“ไตรรงค์” ย้ำกับเจโทรปัญหาการเมืองไทยจะไม่เกิดความรุนแรงซ้ำรอย

“ไตรรงค์” ยืนยันกับประธานเจโทรว่า ปัญหาการเมืองไทยจะไม่เกิดเหตุรุนแรงซ้ำรอยเดิมอีก เพราะทุกฝ่ายต่างรู้ดีว่าเกิดความเสียหายมากน้อยเพียงใด

นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังนายมูเนโนริ ยามาดะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ และคณะเข้าพบ ว่าได้ชี้แจงให้นายยามาดะและคณะเข้าใจถึงสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยยืนยันว่าจะไม่เกิดเหตุซ้ำรอยเดิมอีกแน่นอน เพราะทุกฝ่ายต่างรู้ดีว่าที่ผ่านมาเกิดความเสียหายมากน้อยเพียงใด ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็มีประสบการณ์ที่จะป้องปรามและไม่ใช้วิธีการรุนแรงเข้ามาดูแลหรือแก้ไขปัญหาอีก จึงขอให้เจโทรสบายใจได้

ทั้งนี้ ประธานเจโทรได้ชี้แจงให้ทราบว่า จากการสำรวจนักธุรกิจญี่ปุ่นที่ประกอบกิจการในไทย

พบว่ามีนักธุรกิจถึงร้อยละ 67 ที่ตอบแบบสอบถาม แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์การเมืองในไทย หลังจากที่เกิดเหตุขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา จนทำให้เกิดความเสียหายมาก จึงต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามารักษาความมั่นคงและความปลอดภัยของสถานการณ์การเมืองให้มากขึ้น โดยให้เพิ่มงบบูรณะฟื้นฟูความเสียหายจากการวางเพลิงให้กลับสู่สภาพเดิม เพิ่มมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อย และออกกฎหมายควบคุมการกระทำผิด กรณีที่มีการขัดขวางกิจกรรมการประกอบธุรกิจ เช่น การปิดทางสาธารณะ เป็นต้น

นายไตรรงค์ กล่าวว่า แม้มีการคาดการณ์ว่าจะมีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้น ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในเชิงลบแน่นอน

แต่จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดการบริโภคในประเทศเพิ่มมากขึ้นจากเงินสะพัดจากการเลือกตั้ง ทั้งเงินที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย จึงมั่นใจได้ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2554 จะเติบโตได้ที่ระดับร้อยละ 3-5 เพราะได้แรงสนับสนุนจากการส่งออกที่บรรดาผู้ส่งออกต่างเปลี่ยนตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่อย่างอาเซียน แทนตลาดเดิมอย่างสหรัฐ ยุโรป หรือญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน การบริโภคภายในประเทศก็ยังดีอยู่มาก แม้มีปัจจัยลบอย่างเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง หรือปัญหาจากราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นก็ตาม แต่เศรษฐกิจไทยยังสามารถเดินหน้าเติบโตได้อย่างต่อเนื่องแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการของไทยยังขาดความรู้เรื่องการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีตามกรอบข้อตกลงต่าง ๆ

ทั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) หรือข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อย่างมาก ขณะเดียวกัน ระบบภาษีของไทยยังล้าสมัย ซึ่งเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง ต้องเร่งปรับปรุงและสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออาเซียนรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) จะมีผลบังคับใช้ในปี 2558 หากไทยไม่เร่งปรับปรุงให้ทันสมัยหรือรองรับการเปิดเสรีได้ จะทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบ. - สำนักข่าวไทย

เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์