โพลชี้ประชาชนยี้สภา 500 ไทยรักไทย

โพลชี้ประชาชนยี้สภา 500 ไทยรักไทย

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 10 เมษายน 2549 07:00 น.

ผู้จัดการรายวัน- เอแบคโพลล์สำรวจประชาชนส่วนใหญ่ ระบุว่าสื่อกำลังถูกคุกคาม แทรกแซง แต่สื่อก็ควรทบทวนบทบาทของตัวเองในด้านต่างๆ ขณะเดียวกันยอมรับไม่ได้กับการที่ ทรท.ครองเก้าอี้ในสภาเกือบ 500 ที่นั่ง จนกลายเป็นเผด็จการรัฐสภา หนุนให้มีการเลือกตั้งใหม่ เปิดทาง อดีต 3 พรรคฝ่ายค้านลงเลือกตั้ง เผยประชาชนไม่มั่นใจ นายกฯคนใหม่จะอิสระปราศจากการแทรกแซง ปุระชัย-สมคิด-อภิสิทธิ์-สุรเกียรติ์-โภคิน คือลำดับผู้ที่เหมาะสมจะเป็นนายกฯ

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สำรวจความคิดเห็นประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,468 คน ซึ่งส่วนใหญ่ร้อยละ 66.5 สนใจและติดตามข่าวทุกวันหรือเกือบทุกวัน มีเพียงร้อยละ 18.6 ที่ติดตาม 3-4 วันต่อสัปดาห์

ผลสำรวจเกี่ยวกับการแทรกแซงคุกคามสื่อในสถานการณ์การเมืองต่างๆ กรณีคาราวานคนจนชุมนุมประท้วงที่อาคารเนชั่น สำนักงานหนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก พบว่า ประชาชนร้อยละ 43.4 ระบุว่าเป็นการคุกคาม แทรกแซง ร้อยละ 24.6 ระบุว่าไม่คุกคาม ไม่แทรกแซง ในขณะที่ประชาชนเกือบ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 32 ไม่ระบุความเห็น

ส่วนกรณีกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างชุมนุมหน้าหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ พบว่า ประชาชนจำนวนมากหรือร้อยละ 39.5 ระบุว่า ถูกคุกคาม แทรกแซง ร้อยละ 25.2 ไม่คุกคาม ไม่แทรกแซง ในขณะที่ประชาชนเกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 35.3 ไม่มีความเห็น

ส่วนกรณีระงับรายการชีพจรโลกของคุณสุทธิชัย หยุ่น ที่เปิดโปงบริษัท เทมาเส็ก พบว่าประชาชนเกินกว่า 1 ใน 3 ของตัวอย่างหรือร้อยละ 35.6 ระบุถูกคุกคาม แทรกแซง ร้อยละ 17.5 ระบุไม่คุกคาม ไม่แทรกแซง ในขณะที่ประชาชนจำนวนมาก หรือร้อยละ 46.9 ไม่ระบุความเห็น

สำหรับกรณียุบรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ พบว่า ประชาชนเกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 35.2 ระบุว่า คุกคาม แทรกแซง ร้อยละ 20.7 ระบุไม่คุกคาม ไม่แทรกแซง ในขณะที่ร้อยละ 44.1 ไม่มีความเห็น กรณีปลดพิธีกรข่าวเช้าวันใหม่ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย พบว่าประชาชนเกือบ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 32.6 ระบุคุกคาม แทรกแซง ร้อยละ 13.5 ระบุไม่คุกคาม ไม่แทรกแซง ในขณะที่ประชาชนเกินกว่าครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 53.9 ไม่มีความเห็น

สำหรับความคิดเห็นต่อการทบทวนบทบาทการทำงานของสื่อมวลชน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 66.3 ของตัวอย่างทั้งหมด ระบุว่าควรทบทวนบทบาท การทำงาน โดยเฉพาะความเป็นกลางในการนำเสนอข่าว ความเป็นอิสระในการนำเสนอข่าว การนำเสนอข่าวเกินความเป็นจริง การนำเสนอข่าวที่เป็นภาพลบ ต่อประเทศชาติ และการนำเสนอข่าวที่มีเนื้อหารุนแรง นอกจากนี้ ร้อยละ 10 เห็นว่าไม่ควรทบทวน และร้อยละ 23.7 ไม่มีความคิดเห็น

ส่วนผลสำรวจเกี่ยวกับความยอมรับต่อสภาที่มีที่นั่งเกือบ 500 คนมาจากพรรคไทยรักไทย พบว่า ร้อยละ 48.7 ยอมรับไม่ได้ ขณะที่ ร้อยละ 42.6 ยอมรับได้ และร้อยละ 8.7 ไม่มีความเห็น

สำหรับความคิดเห็นต่อเผด็จการรัฐสภา หลังจากพรรคไทยรักไทยได้ที่นั่งในสภาเกือบ 500 ที่นั่ง พบว่า ประชาชนร้อยละ 46.9 คิดว่าจะเป็นเผด็จการรัฐสภา ร้อยละ 35.5 ไม่คิดว่าจะเป็นเผด็จการรัฐสภา และร้อยละ 17.6 ไม่มีความคิดเห็น และเมื่อสอบถามตัวอย่างต่อไปถึงความต้องการอยากให้เลือกตั้งใหม่โดยมี พรรคร่วมฝ่ายค้านลงแข่งขันด้วย พบว่าประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.3 ของตัวอย่างทั้งหมด อยากให้เลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 25.4 ไม่อยากให้เลือกตั้งใหม่ ในขณะที่ร้อยละ 14.3 ไม่ระบุความคิดเห็น

ขณะเดียวกัน ประชาชนจำนวนมากหรือร้อยละ 47.3 ไม่มั่นใจต่อการที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไปจะมีความเป็นอิสระไม่ถูกแทรกแซงจากกลุ่มผลประโยชน์ของ พรรคไทยรักไทย ในขณะที่ร้อยละ 20.2 มั่นใจ และร้อยละ 32.5 ไม่มีความเห็น

สำหรับคะแนนความนิยมของพรรคไทยรักไทย ถ้ามีปัญหาขัดแย้งกันภายใน พรรคเรื่องการแย่งชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นพบว่าประชาชน ร้อยละ 58.8 ของตัวอย่างทั้งหมดระบุว่าจะเสียความนิยมไป ในขณะที่ร้อยละ 41.2 ระบุว่าไม่เสีย ความนิยม และเมื่อสอบถามถึงความมั่นใจต่อพรรคไทยรักไทยจะมีความสามัคคี ปรองดองภายในพรรคในอีก 6 เดือนข้างหน้า พบว่าประชาชนจำนวนมากหรือร้อยละ 39.9 ไม่มั่นใจ ร้อยละ 28.9 มั่นใจ และร้อยละ 31.2 ไม่มีความเห็น

สำหรับบุคคลที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถ้าเปิดกว้างไม่จำเป็น ต้องมาจากพรรคไทยรักไทย 5 อันดับแรก คือ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ร้อยละ 34.5 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ร้อยละ 28.6 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 24.3 นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ร้อยละ 12.1 และนายโภคิน พลกุล ร้อยละ 10.2 ตามลำดับ

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบค โพลล์ กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความกังวลบางอย่างของประชาชนในพื้นที่ที่ถูกศึกษาว่าการประกาศไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีผลคลี่คลายสถานการณ์การเมืองเชิงจิตวิทยาระยะสั้นเท่านั้น เพราะภาพที่ปรากฏในสังคมข้อมูล ข่าวสารชี้ให้เห็นว่าความวุ่นวายและความไม่ชัดเจนทางการเมืองยังคงมีอยู่หลายเรื่อง เช่น บุคคลที่เหมาะกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ความไม่เป็นอิสระของนายกรัฐมนตรีคนใหม่จากการครอบงำทางการเมืองของกลุ่มผลประโยชน์พรรคไทยรักไทย การตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลเพื่อคลี่คลายความเคลือบแคลงสงสัยของประชาชนในเรื่องการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป การทุจริตคอร์รัปชั่นโครงการต่าง ๆ และความไม่แน่นอนว่าจะเกิดสภาวะเผด็จการทางรัฐสภาหรือไม่ เมื่อสภา 500 ที่นั่ง หรือเกือบ 500 ที่นั่ง เป็นของพรรคไทยรักไทย

ยิ่งไปกว่านั้นภาพที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนอีกภาพหนึ่งในสังคมข้อมูลข่าวสาร คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังคงเป็นศูนย์กลางของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ พรรคไทยรักไทย จึงยากที่จะพ้นจากความสงสัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะไม่ก้าวก่าย หรือครอบงำการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีที่จะมาจากพรรคไทยรักไทย ในขณะที่ภาพของความขัดแย้งเรื่องบุคคลในตำแหน่งนายกรัฐมนตรียังคงปรากฏให้เห็นและสอดคล้องกับความรู้สึกนึกคิดของประชาชนในการสำรวจครั้งนี้คือความไม่มั่นใจว่าจะเกิดความสามัคคีปรองดองในกลุ่มต่าง ๆ ของพรรคไทยรักไทยในอีก 6 เดือนข้างหน้า ถ้าความขัดแย้งไม่สามารถหาจุดลงตัวได้ และการเมืองภาคประชาชนยังคงมีความ เข้มแข็งเหมือนในขณะนี้ ความแตกแยกในพรรคไทยรักไทยอาจเกิดขึ้นได้จริง นายนพดล กล่าว

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์