โยนรบ.ใหม่สั่งถอนทหารไทยออก พระวิหาร

'กษิต' โยนเผือกร้อนให้รัฐบาลใหม่สั่งถอนทหารไทยพ้นพื้นที่พระวิหาร
 
ยันไม่เห็นด้วยให้อินโดฯเข้ามาจุ้น ด้านนายกฯ อภิสิทธิ์ซัด 'นพดล'ลงนามแถลงการณ์ร่วมกัมพูชา เป็นการจุดชนวนความขัดแย้งระหว่างสองชาติ ขณะที่กต.ประชุมร่วมหลายหน่วยงานเกี่ยวข้องหาข้อสรุปดำเนินการตามคำสั่งศาลโลก
   
เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
 
ให้สัมภาษณ์ถึงการที่นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตรมว.ต่างประเทศ ออกมาวิจารณ์รัฐบาลปัจจุบันว่าทำให้ประเทศ ไทยเสียเปรียบกัมพูชาในเรื่องคำสั่งของศาลโลก ว่า ตนอยากย้ำว่าเรื่องทั้งหมดเป็นปัญหาเพราะนายนพดลไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมกับกัมพูชาจนเป็นเหตุให้กัมพูชาสามารถขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกได้เพียงฝ่ายเดียว และรุกคืบในการเข้ามาบริหารจัดการในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร จนฝ่ายต่าง ๆ ต้องไปหาทางต่อสู้เพื่อรักษาอธิปไตย ส่วนเรื่องของศาลโลกนั้น รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมไปหารือกันว่าจะพูดคุยกับกัมพูชาอย่างไร เพราะตอนนี้ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในพื้นที่   

เย็นวันเดียวกันที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) มีการประชุมร่วมระหว่าง กต. กระทรวงมหาดไทย (มท.) สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กระทรวงกลาโหม (กห.)  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) คณะกรรมการกฤษฎีกา อัยการสูงสุด (อสส.) กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) กรมกิจการชายแดนทหาร และกรมแผนที่ทหาร เพื่อหารือถึงการดำเนินการภายหลังศาลอาญาระหว่างประเทศ (ศาลโลก) มีคำสั่งให้ไทยและกัมพูชาถอนทหารออกจากพื้นที่ปราสาทพระวิหาร
   
ภายหลังการประชุมเกือบ 2 ชั่วโมง นาย กษิต เปิดเผยว่า

ขณะนี้ได้ข้อยุติจากฝ่ายข้าราชการประจำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อส่งมอบให้รัฐบาลชุดต่อไปผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกจากนี้จะมีหนังสือตอบข้อเสนอของฝ่ายกัมพูชาที่ให้มีการหารือ 3 ฝ่าย รวมทั้งพูดคุยเบื้องต้นกับอินโดนีเซียว่าด้วยการปรับข้อกำหนดหน้าที่ของคณะผู้สังเกตการณ์ฝ่ายอินโดนีเซีย  เมื่อถามว่าได้พูดคุยเรื่องปรับกำลังทหารด้วยหรือไม่ นายกษิต กล่าวว่า กองทัพได้พิจารณาและมีท่าทีภายในแล้ว แต่ต้องไปพูดคุยกับฝ่ายกัมพูชาว่าจะปรับกำลังตามคำสั่งศาลกันอย่างไร เมื่อไหร่ ซึ่งต้องไปคุยกันในรายละเอียด    นอกจากนี้การเข้าไปในพื้นที่ของฝ่ายพลเรือนซึ่งอาจรวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นเรื่องที่กองทัพต้องไปปรึกษาหารือกับ มท.และ สตช. แต่ทั้งหมดนี้ต้องรอคำสั่งของรัฐบาลใหม่ ที่จะแจ้งฝ่ายกัมพูชาไปว่าน่าจะปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่เกินสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ส.ค.
   
ผู้สื่อข่าวถามว่าต้องมีการตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นด้วยหรือไม่ นายกษิต กล่าวว่า ได้ทบทวนว่าใช้คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) ไทย-กัมพูชาได้หรือไม่
 
อะไรที่เป็นเรื่องนอกกรอบจีบีซีก็ต้องให้รัฐบาลใหม่ขอมติคณะรัฐมนตรีเพิ่มเติมจากข้อกำหนดเดิม แต่จีบีซีเคยคุยกันเรื่องปรับกำลังซึ่งเป็นหัวใจของเรื่องอยู่แล้ว ส่วนการเข้าไปของพลเรือนและการอำนวยความสะดวกให้บุคลากรพลเรือนกัมพูชาในปราสาทอาจเกินขอบเขตหน้าที่ของจีบีซี แต่จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใหม่หรือไม่ก็ขึ้นกับฝ่ายกัมพูชาด้วย
   
“ขณะนี้ฝ่ายกัมพูชาตั้งเงื่อนไขว่าต้องมีอินโดนีเซียอยู่ในห้องประชุมด้วย ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ไม่เห็นด้วย ก็ต้องขึ้นกับรัฐบาลชุดใหม่จะว่าอย่างไร เพราะเรายืนยันตลอดว่าเรื่องเขตแดนและการปรับกำลังเป็นเรื่อง 2 ฝ่าย จะให้อินโดนีเซียมานั่งด้วยก็กระไรอยู่ บทบาทของอินโดนีเซียคือเรื่องคณะผู้สังเกตการณ์และอำนวยความสะดวกให้สองฝ่ายได้หารือกัน ไม่ว่าคำสั่งศาลโลกหรือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติก็พูดเรื่องกลไกทวิภาคี ไม่ได้บอกเลยว่าต้องมีอินโดนีเซียนั่งอยู่ด้วย และไม่คิดว่าอินโดนีเซียเขาอยากจะมาอยู่ในห้องประชุมด้วย” นายกษิต กล่าว
   
นายกษิต ยังกล่าวถึงการยื่นข้อสังเกตของฝ่ายไทยต่อศาลโลกว่าศาลโลกระบุให้ไทยยื่นข้อสังเกตในประเด็นหลักคือ คดีการตีความคำพิพากษาในวันที่ 21 พ.ย.นี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะทำงานของไทยได้หารือกับที่ปรึกษากฎหมายทั้ง 3 คน ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และได้ตกลงกันว่าจะทำร่างข้อสังเกตเบื้องต้นภายในเดือน ก.ย.นี้.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์