โปรดเกล้าฯแต่งตั้งประธาน สนช.แล้ว

"หนังสือด่วน แจ้งเรื่องประกาศแต่งตั้งประธานและรองประธานฯ"


ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 25 ต.ค. 2549 จาก พล.อ.วินัย ภัททิยกุล เลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ส่งถึงสำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อแจ้งเรื่องมีประกาศแต่งตั้งประธานและรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ความว่า

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า โดยที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2549 เลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้เป็นประธาน และรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คือ 1. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 2. พลเอกจรัล กุลละวณิชย์

เป็นรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนที่หนึ่ง 3. นางสาวพจนีย์ ธนวรานิช เป็นรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนที่สอง อาศัยความตามในมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราวพุทธศักราช 2549 จึงแต่งตั้งให้ผู้มีนามดังกล่าวเป็นประธานและรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2549 เป็นปีที่ 61 ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ

มีชัย นัดถกวางกรอบการทำงาน

นางสุวิมล ภูมิสิงหราช เลขาธิการสำนักงานวุฒิสภา ซึ่งทำหน้าที่เลขาธิการสำนักงาน สนช. เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้ได้รับเลือกเป็นประธานและรองประธาน สนช. แล้วตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา ประธาน สนช. จึงได้เชิญสมาชิกร่วมประชุมในวันที่ 27 ต.ค.นี้ สำหรับเรื่องนโยบายของรัฐบาลที่จะแถลงต่อ สนช.นั้น ได้เลื่อนกำหนดวันแถลงจากวันที่ 2 พ.ย. เป็นวันที่ 3 พ.ย. เนื่อง จาก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี จะเดินทางลงพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ในวันที่ 2 พ.ย.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุม สนช.วันที่ 27 ต.ค.นี้ มีระเบียบวาระการประชุมสำคัญ คือการพิจารณาเรื่องด่วน 3 เรื่อง ได้แก่ 1. กำหนดวันและเวลาประชุมสนช. 2. ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญยกร่างข้อบังคับการประชุม 3. ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อสรรหาสมาชิกสนช.ให้ดำรงตำแหน่งกรรมาธิการสามัญประจำสภา

ปัดข่าวแบ่งเค้กกรรมาธิการ


นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน สนช. ให้สัมภาษณ์ถึงการเรียกประชุมในวันที่ 27 ต.ค. ว่ามีวาระการพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างระเบียบข้อบังคับการประชุม และตั้งคณะกรรมาธิการสรรหาสมาชิกเข้าดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการสามัญ ซึ่งขณะนี้ยังใช้ข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติปี 2534 อยู่ โดยมีคณะกรรมาธิการ 15 คณะ ถ้าไม่พอสามารถแก้ไขตั้งเพิ่มได้

ขึ้นอยู่กับสมาชิกจะเสนออย่างไร โดยจะให้สมาชิกแต่ละคนกรอกแบบฟอร์ม ว่าต้องการจะอยู่คณะกรรมาธิการชุดไหน ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวเริ่มมีการแบ่งเค้กในกรรมาธิการชุดต่างๆแล้ว นายมีชัยตอบว่า อยู่สภามา 10 กว่าปี ยังนึกไม่ออกว่าการเป็นกรรมาธิการจะเป็นเค้กอย่างไร งานตรงนี้ถือเป็นหน้าที่ หากคณะไหนมีคนอยากเป็นซ้ำกันมากและตกลงกันไม่ได้ คงต้องใช้วิธีจับสลาก เพราะสภานี้ไม่มีพรรคการเมือง จึงไม่ต้องจัดตามสัดส่วน

ต่อข้อถามว่ามีข่าวว่ามีการล็อบบี้ในตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการกันแล้ว นายมีชัยตอบว่า ล็อบบี้ไม่ได้ เพราะยังไม่รู้ว่าใครอยู่คณะไหน และไม่ใช่ว่าใคร มีอำนาจแล้วไปชี้เอา คนที่พูดว่ามีการแบ่งเค้กหรือล็อบบี้ตำแหน่ง ถือว่าไม่เข้าใจความจริง นึกกันไปเอง ทั้งที่ไม่ใช่ ความจริง เมื่อถามว่า แค่เริ่มต้น สนช.ก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นเหมือนสภาข้าราชการ นายมีชัยกล่าวว่า ใครวิจารณ์ ยังไม่เคยได้ยิน คิดไปเองหรือเปล่า

มีชัย ชำแหละกฎหมาย

บ่ายวันเดียวกัน ที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน สนช. กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง กฎหมายกับการพัฒนา ว่า ในอดีตกฎหมายแต่ละประเทศแตกต่างกันมาก แต่ปัจจุบันวิวัฒนาการของโลกไร้พรมแดน ทำให้การออกกฎหมายไม่ใช่คิดถึงแต่คนไทย แต่ต้องคิดถึงคนในโลกด้วย นับวันการออกกฎหมายยิ่งยาก แต่กติกาของโลกใช่ว่าจะเป็นธรรม ประเทศเล็กเสียเปรียบและตกเป็นเครื่องมืออยู่เสมอ ตอนนี้แนวคิดพื้นฐานการออกกฎหมายเปลี่ยนไปจากการแข่งขันที่รุนแรง ภาคเอกชนมีความรู้มากกว่าราชการ เมื่อคนมีความรู้น้อยกว่าไปออกกฎหมายให้คนมีความรู้มากกว่าปฏิบัติ กฎหมายจึงตามไม่ทัน กลายเป็นการหาช่องโหว่ นอกจากนี้ การใช้มาตรฐานกฎหมายเดียวกันของส่วนราชการ ทั้งประเทศ แทนที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร กลับกลายเป็นช่องให้คนทุจริตได้มากขึ้น ดังนั้นควรมีแนวคิดที่จะให้แต่ละกระทรวง ทบวง กรม ไปออกระเบียบจัดซื้อจัดจ้างเป็นของตัวเองได้แล้ว

นายมีชัยกล่าวว่า รัฐบาลที่แล้วออกแบบกลไกโดยดูแบบบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่ก็เกิดปัญหา เพราะเป้าหมายของเอกชนคือการทำกำไรโดยไม่คำนึงถึงวิธีการ แต่ราชการ ต้องคำนึงถึงความผาสุกและจริยธรรม ระบบราชการไทยแม้จะไม่ดี 100% แต่ยังเป็นระบบที่มีคุณธรรม แนวคิดในอดีตที่ว่ารัฐบาลไว้ใจได้ แต่ปัจจุบันมีการตรวจสอบที่เข้มข้นขึ้น ทำให้การมองเปลี่ยนไป รัฐเริ่มถูกจับตามองในแง่วัตถุประสงค์ เพราะเดิมรัฐมักคิดว่าจะทำอะไรก็ได้ แต่ปัจจุบันมีแนวคิดว่ารัฐต้องทำให้น้อยที่สุด และนั่งเป็นกรรมการกระดิกเท้าชักค่าต๋ง ตรงนี้ทำให้ต้องกำหนดเป้าหมายเพื่อไปวางกลยุทธ์

แฉ รมต.ย้ายอธิบดีที่ไม่รับใต้โต๊ะ


นายมีชัยกล่าวว่า ผลจากสภาพสังคมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวคิดว่า การมีกฎหมายมากๆดีจริงหรือ ต่างประเทศคิดมานานแล้ว แต่ไทยเพิ่งมาสำเหนียก ต่างประเทศจึงไม่ให้มีกฎหมายมาก และดูว่าคุ้มค่ากับที่ประชาชนต้องสละสิทธิเสรีภาพหรือไม่ นอกจากนี้ คนเริ่มคิดกันว่ารัฐควรถูกจำกัดบทบาทโดยเฉพาะขอบเขตของการดูแลกิจกรรม 3 ระดับ ตั้งแต่การควบคุม การกำกับดูแลให้เป็นไปตามกติกา และการส่งเสริมสนับสนุน เราต้องพูดคุยเรื่องนี้กันจริงจังเสียที และควรสำรวจกฎหมายที่ไม่มีความจำเป็นอยู่กว่า 70-80 ฉบับ แล้วยกเลิกไป เพราะบางฉบับแค่เอาไว้ขู่ แต่ไม่สามารถบังคับใช้ได้ กลายเป็นนิสัยคนไทยที่ชอบเลี่ยงกฎหมาย ช่วงระยะเวลา 5-10 ปีที่ผ่านมาไว้ใจอะไรไม่ได้เลย กฎหมายที่ร่างขึ้นมาต้องเขียนสกัดทุกช่อง จนบางคนบอกว่าบ้า คิดไปได้อย่างไร แต่ตนว่าหาทางสกัดไว้ก่อนดีกว่า ที่ผ่านมามีการออกกฎหมายเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในระบบราชการ สามารถโยกย้ายข้าราชการระดับสูงข้ามกระทรวงได้ อย่างอธิบดีคนไหนไม่ถนัดงานนั้น รัฐมนตรีสั่งย้ายได้ พอเสร็จเรื่องก็ย้ายกลับ ซึ่งได้ติงไปว่ากรณีการประมูลงาน หากอธิบดีคนนั้นไม่เห็นด้วยกับการดึงเปอร์เซ็นต์ แล้วย้ายอธิบดีคนที่เห็นด้วยเข้ามาแทน แล้วเราจะไว้ใจรัฐมนตรีได้หรือ

ชี้ รธน.ปี 40 ไม่เหมาะกับสังคมไทย

นายมีชัยยังได้กล่าวถึงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ดี แต่ตอบไม่ได้ว่าดีสำหรับใคร เหมือนเอารถโรลสรอยซ์ไปให้ชาวนาไถนา ของบางอย่างถ้าไม่คำนึงถึงคนใช้จะเกิดปัญหา ต้องดูพื้นฐานของสังคมไทยด้วย บางทีคนไทยต้องมีกฎกติกาของคนไทยเอง ค่อยเดินกันไป แต่ละประเทศก็มีประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับประเทศนั้นๆ ประชาธิปไตยไม่ได้มีรูปแบบเดียว เรื่องแบบนี้ไม่ต้องเหมือนกันก็ได้ สำหรับบทบาทของตุลาการที่ถดถอยลง ทั้งที่ก่อนหน้านี้เป็นยุคของตุลาการภิวัฒน์นั้น ก่อนปฏิรูปการปกครองฝ่ายตุลาการออกมามีส่วนร่วมแก้ปัญหาในบ้านเมือง หลายคนที่เรียนมาทางด้านกฎหมายรู้สึกไม่สบายใจที่ต้องเอาไพ่ใบสุดท้ายของบ้านเมืองเข้ามาแก้ปัญหาตรงนี้ เพราะถ้าเกิดผิดพลาดขึ้นมาก็จะล้มกันไปหมด ตอนนี้ถือว่าดีแล้วที่สังคมไม่พุ่งไปที่ฝ่ายตุลาการ ต้องปล่อยให้ตุลาการทำงานไป ดีที่สุดแล้ว


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์