โพลชี้คนไทยเกินครึ่งเชื่ออีก 6 เดือนบ้านเมืองเกิดความรุนแรง

โพลชี้คนไทยเกินครึ่งเชื่อว่าอีก 6 เดือนเกิดความรุนแรง 94%อยากเห็นความสงบ ชี้ทางออกของปัญหาการเมืองร้อยละ 80.2 ระบุความมีสติสัมปชัญญะ ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ ร้อยละ 75.4 การยอมถอยคนละก้าว

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ดร.นพดล กรรณิกา หัวหน้าศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน (ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง 'อารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชนต่อเหตุการณ์บ้านเมืองขณะนี้' กรณีศึกษาตัวอย่างคนไทยใน 15 จังหวัด ทั้งในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาล ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ สมุทรสาคร ระยอง อยุธยา นครปฐม ชลบุรี นครพนม ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ขอนแก่น ภูเก็ต และสงขลา จำนวน 3,487 ตัวอย่าง สำรวจระหว่างวันที่ 25 -31 พฤษภาคม 2551 พบว่า ส่วนใหญ่หรือกว่าร้อยละ 90 ติดตามข่าวการเมืองภายในประเทศเป็นประจำทุกสัปดาห์ในรอบ 30 วันที่ผ่านมา
 

เปรียบเทียบอารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชน ต่อเหตุการณ์บ้านเมืองขณะนี้

ระหว่างเดือนมีนาคมกับเดือนพฤษภาคม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่อยากเห็นบ้านเมืองสงบสุขเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 88.8 ในเดือนมีนาคม มาอยู่ที่ร้อยละ 94.1 ในเดือนพฤษภาคม

ขณะที่ประชาชนอยากเห็นสื่อมวลชนเสนอข่าวให้คนไทยรู้สึกดีต่อกันเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 81.7 มาอยู่ที่ร้อยละ 86.5 ประชาชนวิตกกังวลต่อปัญหาเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 62.4 ในเดือนมีนาคม มาอยู่ที่ร้อยละ 79.6 ในเดือนพฤษภาคม ประชาชนวิตกกังวลต่อเหตุการณ์บ้านเมืองเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 58.2 มาอยู่ที่ร้อยละ 85.5 และคิดว่าการแบ่งขั้วทางการเมืองทำให้สังคมไทยแตกแยกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 57.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 60.3 และมองว่าสังคมไทยกำลังเข้าใกล้สภาพบ้านป่าเมืองเถื่อนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 53.9 ในเดือนมีนาคม มาอยู่ที่ร้อยละ 74.8 ในเดือนพฤษภาคม

ในแบบสอบถาม ระบุว่า วันนี้ คุณกล้าพูดประโยคต่อไปนี้ได้เต็มที่หรือไม่

ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 68.8 ไม่กล้าพูดเต็มที่ว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่สงบสุข รองลงมาคือร้อยละ 65.1 ไม่กล้าพูดว่า วันนี้ คนไทยรักกัน ร้อยละ 64.0 ไม่กล้าพูดว่าผู้ใหญ่ในสังคมไทยมีความเมตตากรุณา และร้อยละ 63.8 ไม่กล้าพูดว่า มาเที่ยวเมืองไทย มีแต่รอยยิ้ม

สอบถามถึงแนวโน้มความรุนแรงของการชุมนุมในอีก 6 เดือนข้างหน้า ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.3 คิดว่าจะรุนแรงเพิ่มขึ้น ร้อยละ 28.1 คิดว่าจะเท่าเดิม และร้อยละ 5.6 เท่านั้น ที่คิดว่าจะลดลง ส่วนสาเหตุของการใช้ความรุนแรงในการชุมนุมพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 79.1 ระบุมาจากการท้าทาย ยั่วยุ ข่มขู่ รองลงมา ร้อยละ 72.2 ระบุการขาดสติ ไม่ยับยั้งชั่งใจ และร้อยละ 70.8 ระบุการกระทำของมือที่สาม กลุ่มสร้างสถานการณ์
 

เมื่อถามถึงทางออกของปัญหาการเมืองขณะนี้ พบว่า

ร้อยละ 80.2 ระบุความมีสติสัมปชัญญะ ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ ร้อยละ 75.4 การยอมถอยคนละก้าว ร้อยละ 72.7 ระบุรู้จักการให้อภัย ร้อยละ 69.3 ระบุการให้โอกาสแก่กันและกัน ร้อยละ 68.3 ระบุกระบวนการยุติธรรม ร้อยละ 67.6 ระบุความอดทน อดกลั้น


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์