของประชาชน จากการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปให้บริการตามจุดต่างๆ ทั้งทางบกและทางเรือทุกวัน ได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการ 130 ทีม มีประชาชนเจ็บป่วย 17,779 ราย ยอดผู้ป่วยจากน้ำท่วมสะสมจนถึงวันที่ 20 ตุลาคม มีผู้รับบริการทั้งสิ้น 472,897 ราย โรคที่พบได้แก่ โรคน้ำกัดเท้า ร้อยละ 45 ผื่นคัน ร้อยละ 14 และไข้หวัด ร้อยละ 12 ยังไม่พบมีโรคระบาดร้ายแรงแต่อย่างใด

"อภิรักษ์"ชี้23-25ต.ค.ไม่น่าห่วง


นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวหลังเดินทางไปตรวจเยี่ยมชุมชนวัดปุรณาวาส เขตทวีวัฒนา ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำในคลองมหาสวัสดิ์เอ่อล้นมานานเกือบ 1 เดือนว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ซ่อมแซมสะพานไม้เดินเข้า-ออกชุมชนให้มีความมั่นคงแข็งแรง พร้อมทั้งให้กำลังใจชาวบ้าน

นายอภิรักษ์ กล่าวถึงน้ำทะเลหนุนสูงระหว่างวันที่ 23-25 ตุลาคม ว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำเหนือที่ปล่อยลงมาเหลือ 4,448 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลดลงจากเมื่อสัปดาห์ก่อนที่สูงถึง 5,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ภาวะอย่างนี้ไม่น่าเป็นห่วง เพราะน้ำเหนือมีไม่มาก ดังนั้น ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะไม่สูงเกินกว่าแนวเขื่อนที่ กทม.ก่อสร้างไว้แน่นอน อย่างไรก็ตาม ยังมีชาวบ้านในพื้นที่ 7 เขต ได้แก่ พระนคร ดุสิต บางซื่อ บางพลัด บางกอกน้อย ตลิ่งชันและทวีวัฒนา ซึ่งอยู่แนวนอกคันกั้นน้ำที่อาจจะได้รับผลกระทบบ้าง อย่างไรก็ตาม ได้กำชับเจ้าหน้าที่เขตให้ดูแลความเรียบร้อยแนวกระสอบทรายซึ่งสูง 2.70 เมตร รวมทั้งร่วมกับมูลนิธิการกุศลตั้งโรงทานโรงเจ ที่วัดหรือโรงเรียนในชุมชนเป็นสถานที่ปรุงอาหารแจกจ่ายให้ประชาชน ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป

นายอภิรักษ์ กล่าวอีกว่า ได้หารือกับตัวแทนชุมชนว่า หลังน้ำลดจะสำรวจความเดือดร้อนเพื่อหามาตรการแก้ปัญหาระยะยาว จัดแนวพื้นที่สร้างเขื่อนกั้นน้ำให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด โดยปลายสัปดาห์หน้าจะเชิญมาประชุมอีกครั้งเพื่อหามาตรการแก้ปัญหาร่วมกัน มี 33 ชุมชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ กระจายอยู่ตามริมคลองมหาสวัสดิ์ คลองบางกอกน้อย และริมแม่น้ำเจ้าพระยา

อ่างทองรุนแรงสุดในรอบ 111 ปี

ด้าน นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ผู้ว่าฯ อ่างทอง กล่าวว่า วันที่ 22 ตุลาคม ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อยซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาเพิ่มขึ้นเพียง 2 เซนติเมตร หลังจากกรมชลประทานผันน้ำเข้าทุ่งนาจำนวน 1.38 ล้านไร่ เพื่อไม่ไห้ไหลสู่กรุงเทพฯ ส่งผลให้ จ.อ่างทอง ซึ่งเป็นจังหวัดเดียวที่ถูกน้ำท่วมทั้งจังหวัด 7 อำเภอจมอยู่ใต้น้ำ ชาวบ้าน 67 ตำบลในจำนวน 73 ตำบล ได้รับความเดือดร้อน ถนน 76 สาย โรงเรียน 24 แห่ง วัด 39 แห่ง ถือว่าเป็นความบอบช้ำในรอบ 111 ปี ทั้งนี้ การผันน้ำเข้าทุ่งระดับน้ำจะสูงประมาณ 20 เซนติเมตร แต่เหตุการณ์ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะระดับน้ำสูงตั้งแต่เอวถึงหน้าอก

นายวิบูลย์ กล่าวอีกว่า จากการประชุมที่กองบัญชาการทหารสูงสุด เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วม ได้พูดคุยสอบถามข้อมูลเรื่องน้ำกับผู้ว่าฯ นครสวรรค์ พิจิตร ชัยนาท อุทัยธานี จนทราบว่าปริมาณน้ำจากภาคเหนือยังมีอีกมาก จังหวัดจึงประกาศเตือนประชาชนอย่าไว้วางใจว่าระดับน้ำจะลดหรือเพิ่มในระหว่างวัน ให้ทำการป้องกันเพื่อไม่ชีวิตและทรัพย์สินเสียหาย

ลูกหมูนับพันลอยคอ-กว่า400ตาย


รายงานข่าวแจ้งว่า ปริมาณน้ำในทุ่งที่สูงกว่า 2 เมตร ได้ไหลย้อนกลับกระแทกกัดเซาะคันดินกั้นน้ำพังทลายหลายพื้นที่ เนื่องจากคันดินชุ่มน้ำมาเป็นเวลานานจึงอ่อนตัว ล่าสุดคันดินใน ต.ศาลเจ้าโรงทอง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง พังทลาย น้ำเข้าท่วมฟาร์มเลี้ยงหมูหลายฟาร์ม ลูกหมูอายุ 3 เดือนนับพันตัว ลอยคอไปตามกระแสน้ำและจมน้ำตายเกลื่อนกว่า 400 ตัว ส่วนพ่อแม่พันธุ์บางส่วนที่กำลังจมน้ำ เจ้าของฟาร์มประกาศขายถูกๆ ในราคาตัวละ 2,000-2,500 บาท โดยให้ผู้ต้องการซื้อขนย้ายเอง ขณะที่เจ้าของฟาร์มบางแห่งนำเรือมาขนย้ายไปครั้งละ 5-10 ตัว เช่นเดียวกับฟาร์มไก่ไข่ใน ต.บางจัก อ.วิเศษชัยชาญ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตไข่ไก่ใหญ่สุดในจังหวัด

นอกจากนี้ น้ำยังไหลเข้าท่วมวัดม่วง ต.หัวตะพาน อ.วิเศษชัยชาญ สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด พระพุทธรูปปางสมาธิใหญ่ที่สุดในโลก หน้าตักกว้าง 1 ไร่ 9 งาน 9 ตารางวา 9 ศอก 9 คืบ สูงกว่าตึก 10 ชั้น พระอุโบสถดอกบัวที่รายล้อมด้วยรูปปั้นพระเกจิอาจารย์ทั่วประเทศ แดนนรก แดนสวรรค์ วิหารแก้ว วิหารเจ้าแม่กวนอิม ถูกน้ำท่วมสูง 2 เมตร ชาวบ้านเกรงว่าน้ำอาจกัดเซาะฐานรากพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างทาทองจากเศียรลงมาจะพังทลาย

คันกั้นน้ำพัง-40ครอบครัวหนี

วันเดียวกัน ที่ จ.อ่างทอง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนหลายหมู่บ้านใน อ.เมือง อาศัยเรือเป็นพาหนะในการเดินทาง หลายครอบครัวอพยพหนีน้ำมาพักอยู่ริมถนนชั่วคราว ส่วนที่ตลาดอ่างทองซึ่งน้ำท่วมสูงต้องหยุดค้าขายแล้ว 16 วัน ขณะที่ อ.โพธิ์ทอง ฝั่งตะวันออกของถนนอ่างทอง-โพธิ์ทอง-แสวงหา ขณะนี้รับน้ำเกินพิกัด ทำให้ไหลข้ามถนนเข้าท่วมทุ่งของ อ.วิเศษชัยชาญ ซึ่งมีน้ำท่วมอยู่แล้วเพิ่มระดับสูงประมาณ 1.50 เมตร และคันกั้นน้ำสูง 2 เมตร ริมถนนชลประทาน บริเวณหลังวัดสุวรรณ หมู่ 3 ต.ตลาดกรวด อ.เมือง จ.อ่างทอง ทนแรงอัดของน้ำไม่ไหวพังเป็นแนวยาวประมาณ 10 เมตร น้ำไหลบ่าท่วมถึงถนนสายเอเชีย ทำให้พื้นที่การเกษตร 6 หมู่บ้านเสียหายเกือบ 5,000 ไร่ ชาวบ้านกว่า 40 ครอบครัวเก็บข้าวของหนีอลหม่าน

โอดของบริจาคหมดอายุ


พระลูกวัดเฉลิมมาศ อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี กล่าวว่า หลังจากเกิดน้ำท่วมเป็นเวลากว่า 1 เดือน อาหารหลักคือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง และที่น่าเป็นห่วงคือ มักจะเจอปลากระป๋องหมดอายุ ขณะนี้ทราบว่าในเขต อ.อินทร์บุรี มีวัดได้รับอาหารกระป๋องที่เน่าเสียเกือบทุกวัด เช่น วัดศรีสำราญ วัดโพธิ์ศรี วัดสาละโคดม วัดโบสถ์ ซึ่งไม่ต้องการตำหนิใคร คงได้แต่ขอร้องให้ผู้บริจาคสิ่งของให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ด้วย

พระวัดโพธิ์ลังกาลุยน้ำรับกฐิน

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานจากวัดโพธิ์ลังกา อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ว่า มีประชาชนนำกฐินสามัคคีมาทอดถวายวัด โดยมี พระครูพิพิธโพธิกิจ เจ้าอาวาส เป็นผู้รับกฐิน ซึ่งมีพระภิกษุจำพรรษารวม 10 รูป และสามเณร 1 รูป โดยวัดถูกน้ำท่วมมานานกว่า 1 เดือน ต้องใช้เรือพายสัญจร บางวันเรือของพระที่ต้องออกมาข้างนอกล่มจนเกือบจมน้ำ และสถานที่ในวัดก็ถูกน้ำท่วมทั้งหมด เมื่อเป็นเช่นนี้การนำกฐินมาทอดถวายครั้งนี้จึงลำบากมาก ขนาดพระยังต้องใช้เรือพายเข้าโบสถ์เพื่อประกอบพิธีรับกฐิน เนื่องจากบริเวณรอบโบสถ์น้ำท่วมสูง พระต้องพายเรือไปจอดหน้าโบสถ์ก่อนเดินลุยน้ำเข้าไป

กระแสน้ำซัดกำแพงวัดพัง

ขณะที่ จ.ชัยนาท แม้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะเริ่มลดลงแล้ว แต่บางพื้นที่สถานการณ์ยังคงน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะที่ตลาดคุ้งสำเภา อ.มโนรมย์ ระดับน้ำในเขตเทศบาลยังสูงประมาณ 1.5 เมตร ส่วนที่บ้านดักคะนน อ.เมือง น้ำไหลเข้าท่วมวัดดักคะนน ส่งผลให้กำแพงวัดพัง รวมทั้งกระแสน้ำยังกัดเซาะถนนสายดักคะนน-หัวหาด ขาดเป็นระยะทางยาวประมาณ 20 เมตร ศูนย์ซ่อมบำรุงทาง กรมทางหลวง ได้นำสะพานเหล็กมาให้ใช้ชั่วคราวเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน นอกจากนี้ จังหวัดได้ขอความช่วยเหลือไปยังกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 รักษาพระองค์ จ.ลพบุรี 50 นาย พร้อมด้วยองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ธรรมมูญ ชลประทานมโนรมย์ และวิทยาลัยเทคนิค มาช่วยกันกั้นกระสอบทรายทำพนังกั้นน้ำแล้ว

ชาวบางระกำยังรออาหาร


วันเดียวกัน นายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ รองผู้ว่าฯ พิษณุโลก ไปตรวจเยี่ยมที่บ้านบึงคัด หมู่ 11 ต.บางระกำ อ.บางระกำ เพื่อมอบเครื่องอุปโภคบริโภคช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ประสบอุทกภัย ตามที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้สนับสนุนงบประมาณ พร้อมสำรวจพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมในหมู่ 1 ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ หลังได้รับรายงานว่า ราษฎรเริ่มขาดแคลนอาหารและน้ำดื่มมากขึ้น แม้ระดับน้ำจะเริ่มลดลงเหลือ 1.5-2 เมตร ซึ่งจังหวัดจะได้จัดหาสิ่งของและถุงยังชีพช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

น้ำท่วมเครียดตาย1ศพ

ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า ระดับน้ำในแม่น้ำยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประชาชนที่จะไปโรงพยาบาลเสนาประสบความเดือดร้อน เนื่องจากถนนสายเจ้าเจ็ด-เสนา ซึ่งเป็นเส้นทางเดียวที่จะไปโรงพยาบาล ระดับน้ำสูงขึ้นจนปริ่มถนนแล้ว โรงพยาบาลต้องระดมกำลังวางกระสอบทรายป้องกันน้ำ

ด้าน น.พ.ทรงพล ชวาลตัณพิพัฒน์ ผอ.โรงพยาบาลเสนา กล่าวว่า ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกไปตรวจพบว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยเครียดมากถึง 403 ราย ในจำนวนนี้มีผู้มานอนโรงพยาบาล 1 ราย ส่วนใหญ่ขอยาไปรับประทาน อายุระหว่าง 30-50 ปี ล่าสุด เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 22 ตุลาคม ขณะญาตินำนายน้อง พูนทราย อายุ 58 ปี ชาวบ้านหมู่ 6 ต.ลาดน้ำเค็ม อ.ผักไห่ ซึ่งป่วยด้วยอาการเครียดจากน้ำท่วม มีอาการแน่นหน้าอก ส่งโรงพยาบาลผักไห่ แต่รถเกิดติดอยู่บนถนนสายป่าโมก-ผักไห่ ซึ่งมีน้ำท่วม ปรากฏว่าคนป่วยเสียชีวิตขณะนำส่งโรงพยาบาล

ประจวบฯรับมืออุทกภัย

นายศิวะ ศิริเสาวลักษณ์ รองผู้ว่าฯ ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวถึงความเสียหายของถนนสายบ้านฟ้าประทาน-บ้านโคนมพัฒนา ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน ซึ่งน้ำในแม่น้ำปราณบุรีเอ่อล้นกัดเซาะเสียหายเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 100 กิโลเมตรว่า เนื่องจากมีฝนตกหนักในลุ่มน้ำเพชรบุรี ส่งผลให้น้ำป่าไหลจากต้นแม่น้ำเพชรบุรีลงสู่แม่น้ำปราณบุรี ผ่านพื้นที่ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อีกทั้งกระแสน้ำยังเปลี่ยนทิศทางไหลปะทะเข้าบริเวณถนนสายดังกล่าวจนได้รับความเสียหาย ซึ่งจุดที่กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางเกิดจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2546 ทำให้กระแสน้ำเปิดร่องน้ำใหม่ขนาดใหญ่ เบื้องต้นแจ้งกรมชลประทานขุดลอกทางระบายน้ำที่มีการเปิดใหม่ให้กว้างขึ้น เพื่อป้องกันน้ำกัดเซาะถนนเส้นเดิมหากมีฝนตกหนักและเกิดน้ำป่าขึ้นมาอีก

ด้าน นางสุนันทา พิมพ์ไทย นายก อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ กล่าวว่า กำชับให้เจ้าหน้าที่ อบต.และเครือข่าย เฝ้าระวังติดตามระดับน้ำในแม่น้ำปราณบุรีตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมเตรียมเรือท้องแบน 3 ลำ จากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เขต 4 มาไว้ที่ อบต. หากเกิดน้ำป่าไหลทะลักเข้ามา เจ้าหน้าที่ อบต.จะประกาศเตือนทางหอกระจายข่าว และเปิดสัญญาณเตือนภัยให้ประชาชนอพยพไปอยู่ในพื้นที่ที่เตรียมรองรับไว้แล้ว และวันที่ 25 ตุลาคมนี้ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติจะลงพื้นที่เตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการป้องกันภัย รวมทั้งฝึกการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยหากมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น

"สมิทธ"เสนอตั้งระบบเตือนภัย57จว.


วันเดียวกัน นายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการอำนวยการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า ผลกระทบจากอุทกภัยในขณะนี้ มีความเสียหายคิดเป็นมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท สาเหตุหลักมาจากไม่มีระบบเตือนภัย ซึ่งศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.) อยู่ระหว่างการวางระบบเตือนภัยถึงพื้นที่เสี่ยงภัยสูง และถ้ารัฐบาลนี้สามารถอนุมัติให้ดำเนินการได้ภายในครึ่งปีหน้าก็สามารถมีระบบเตือนภัยสมบูรณ์แบบทั่วประเทศ

ทั้งนี้ วันที่ 24 ตุลาคมนี้ จะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเพื่อดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและติดตั้งระบบเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติ 144 แห่ง ใน 57 จังหวัด และจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงติดตั้งเครือข่ายระบบถ่ายทอดข้อมูลการเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยสำหรับเตือนเรื่องฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก แผ่นดินถล่มอีก 2,000 แห่ง ใน 20 จังหวัด ซึ่งรัฐบาลชุดที่ผ่านมา คณะกรรมการศึกษาระบบเตือนภัยล่วงหน้าได้รับอนุมัติงบประมาณ 388 ล้านบาท สำหรับดำเนินการจัดซื้อและติดตั้งหอเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติ 57 จังหวัด ในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากจำนวน 144 แห่ง เป็นเงิน 288 ล้านบาท และจำนวน 100 ล้านบาท

นายสมิทธ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ว่า เกิดจากการบริหารจัดการน้ำไม่ดี ถ้าบริหารน้ำตั้งแต่แรก หรือ 3-4 เดือนที่แล้ว ด้วยการผันน้ำลงสู่ทุ่ง ลำคลองธรรมชาติต่างๆ และเก็บไว้ในเขื่อนใหญ่บางส่วน ปริมาณน้ำก็จะไม่ไหลลงสู่ภาคกลางมากเหมือนขณะนี้ ข้อเสนอแนะคือ ต้องเตือนประชาชนล่วงหน้าว่าอะไรจะเกิดขึ้น ต้องมีระบบเตือนภัยให้ถึงประชาชน ไม่ใช่ถึงเฉพาะผู้ว่าราชการคนเดียว

หวั่นน้ำลด"หวัดนก"ระบาด

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ได้รับรายงานล่าสุด เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ถึงความเสียหายทางการเกษตรที่เกิดจากสถานการณ์อุทกภัย โดยในส่วนของปศุสัตว์มีสัตว์ที่ได้รับผลกระทบกว่า 2.7 ล้านตัว ในพื้นที่ 35 จังหวัด มีทั้งโค กระบือ สุกร แพะ แกะ แต่ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ปีกกว่า 1.6 ล้านตัว นอกจากนี้ ยังมีแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์เสียหายกว่า 4,000 ไร่ ส่วนมูลค่าความเสียหายจะต้องตรวจสอบอีกครั้งหลังน้ำลด เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายรุนแรงที่สุดคือ พื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง เช่น อ่างทอง สิงห์บุรี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นายยุคลยังแสดงความเป็นห่วงเรื่องการเกิดโรคระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงหลังน้ำลด ส่วนการระบาดของโรคไข้หวัดนกนั้น กรมปศุสัตว์ทำการเอกซเรย์พื้นที่ พร้อมทั้งพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อไปทั่วทุกจุดที่มีการเลี้ยงสัตว์ปีกแล้ว แต่ก็ยังถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมครั้งนี้เป็นพื้นที่เดียวกับพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดนกที่ผ่านมา และช่วงเดือนพฤศจิกายนที่น้ำจะเริ่มลด จะเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงอากาศ ประกอบกับจะมีนกอพยพเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนให้ต้องระวังป้องกันการระบาดอย่างเข้มงวด

นายยุคล กล่าวด้วยว่า ให้ทำความสะอาดโรงเรือนเลี้ยงสัตว์หลังน้ำลด ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้เตรียมน้ำยาฆ่าเชื้อไว้ให้ในทุกจังหวัดที่มีปัญหาน้ำท่วม และหากมีสัตว์ปีกป่วย หรือตาย ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ เพราะหากเกิดการแพร่กระจายออกไป อาจจะไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ทันท่วงที เพราะเชื้อไวรัสจะสามารถแพร่กระจายได้ดีในน้ำที่ท่วมขังหลังน้ำลด

โพลล์ระบุของกินแพงขึ้น

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ กล่าวว่า ได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากหัวหน้าครัวเรือน หรือตัวแทนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 1,017 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 16-21 ตุลาคม ผลสำรวจพบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 ระบุของกินของใช้มีราคาสูงขึ้น และกว่าร้อยละ 70 ระบุสภาพชีวิตความเป็นอยู่โดยรวมแย่ลง เป็นที่น่าสังเกตว่า มีตัวอย่างประมาณ 1 ใน 3 ต้องกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม

เมื่อสอบถามตัวอย่างถึงการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล หรือองค์กรต่างๆ ตัวอย่างร้อยละ 65.4 ระบุความช่วยเหลือไม่ทั่วถึงและไม่เท่าเทียม ร้อยละ 19.6 ระบุทั่วถึงแต่ไม่เท่าเทียม อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างร้อยละ 15.0 ระบุทั่วถึงและเท่าเทียม ส่วนผลกระทบทางด้านอารมณ์และความรู้สึก กว่าร้อยละ 50 รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ถูกทอดทิ้งจากหน่วยงานของรัฐ ถูกทอดทิ้งจากญาติพี่น้องและคนรู้จัก และเกินกว่า 1 ใน 3 รู้สึกว่าตนเองถูกทอดทิ้งจากแกนนำชุมชน

"สุรยุทธ์"บันทึกเทปแก้ปัญหาน้ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 20.30 น. วันที่ 22 ตุลาคม พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อบันทึกเทปรายการเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และการแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ นอกจากนี้ ยังเชิญชวนภาครัฐ เอกชน และประชาชน ร่วมกันให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัยที่มีอยู่หลายพื้นที่ในขณะนี้ โดยนายกฯ ใช้เวลาบันทึกเทปประมาณ 30 นาที โดยมีช่อง 9 เป็นแม่ข่ายในการบันทึกเทป ซึ่งจะออกอากาศวันที่ 25 ตุลาคม เวลา 21.00 น. การบันทึกเทปครั้งนี้ มีนายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแล อสมท เป็นผู้ประสานงาน


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์