โฆษกคสช. ปัด ทักษิณ เอี่ยว มติอียู ทบทวนมาตรการยุติความร่วมมือไทย

โฆษกคสช. ปัด ทักษิณ เอี่ยว มติอียู ทบทวนมาตรการยุติความร่วมมือไทย

โฆษกคสช. ปัด "ทักษิณ" เอี่ยว "มติอียู" ทบทวนมาตรการยุติความร่วมมือไทย

เวลา 16.30น. วันที่ 24 มิถุนายน ผู้สื่อข่าว "ข่าวสด" รายงานว่า ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
 
ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีการประชุมของคณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป (อียู) แถลงการณ์ยุติความร่วมมือไทยและเรียกร้องให้ไทยมีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด ว่า เรามีความผิดหวังกับแถลงการณ์ดังกล่าวเพราะคสช.มีการชี้แจงกับหลายประเทศในเวทีต่างๆ ผ่านกระทรวงการต่างประเทศไปแล้ว จึงอยากเรียกร้องให้อียูทบทวนมาตรการต่างๆ ที่ได้ประกาศออกมา ซึ่งที่ผ่านมาไทยได้ให้ความร่วมมือที่ดีกับอียูในหลายๆ เรื่อง โดยในส่วนมาตรการที่ทางอียูพูดถึงการระงับการมาเยือนอย่างเป็นทางการระหว่างกันและสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกจะไม่ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือกับประเทศไทยนั้นยังอยู่ในขั้นตอนกระบวนที่ต้องผ่านรัฐสภาของประเทศในอียูอีก 2 ปีหรืออาจจะมากกว่านั้น ดังนั้นไทยกับอียูเองยังคงมีความร่วมมือในด้านอื่นๆ อีกหลายกรอบจึงมีความคาดหวังว่าหากสถานการณ์ทางการเมืองของไทยผ่านไปจะทำให้อียูเห็นพัฒนาการทางการเมืองของเราและนำไปทบทวนถึงมาตรการหลายๆ อย่างที่ได้ประกาศออกมา

"ผมอยากให้อียูเห็นสถานการณ์เหตุผลและความจำเป็นของการที่คสช.ต้องเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินในขณะนี้ว่า ก่อนหน้าวันที่ 22 พฤษภาคมสถานการณ์ทางการเมืองเราตึงเครียดขนาดไหน งบประมาณแผ่นดินหรือแม้กระทั่งการเดินหน้าประเทศมันขยับไม่ได้แล้ว หากเราจะปล่อยให้สถานการณ์มันเป็นแบบนั้นต่อไปโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์รุนแรงมีสูงระหว่าง 2 ฝ่ายที่ไม่มีการพูดคุยหาทางออกกันเลย ผมคิดว่าอียูควรมองกลับไปจุดนั้นและมองกลับมาดูโรดแมปที่คสช.ได้ดำเนินการไปอย่างชัดเจนทุกขั้นตอนรวมถึงกรอบเวลาการทำโรดแมปในขั้นต่างๆ ซึ่งทางอียูเองต้องให้เวลาเราพอสมควรเพราะความขัดแย้งของไทยยาวนานกว่า 10 ปี หากจะแก้ไขมันคงต้องใช้เวลา" ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าว

ส่วนการจะส่งหนังสือชี้แจงความจำเป็นในการเข้ามาบริหารราชการของคสช.เป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่นั้น ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ขณะนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อถามถึงกรณีผลกระทบภายหลังอียูออกแถลงการณ์ออกมานั้น ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า
 
ผลกระทบเบื้องต้นคือเจ้าหน้าที่ต่างๆ ของประเทศในอียูจะไม่เดินทางมาประเทศจึงอาจทำให้การประสานงานต่างๆ ไม่สะดวกเพราะไม่ได้มีการพบปะอย่างเป็นทางการ แต่ตนเชื่อว่านอกเหนือจะมาตรการที่ออกมานั้นไทยกับอียูยังคงมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันในหลายๆ เรื่องนอกเหนือจากมาตรการที่ออกมา ส่วนผลกระทบด้านการท่องเที่ยวนั้นตนเชื่อว่าในระดับประชาชนเองจะไม่มีผลกระทบอะไร เพราะคนไทยหลายคนมีญาติมิตรเป็นชาวยุโรปก็ยังคงไปมาหาสู่กันได้ตามปกติ

เมื่อถามถึงกรณีที่เรียกร้องให้ไทยมีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด
 
ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ก่อนที่เราจะไปถึงการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยนั้น เงื่อนไของค์ประกอบในการนำไปสู่การเลือกตั้งมันคงต้องมีอะไรบ้าง ซึ่งเราต้องจัดการให้ประเทศอยู่ในสถานะพร้อมสำหรับการเลือกตั้งในอนาคต

เมื่อถามว่าหัวหน้าคสช.ได้มีการเน้นย้ำหรือกังวลอะไรเกี่ยวกับมาตรการของอียูที่ออกมาบ้าง
 
ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า หัวหน้าคสช.ได้ฝากกับทุกหน่วยงานให้เร่งชี้แจงกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ทุกภาคส่วนจึงต้องทำงานอย่างเต็มที่โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งนี้การออกมาตรการต่างๆ ของอียูไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด รวมทั้งในที่ประชุมหัวหน้าคสช.ไม่ได้พูดถึงกรณีดังกล่าวเลย

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์