โพลล์เผยกลุ่มคนคอการเมืองไม่พอใจรบ.สลายม็อบ

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์  มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
 
เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง สำรวจฐานสนับสนุนของ “กลุ่มคนคอการเมือง” ต่อพรรคการเมืองและกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หลังเกิดเหตุปะทะ 7 ตุลาคม กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้ติดตามข่าวสารการเมืองใกล้ชิด (ทุกวัน / เกือบทุกวัน) ใน 18 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ นครสวรรค์ สมุทรสาคร ระยอง ลพบุรี นครปฐม นนทบุรี ชลบุรี มหาสารคาม สุรินทร์ อุบลราชธานี นครราชสีมา พัทลุง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช จำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 3,667 ตัวอย่าง มีระยะเวลาการดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 11 -18 ตุลาคม 2551

 
หลังเกิดเหตุปะทะวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ผลสำรวจพบว่า

“กลุ่มคนคอการเมือง” ที่ติดตามข่าวการเมืองเป็นประจำทุกวันหรือเกือบทุกวัน ให้คะแนนความสง่างามและความชอบธรรมของรัฐบาลโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4.37 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน มีความหมายว่า ค่อนข้างน้อย และความพอใจต่อท่าทีของ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี เฉลี่ยอยู่ที่ 4.60 มีความหมายว่าค่อนข้างน้อย และความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองจะเพิ่มขึ้นอีกเฉลี่ยอยู่ที่ 5.66 มีความหมายว่าค่อนข้างมาก

 
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบด้วยว่า
 
ร้อยละ 43.8 ของผู้ที่ถูกศึกษาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ รองลงมาคือร้อยละ 39.5 สนับสนุนพรรคพลังประชาชน และร้อยละ 16.7 สนับสนุนพรรคอื่น ๆ เมื่อจำแนกออกตามเพศ พบว่า ผู้หญิงสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าผู้ชาย คือร้อยละ 47.6 ต่อร้อยละ 39.8 ในขณะที่กลุ่มผู้ชายสนับสนุนพรรคพลังประชาชนมากกว่าผู้หญิง คือร้อยละ 42.8 ต่อร้อยละ 36.4 ตามลำดับ แต่กลุ่มผู้ชายและกลุ่มผู้หญิงสนับสนุนพรรคอื่นๆ ไม่แตกต่างกันคือร้อยละ 17.4 ต่อร้อยละ 16.0 ตามลำดับ

 
เมื่อจำแนกออกตามช่วงอายุ พบว่า
 
กลุ่มตัวอย่างที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์อยู่ในวัยทำงานระหว่าง 20 – 29 ปี และระหว่าง 30 – 39 ปี ร้อยละ 45.2 และร้อยละ 47.4 ตามลำดับ ในขณะที่พรรคพลังประชาชนมีผู้สนับสนุนมากในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป คือร้อยละ 44.9 และในช่วงอายุระหว่าง 40 – 49 ปีมีอยู่ร้อยละ 41.9 ตามลำดับ

แต่เมื่อจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่า
 
พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการสนับสนุนเกินครึ่งจากกลุ่มผู้มีการศึกษาระดับปริญญาตรี คือร้อยละ 52.5 และจำนวนมากหรือร้อยละ 42.5 ของผู้มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ในขณะที่ผู้มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีร้อยละ 40.1 สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ อย่างไรก็ตาม พรรคพลังประชาชนได้รับการสนับสนุนมากจากผู้มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีคือร้อยละ 44.0 ในขณะที่ ปริญญาตรีร้อยละ 30.1 และสูงกว่าปริญญาตรีร้อยละ 31.0 สนับสนุนพรรคพลังประชาชน ที่เหลือสนับสนุนพรรคอื่น ๆ

 
เมื่อจำแนกตามกลุ่มอาชีพ พบว่า
 
พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการสนับสนุนมากจากนักเรียนนักศึกษาร้อยละ 51.0 จากกลุ่มธุรกิจส่วนตัวและค้าขายร้อยละ 50.7 พนักงานบริษัทเอกชนร้อยละ 46.2 แม่บ้านเกษียณอายุร้อยละ 45.7 ที่น่าพิจารณาคือ พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มใช้แรงงานและเกษตรกรเพียงร้อยละ 26.9

 
ในขณะที่พรรคพลังประชาชนยังคงได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอาชีพใช้แรงงานและเกษตรกรมากถึงร้อยละ 55.8 และกลุ่มว่างงานได้ร้อยละ 40.7 กลุ่มแม่บ้านเกษียณอายุร้อยละ 40.2 และกลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจร้อยละ 40.1 หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ พรรคพลังประชาชนได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอาชีพใช้แรงงาน เกษตรกร กลุ่มคนว่างงาน และข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการสนับสนุนมากกว่าในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา พนักงานบริษัทเอกชน ธุรกิจส่วนตัวหรือค้าขาย กลุ่มแม่บ้านและเกษียณอายุ
 
เมื่อจำแนกตามภูมิภาค พบว่า

พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการสนับสนุนในภาคใต้เป็นส่วนใหญ่คือร้อยละ 83.1 ตามด้วยภาคกลางได้ร้อยละ 47.6 กรุงเทพมหานครได้ร้อยละ 44.9 ในขณะที่พรรคพลังประชาชนได้มากที่สุดในภาคเหนือคือร้อยละ 58.2 รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ร้อยละ 48.3 และกรุงเทพมหานครได้ร้อยละ 40.0 ตามลำดับ ที่เหลือคือพรรคอื่น ๆ

 
ที่น่าพิจารณาคือ
 
การจำแนกฐานสนับสนุนพรรคการเมืองออกจากกลุ่มคนที่เคยตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งก่อน พบว่า พรรคใหญ่สองพรรคยังคงได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคนนิยมศรัทธาเป็นส่วนใหญ่เหมือนเดิม คือ คนเคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ร้อยละ 86.8 ยังคงสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ คนเคยเลือกพรรคพลังประชาชนร้อยละ 84.3 ยังคงสนับสนุนพรรคพลังประชาชน แต่ที่น่าจับตามองคือ คนเคยเลือกพรรคอื่น ๆ หันมาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์เกือบ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 30.5 และไปสนับสนุนพรรคพลังประชาชนร้อยละ 23.3 ขณะที่ยังคงสนับสนุนพรรคอื่นๆ ร้อยละ 46.2 เท่านั้น เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากคนที่เคยเลือกพรรคอื่นๆ กำลังเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ปะทะ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา

 
ดร.นพดล กล่าวว่า
 
สำหรับมิติการเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชนคือ ฐานสนับสนุนต่อกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผลสำรวจพบว่า ประชาชนผู้ถูกศึกษาแยกกลุ่มออกเป็นกลุ่มสนับสนุนกลุ่มพันธมิตร กลุ่มไม่สนับสนุนกลุ่มพันธมิตร และกลุ่มขออยู่ตรงกลางหรือพลังเงียบในสัดส่วนเท่าๆ กันคือ ร้อยละ 34.0 สนับสนุนกลุ่มพันธมิตร ร้อยละ 34.8 ไม่สนับสนุน และร้อยละ 31.2 ขออยู่ตรงกลาง ซึ่งสภาวะเช่นนี้เป็นสภาวะที่ทุกๆ ฝ่ายต้องให้ความสำคัญต่อปรากฏการณ์ของการแบ่งกลุ่มเป็นสามก๊ก สามฝ่ายแบบที่ไม่ค่อยจะปรากฏให้เห็นในการสำรวจที่ผ่าน ๆ มา

 
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อจำแนกออกตามภูมิภาค พบว่า

กลุ่มพันธมิตรฯ ได้รับการสนับสนุนมากที่สุดในภาคใต้คือร้อยละ 61.9 ในภาคกลางร้อยละ 35.6 และในกรุงเทพมหานครร้อยละ 34.9 ขณะที่กลุ่มไม่สนับสนุนพันธมิตรมีมากที่สุดในภาคเหนือร้อยละ 46.6 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรืออีสานร้อยละ 39.1 ส่วนในภาคกลางมีอยู่ร้อยละ 33.3 และกรุงเทพฯ มีอยู่ร้อยละ 33.0 ที่ไม่สนับสนุนกลุ่มพันธมิตร ที่เหลือขออยู่ตรงกลาง คือไม่เลือกฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอีกประมาณร้อยละ 30 ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนไม่แตกต่างกันกระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์