ไต่สวนพยานยุบ ปชป. นัดที่ 5

นายปัญญา ถนอมรอด ประธานศาลฎีกา



ไต่สวนพยานยุบประชาธิปัตย์นัดที่ 5


วันที่ 15 ก.พ. ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายปัญญา ถนอมรอด ประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญและคณะ ออกนั่งบัลลังก์เพื่อพิจารณาไต่สวนพยานในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า เป็นนัดที่ 5

โดยในการไต่สวนครั้งนี้ มีการสืบพยานทั้งสิ้นรวม 4 ปาก คือ

นายชูชาติ ประธานธรรม หัวหน้าพรรคไทยเป็นไทย หรือคนขอปลดหนี้เดิม
นางสาวปัทมา ชายเกตุ
นายเกษมสันต์ ยอดสุรางค์
นายนิติธรรมวัฒน์ รัตนสุวรรณ ผู้สมัครคนขอปลดหนี้

โดยนายชูชาติให้การว่า ที่พรรคคนขอปลดหนี้เดิมส่งผู้สมัครในภาคใต้ เพราะมีโอกาสที่จะได้ รับเลือกตั้ง

เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง โดยก่อนที่จะพาผู้สมัครไปยังสถานที่รับสมัคร ได้รับโทรศัพท์จากผู้สมัครของพรรคว่า นายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ขอร้องไม่ให้ส่งคนลงสมัคร และผู้สมัครบางคนก็โทร.มาเล่าว่า มีคนไปข่มขู่ที่บ้าน ถ้าจะให้ลงสมัครขอให้ประกันชีวิตให้

เมื่อไปสถานที่รับสมัคร ก็เจอเหตุการณ์ประท้วง แต่ยอมรับว่า ผู้สมัครของตนก็สามารถเข้าไปยื่นใบสมัครได้


ระบุ "ถาวร" ขอร้องว่าอย่าลงสมัครเลย


นายถาวร เสนเนียม ผู้รับมอบอำนาจจากพรรคประชาธิปัตย์ ซักค้านว่า ทราบว่าหลังยื่นใบสมัครแล้ว มีการพาผู้สมัครไปแจ้งความ ต้องการทราบว่า แจ้งในข้อหาอะไร นายชูชาติตอบว่า เดินทางไปแจ้งความก็แจ้งในข้อหาขัดขวางการเลือกตั้ง ไม่ได้แจ้งความในข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยว

จากนั้นเป็นการไต่สวนพยานที่เป็นผู้สมัคร ได้แก่ น.ส.ปัทมา นายนิติธรรมวัฒน์ นายเกษมสันต์ ทั้งหมดให้การสอดคล้องกันว่า แม้จะมีการชุมนุมประท้วงที่หน้าสถานที่รับสมัคร แต่ก็สามารถเข้าไปยื่นใบสมัครต่อ ผอ.กกต.เขตได้

โดยความช่วยเหลือของ นายอำเภอและเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้พาเข้าไป และเมื่อสมัครแล้ว ต่อมา ผอ.กกต.เขตประกาศว่า เป็นผู้ขาดคุณสมบัติจึงไม่ได้เป็นผู้สมัคร

ทั้งนี้ นายเกษมสันต์ได้ยืนยันว่า เป็นผู้ที่ได้พบและถูกนายถาวรขอร้องว่าอย่าลงสมัครเลย เนื่องจากต้องการให้พรรคไทยรักไทยสู้กับคนสงขลา


6 มี.ค.นี้ "ทักษิณ" ต้องมาให้ปากคำ


นายอรรถพล ใหญ่สว่าง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานยุบพรรค กล่าวว่า ขอยืนยันว่า การทำหน้าที่ของอัยการในคดียุบพรรคทั้ง 2 กลุ่มนี้ ใช้มาตรฐานเดียวกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติตามที่มีการกล่าวอ้างจากพรรคประชาธิปัตย์ ใครจะถูกผิดอย่างไร

ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะพิจารณา อัยการไม่มีหน้าที่ไปซักค้านหรือตอกย้ำในประเด็นดังกล่าว เพราะหากไปทำเช่นนั้นก็จะทำให้เสียรูปคดี

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการให้ปากคำของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ที่มีกำหนดขึ้นให้การต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 มี.ค.นี้ นายอรรถพลตอบว่า จนถึงขณะนี้ อัยการสูงสุดยังไม่ได้รับบันทึกการให้ปากคำการให้การของอดีตนายกฯ

ดังนั้น จึงไม่สามารถบอกได้ว่าจะต้องมีการยื่นเรื่องขอซักค้านหรือไม่ หากอัยการจำเป็นจะต้องซักค้าน พ.ต.ท.ทักษิณจริง ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ว่าจะใช้วิธีการซักค้านในรูปแบบใด เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า วิธีการให้ปากคำสามารถทำได้หลายวิธี



ขอขอบคุณ : ข้อมูลข่าวที่มีคุณภาพ

จาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์