21 มิ.ย. “วันครีษมายัน” กลางวันยาว 13 ชั่วโมง

ภาพแสดงการเกิดช่วงเวลากลางวัน-กลางคืนที่ยาวไม่เท่ากันอันเป็นผลเนื่องมาจากมุมเอียงของแกนโลก 23.5 องศา และการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ (ที่มา : http://solar.steinbergs.us/solar.html)

21 มิ.ย. “วันครีษมายัน” กลางวันยาว 13 ชั่วโมง

 21 มิ.ย.58 “วันครีษมายัน” กลางวันยาวเกือบ 13 ชั่วโมง ดวงอาทิตย์จะขึ้นทิศตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด หลังจากนั้นซีกโลกเหนือเตรียมเข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนซีกโลกใต้เตรียมเข้าสู่ฤดูหนาว 


ภาพแสดงการเคลื่อนที่ของโลกรอบดวงอาทิตย์บนระนาบสุริยะวิถี (ที่มา: http://www.srh.noaa.gov)

21 มิ.ย. “วันครีษมายัน” กลางวันยาว 13 ชั่วโมง

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนมิถุนายนจะสังเกตเห็นได้ว่าดวงอาทิตย์ตกช้ามากๆ ในแต่ละวันกว่าดวงอาทิตย์จะตกลับขอบฟ้าก็เป็นเวลาใกล้หนึ่งทุ่ม เนื่องจากเป็นเดือนที่ประเทศทางซีกโลกเหนือได้รับปริมาณแสงจากดวงอาทิตย์นานที่สุดในรอบปี โดยในวันที่ 21 มิ.ย.นี้ ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุดและตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ทำให้เป็นวันที่กลางวันยาวที่สุดในรอบปีของประเทศทางซีกโลกเหนือ
       
        “ภาษาสันสกฤตเรียกว่า “วันครีษมายัน” (ครี-ษะ-มา-ยัน) หรือ Summer Solstice สำหรับประเทศไทยในวันที่ 21 มิ.ย.58 ดวงอาทิตย์จะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเวลาประมาณ 05:50 น. และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเวลาประมาณ 18:46 น. ดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่บนท้องฟ้าเป็นเวลารวมเกือบ 13 ชั่วโมงที่กรุงเทพมหานคร” ดร. ศรัณย์กล่าว
       
        ทั้งนี้ คำว่า “Solstice” เป็นภาษาอินโดยูโรเปียน Stice หมายถึง สถิต หรือ หยุด ดังนั้น Summer Solstice หมายถึงวันที่ดวงอาทิตย์ไม่เคลื่อนที่ เพราะดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ไปทางเหนือเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนมีนาคมและหยุดที่จุดเหนือสุดในวันที่ 21 มิ.ย. หลังจากนั้นจะค่อยๆ เคลื่อนที่ลงมาทางใต้ ในทางฤดูกาลนับเป็นวันเริ่มต้นฤดูร้อนในซีกโลกเหนือ และเริ่มต้นฤดูหนาวในซีกโลกใต้ 


ภาพแสดงการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งการขึ้น-ตก ของดวงอาทิตย์ในช่วงเวลาต่างๆ (ที่มา http://www.edibleabundance.com/index.php/veggie-gardens)

21 มิ.ย. “วันครีษมายัน” กลางวันยาว 13 ชั่วโมง

 ตามปกติแล้วแกนโลกไม่ได้ตั้งตรงแต่เอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลก รอบดวงอาทิตย์ ในระยะเวลา 1 ปี ที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ เกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ ได้แก่
       
        1. วันวสันตวิษุวัต (วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ- วัด) (Vernal Equinox) ในปี 2558 ตรงกับวันที่ 20 มี.ค. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าย่างสู่ฤดูใบไม้ผลิ ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง
       
        2. วันครีษมายัน (ครี-สะ- มา-ยัน) (Summer Solstice) ในปี 2558 ตรงกับวันที่ 21 มิ.ย. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปี สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ช่วงกลางวันจะสั้นที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว 

  3. วันศารทวิษุวัต (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) (Autumnal Equinox) ในปี 2558 ตรงกับวันที่ 23 ก.ย. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าย่างสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ
       
        4. วันเหมายัน (เห-มา-ยัน) (Winter Solstice) ในปี 2558 ตรงกับวันที่ 22 ธ.ค. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวที่สุดในรอบปี หรือที่คนไทยเรียกว่า “ตะวันอ้อมข้าว” สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ ช่วงกลางวันจะยาวที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน
       
        ดร.ศรัณย์ กล่าวอีกว่าการที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นรูปวงรี ทำให้โลกมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากันตลอดปี ช่วงที่ใกล้ที่สุดประมาณต้นเดือนมกราคม (147 ล้านกิโลเมตร) ช่วงที่ไกลที่สุดประมาณต้นเดือนกรกฎาคม (152 ล้านกิโลเมตร) การโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ที่มีระยะใกล้บ้างและไกลบ้างนั้น เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของใกล้-ไกล ถือเป็นอัตราส่วนที่น้อยมาก จึงไม่ได้มีผลต่อการเกิดฤดูกาลแต่อย่างใด แต่การที่แกนของโลกเอียง 23.5 องศา เมื่อโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้ตำแหน่งขั้วโลกเหนือหรือขั้วโลกใต้หันเข้าหาดวงอาทิตย์ ส่วนต่างๆ ของโลกจึงได้รับแสงอาทิตย์ไม่เท่ากัน จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ใน 1 ปี เกิดฤดูกาลต่างๆ
       


mี่มา manager.co.th

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์