โพลล์ชี้ปชช.ไม่เห็นด้วย การย้ายที่ชุมนุมพันธมิตร

โพลล์ชี้ปชช.ไม่เห็นด้วย การย้ายที่ชุมนุมพันธมิตร

เอแบคโพลล์ ระบุ ประชาชนร้อยละ 71.1 ไม่เห็นด้วยกับการย้ายที่ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรไปชุมนุมที่สายมพารากอนหรือสถานที่อื่นๆ

(28มี.ค.) สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่องการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีกับความตั้งใจของประชาชนในการเลือกตั้ง: กรณีศึกษาประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 1,116 ตัวอย่าง

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง "การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีกับความตั้งใจของประชาชนในการเลือกตั้ง" ในครั้งนี้ได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลจากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปที่พักอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,116 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการสำรวจในวันที่ 27 มีนาคม 2549

ดร.นพดล กล่าวว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.7 ยังคงติดตามข่าวการเมืองทุกวันหรือเกือบทุกวัน ร้อยละ 14.7 ระบุติดตาม 3-4 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 11.7 ระบุติดตาม 1-2 วันต่อสัปดาห์ ในขณะที่ร้อยละ 3.9 ระบุไม่ได้ติดตามเลย อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่คิดว่าสถานการณ์การเมืองขณะนี้อยู่ในขั้นวิกฤติแล้วมีจำนวนไม่แตกต่างกับกลุ่มประชาชนที่คิดว่ายังไม่วิกฤตคือร้อยละ 41.9 กับร้อยละ 42.1 ในขณะที่ร้อยละ 16.0 ไม่มีความเห็น

"ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ การใช้ยุทธวิธีเคลื่อนไหวแบบดาวกระจายของกลุ่มผู้ชุมนุมไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีดูจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชนในภาพรวม ซึ่งผลสำรวจล่าสุดพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.1 ระบุไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนย้ายกลุ่มผู้ชุมนุมไปตามจุดต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้าบนถนนสีลมและถนนสุขุมวิท และผลสำรวจยังพบอีกว่าประชาชนเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 56.3 ไม่สนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก นั่นอาจกล่าวได้ว่า ยิ่งกลุ่มพันธมิตรเคลื่อนย้ายกลุ่มผู้ชุมนุม ยิ่งจะทำให้เสียแนวร่วมของสาธารณชนในการสนับสนุนเจตนารมณ์สำคัญเพื่อปฏิรูปการเมือง" ดร.นพดล กล่าว

ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า แนวโน้มความคิดเห็นและอารมณ์ของสาธารณชนในการสนับสนุนเป้าหมายของกลุ่มพันธมิตรลดต่ำลงแตกต่างกับการชุมนุมในบริเวณจำกัดที่ส่งผลทำให้กลุ่มพลังเงียบผู้ไม่แสดงตนในที่แจ้งอยู่เคียงข้างกลุ่มพันธมิตร และดูเหมือนว่าเกือบจะสำเร็จแล้วที่จะได้ใจและเสียงสนับสนุนของสาธารณชน แต่เมื่อเปรียบรูปแบบเป็นดาวกระจายส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีความเดือดร้อนอันดับแรกเป็นเรื่องปัญหาจราจรอยู่แล้ว อารมณ์และความคิดเห็นของคนกรุงฯ จึงถดถอยไปจากฐานการสนับสนุนกลุ่มพันธมิตร

"ถ้าสังเกตให้ดีว่าเส้นทางที่กลุ่มพันธมิตรฯ เคลื่อนย้ายเป็นเส้นทางของกลุ่มคนชั้นกลางขึ้นไปสัญจรไปมา ผ่านที่ทำงาน สถานศึกษา โรงพยาบาล และห้างสรรพสินค้า คนกลุ่มนี้เดิมทีเกินกว่าครึ่งที่สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรซึ่งถือว่าเป็นฐานกำลังสำคัญของการชุมนุม ไม่ใช่กลุ่มคนระดับรากฐานส่วนใหญ่ของสังคม การเคลื่อนย้ายที่ไปกระทบต่อวิถีชีวิตประจำวันของพวกเขาจึงทำให้เกิดความเครียดและไม่พอใจต่อกลุ่มพันธมิตรมากขึ้นไปอีกโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน" ดร.นพดล กล่าว

ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ผลสำรวจครั้งนี้จึงสะท้อนตัวชี้วัดหลายตัวไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับเป้าหมายหลายประการของการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ อาทิ แนวโน้มของความตั้งใจของประชาชนที่จะไปเลือกตั้งอย่างแน่นอนสูงขึ้นจากร้อยละ 41.4 ในวันที่ 25 มีนาคม มาอยู่ที่ 64.8 ในการสำรวจครั้งล่าสุด โดยจะไปเลือกพรรคที่ชอบร้อยละ 40 กว่าในขณะที่แนวโน้มของกลุ่มคนที่จะงดการลงคะแนนลดต่ำลงจากร้อยละ 25.6 เหลือร้อยละ 22.6

"ยิ่งพิจารณาแนวโน้มความคิดเห็นของสาธารณชนกรณีนายกรัฐมนตรีควรลาออก และความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ยิ่งจะเห็นความชัดเจนว่าแนวโน้มต่อการเรียกร้องประเด็นสำคัญทั้งสองเหล่านี้ลดต่ำลงอย่างเห็นได้ชัดเจนในการสำรวจครั้งล่าสุด ซึ่งไม่ได้เป็นไปในทิศทางที่กลุ่มผู้ชุมนุมโดยแกนนำพันธมิตรฯ ตั้งเป้าหมายเอาไว้ ดังนั้นกลุ่มพันธมิตรฯ คงต้องปรับยุทธวิธีให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ควบคู่ไปกับการตอกย้ำจุดยืนในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ถ้าจะจัดรูปแบบดาวกระจายควรทำคล้ายๆ เวทีในพื้นที่จำกัดแล้วทำกิจกรรมรณรงค์ที่มีสีสันดึงดูดใจให้ความบันเทิงไปพร้อมๆ กับเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่อยู่บนพื้นฐานของความสงบเรียบร้อย ก็จะสอดคล้องกับบรรยากาศของความตึงเครียดและวิถีชีวิตของคนเมืองหลวง เสียงสนับสนุนน่าจะกลับมาเหมือนเดิมหรืออาจจะมากกว่าก็ได้" ดร.นพดล กล่าว

ดร.นพดล กล่าวต่อว่า สำหรับแนวคิดเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ การประกาศภาวะฉุกเฉิน และการเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบกรณีศาลปกครองสูงสุดเพิกถอน 2 พระราชกฤษฎีกาการแปรรูป กฟผ. นั้น ผลสำรวจครั้งนี้ พบว่า ประชาชนเกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 37.2 คิดว่าแนวคิดเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติเป็นเกมการเมือง ในขณะที่ร้อยละ 22.1 คิดว่าเป็นความจริงใจในการปฏิรูปการเมือง และร้อยละ 40.7 ไม่มีความเห็น สำหรับการประกาศภาวะฉุกเฉินนั้น ผลสำรวจพบว่าประชาชนเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 53.2 ไม่สนับสนุนถึงไม่สนับสนุนเลย ในขณะที่ร้อยละ 19.0 สนับสนุนถึงสนับสนุนอย่างยิ่ง และร้อยละ 27.8 ไม่มีความเห็น เมื่อสอบถามถึงการเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบกรณีศาลปกครองสูงสุดเพิกถอน 2 พระราชกฤษฎีกาแปรรูป กฟผ.นั้น ผลสำรวจพบว่าร้อยละ 31.3 ระบุต้องรับผิดชอบ ในขณะที่ร้อยละ 16.0 ระบุไม่ต้องรับผิดชอบ และร้อยละ 52.7 ไม่มีความคิดเห็น

"ผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายกลุ่มผู้ชุมนุมแบบดาวกระจาย อาจส่งผลทำให้แนวร่วมจากกลุ่มคนชั้นกลางขึ้นไป ในเป้าหมายสำคัญของการเคลื่อนไหวโดยกลุ่มพันธมิตรฯลดลง ดังนั้นกลุ่มพันธมิตรฯ จำเป็นต้องปรับรูปแบบของการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อดึงสาธารณชนที่เป็นพลังเงียบไม่แสดงตนในที่แจ้งกลับคืนมา ในขณะที่รัฐบาลควรทำงานอย่างหนักเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเรื่องปากท้องของประชาชน และไม่ตอบโต้ที่เป็นการยั่วยุให้เกิดความโกรธแค้นและแตกแยกในสังคม การเปลี่ยนแปลงการเมืองเพื่อการปฏิรูปรอบใหม่ จึงน่าจะเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ควบคู่ไปกับความชอบธรรมและความโปร่งใสในการปกครอง เพราะการเมืองภาคประชาชนเข้มแข็งตามระบอบประชาธิปไตย" ดร.นพดล กล่าว

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์