โอนเงินทักษิณ49,016 ล้านบ.เข้าคลังแล้ว

 

คมชัดลึก :ยึดทรัพย์"ทักษิณ" เข้าคลังแล้ว 49,016.28 ล้านบาท อธิบดีกรมบัญชีกลาง เผย ทำเงินคงคลังเพิ่ม 1.59 ล้านบาท ระบุ ยังขาดอีก 163.14 ล้านบาท เตรียมยื่นขอบังคับคดีขายหน่วยลงทุน ด้านศาลฎีกาตั้งองค์คณะพิจารณาคำอุทธรณ์แล้ว


“เงินที่รับโอนเข้าบัญชีคงคลัง ทำให้ฐานะเงินคงคลังสิ้นเดือนเมษายนเพิ่มเป็น 1.59 แสนล้านบาทถือว่าเป็นสูงมาก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะปกติเมษายนจะเป็นช่วงที่เงินคงคลังต่ำที่สุด จากการรอชำระภาษีนิติบุคคลที่จะเข้ามาในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเงินส่วนนี้สามารถนำไปชำระหนี้ก่อนกำหนดวงเงิน 4.2 หมื่นล้านบาทได้ตามที่ ครม.อนุมัติ” นายพงษ์ภาณุกล่าว 


สำหรับธนาคารพาณิชย์ทั้ง 6 แห่งที่ส่งเงินเข้าบัญชีเงินคงคลังบัญชีที่ 1 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ประกอบด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำนวน 39,888.49 ล้านบาท ธนาคารกรุงเทพ จำนวน 8,586.32 ล้านบาท ธนาคารยูโอบี (ประเทศไทย) จำนวน 508.99 ล้านบาท ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำนวน 21 ล้านบาท ธนาคารทหารไทย จำนวน 10.44 ล้านบาท และธนาคารนครหลวงไทย จำนวน 1.06 ล้านบาท 


อย่างไรก็ตาม จำนวนเงินต้นที่ส่งเข้าคลังมาแล้วนั้นยังไม่ครบตามคำพิพากษา ยังขาดอีกจำนวน 163.14 ล้านบาท

โดยกรมบัญชีกลางจะประสานงานกับสำนักงานอัยการสูงสุดและกรมบังคับคดี เพื่อให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องให้ศาลออกหมายบังคับคดีและตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายหน่วยลงทุนที่อายัดไว้คือ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์สะสมทรัพย์ตราสารหนี้ 3 รายการ รวมมูลค่า 2,436 ล้านบาท โดยเป็นของคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ (ชินวัตร) จำนวน 1,000 ล้านบาท น.ส.พิ นทองทา ชินวัตร จำนวน 218 ล้านบาท และนายพานทองแท้ ชินวัตร จำนวน 1,218 ล้านบาท 


“กรมบัญชีกลางได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานอัยการสูงสุด กรมบังคับคดี สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และกรมสรรพากร มาหารือในวันที่ 7 พฤษภาคม เพื่อหารือถึงแนวทางการดำเนินการขายหน่วยลงให้ให้ถูกต้องและรอบคอบ และมั่นใจว่าจะได้ครบตามจำนวนเงินต้นที่ขาด 163.14 ล้านบาท เพราะจำนวนหน่วยลงทุนที่อายัดไว้นั้นมีสูงกว่ามูลค่าที่ต้องการ คาดว่ากระบวนการน่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน” นายพงษ์ภาณุกล่าว 


นายพงษ์ภาณุกล่าวถึงการใช้จ่ายเงินที่ได้จากการยึดทรัพย์ดังกล่าว ว่าต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.เงินคงคลัง ที่ต้องออกเป็นกฎหมายแต่มีข้อยกเว้น 4-5

กรณีที่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสามารถดำเนินการได้ เช่น การซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อชำระหนี้ล่วงหน้า การไถ่ถอนพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ว่าให้เงินที่ได้จากการขายหุ้นและปันผลหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 46,373.69 ล้านบาท พร้อมดอกผลตกเป็นของแผนดิน โดยบังคับเอาจากทรัพย์สินที่อายัดตามคำสั่งของคณะกรรมการตรวจสอบเป็นบัญชีเงินฝากธนาคาร 32 บัญชี และหน่วยลงทุน 3 รายการจากธนาคาร 6 แห่ง แต่ที่ผ่านมาติดขั้นตอนการปฏิบัติและธนาคารพาณิชย์ก็กังวลว่าจะดำเนินการผิดขั้นตอน เพราะมีการยืนขอทุเลาคดีจากเจ้าของทรัพย์ จึงยังไม่ได้โอนเงินเข้ามา ศาลศาลฎีกาจึงได้ทำหนังสือถึงธนาคารพาณิชย์ทั้ง 6 แห่ง เพื่อมีคำสั่งว่าให้ยึดตามคำพิพากษาเป็นหลัก เพราะถือว่าอยู่เหนือคำสั่งทั้งหมด  


รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้รวบรวมเอกสารคำอุทธรณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และครอบครัวรวม 5 คน

ที่ศาลมีคำพิพากษาให้ทรัพย์สินจำนวน 46,373 ล้านบาทเศษ ตกเป็นของแผ่นดิน และคำแก้อุทธรณ์ของอัยการสูงสุด ผู้ร้องส่งให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาแล้ว นายสบโชค สุขารมณ์ ประธานศาลฎีกา จึงเรียกประชุมใหญ่ผู้พิพากษาในศาลฎีกา 142 คน เพื่อลงมติเลือกองค์คณะพิจารณาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 27 เมษายน ที่ผ่านมา


ผลการเลือกผู้พิพากษาในศาลฎีกา ปรากกฏว่าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ได้ลงมติเลือกองค์คณะพิจารณาอุทธรณ์ 5 คน

คือ นายพีรพล พิชยวัฒน์ รองประธานศาลฎีกา นายสมศักดิ์ จันทรา ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา นายมานัส เหลืองประเสริฐ ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานแผนกคดีแรงงานในศาลฎีกา และนายฐานันท์ วรรณโกวิท ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา


หลังจากนี้องค์คณะทั้งห้า จะประชุมเลือกเจ้าของสำนวนต่อไป

โดยองค์คณะดังกล่าวจะร่วมกันพิจารณาอุทธรณ์ว่ามีพยานหลักฐานใหม่ที่ไม่เคยเกิดปรากฏในชั้นไต่สวนตามกฎหมายกำหนดที่ศาลฎีกาสามารถรับอุทธรณ์ไว้พิจารณาได้หรือไม่ และจะทำบันทึกความเห็นเสนอความเห็นที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อพิจารณาลงมติเสียงส่วนใหญ่ว่าจะรับอุทธรณ์ไว้พิจารณาหรือไม่ต่อไป หากที่ประชุมใหญ่ลงมติไม่รับอุทธรณ์ถือเป็นการสิ้นสุดกระบวนการ คดีเป็นอันยุติ


ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับนายดิเรก อิงคนันท์ ประธานแผนกคดีแรงงานในศาลฎีกาที่ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 5 องค์คณะนั้น

ก่อนหน้านี้ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 9 องค์คณะพิจารณาคดีดำหมายเลข อม.9/2551 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นจำเลย ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544-19 กันยายน 2549 ได้มอบนโยบายและสั่งการให้ออก พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 พ.ศ.2546 ประกาศกระทรวงการคลังเรื่องลดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 68) ลงวันที่ 28 มกราคม 2546 และมติ ครม. วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 กรณีที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคม และให้นำค่าสัมปทานหักกับภาษีสรรพสามิต ขณะที่คดีดังกล่าวศาลฎีกาสั่งจำหน่ายออกจากสารบบความชั่วคราว เนื่องจากรอตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ที่หลบหนีในต่างประเทศ กลับมาดำเนินคดีตามกระบวนการต่อไป


ส่วนนายฐานันท์ วรรณโกวิท ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา เคยเป็น 1 ใน 9 องค์คณะพิจารณาคดีโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 ตัว และ 3 ตัว หรือหวยบนดินด้วย


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์