โฆษก ปชป.ย้ำรัฐใช้นโยบายประชานิยมแบบรับผิดชอบ

พรรคประชาธิปัตย์ 5 ก.ค.- ปชป.คุย 1 ปี รัฐใช้งบประชานิยม 2 แสนกว่าล้าน อ้างทำแบบมีความรับผิดชอบ ไม่สร้างหนี้ อุ้มคนจนทั่วประเทศ 

นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงเสียงวิจารณ์นโยบายวาระประชาชนเลียนแบบประชานิยมว่า

หลักพื้นฐานในการดำเนินนโยบายมาจาก 3 ข้อ คือ 1.จะต้องทำให้ประชาชนเข้มแข็งมากขึ้น  2.เป็นนโยบายที่มีผลการลงทุนเพื่อคน โดยเฉพาะศักยภาพของประชาชนทั้งด้านความรู้ สุขภาพ การเข้าถึงโอกาสก้าวหน้าในชีวิต มากกว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ใช้อย่างไม่รับผิดชอบ และ 3.ต้องอยู่บนพื้นฐานเฉลี่ยทุกข์สุข คือ คนที่มีจ่ายภาษี ก็ต้องมีส่วนช่วยประชาชนที่มีน้อยและไม่ต้องจ่ายภาษี ซึ่งหลายฝ่ายวิจารณ์ว่าต้องใช้ค่าใช้จ่ายมากและไม่ยั่งยืน ซึ่งขอชี้แจงว่า ถ้าดูจากนโยบายในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา คือ 1.นโยบาย 6 มาตรการลดค่าครองชีพ ซึ่งมีประชาชนได้ประโยชน์ประมาณ 10 ล้านครอบครัว แบ่งเป็นค่าไฟฟ้า ใช้งบประมาณ 23,500 ล้านบาท ค่าน้ำ 7,649 ล้านบาท รถเมล์ฟรี 4,134 ล้านบาท และรถไฟฟรี 1,851 ล้านบาท รวมในกลุ่มนี้ใช้งบ 37,163 ล้านบาท โดยทั้งหมดพุ่งเป้าไปที่ประชาชนที่มีฐานะยากจนโดยเฉพาะ

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์  กล่าวว่า  2.นโยบายด้านการศึกษา ขยายนโยบายเรียนฟรี 12 ปี เป็น 15 ปี อย่างมีคุณภาพ

ใช้งบ 73,000 ล้านบาท และเงินสนับสนุนกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาในระดับอุดมศึกษาอีก 36,000 ล้านบาท รวม 109,000 ล้านบาท โดยมีประชาชนได้ประโยชน์ทั้งสิ้น 12 ล้านครอบครัว และยังมีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ใช้เงิน 21,963 ล้านบาท มีผู้สูงอายุได้ประโยชน์เกือบ 5 ล้านครอบครัว 3.นโยบายการประกันรายได้เกษตรกร มีเกษตรกรที่ได้รับโดยตรงกว่า 4 ล้านครอบครัว โดยใช้เงิน 27,913 ล้านบาท และ 4.การแก้ไขหนี้นอกระบบอย่างครบวงจร ซึ่งมีประชาชนเข้าร่วมโครงการสมบูรณ์แล้ว 6 แสนคน ใช้เงินเพียง 1 หมื่นล้านบาท

“นโยบายดังกล่าว ถือเป็นนโยบายใหม่ที่พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะแกนนำรัฐบาลได้ริเริ่ม โดยใช้เงินรวมทั้งสิ้น 209,625 ล้านบาท โดยหากเทียบกับฐานะการคลังของรัฐบาล ก็ถือว่าเป็นเงินที่ไม่มากนัก และใกล้เคียงกับการจัดเก็บรายได้ที่เพิ่มมากกว่าที่ประมาณการไว้ในปีนี้ คือประมาณ 2 แสนล้านบาท และการที่รัฐบาลไม่กู้เงินเพิ่มอีก 4 แสนล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจกลับฟื้น และขยายตัวเป็น 6 เปอร์เซ็นต์ ในปีนี้ ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า โดยรัฐบาลได้จัดงบประมาณแบบสมดุล หากเรียกว่าเป็นการจัดงบแบบประชานิยมก็เป็นแบบรับผิดชอบ โดยประชาชนที่ได้รับประโยชน์เป็นประชาชนที่ควรได้รับประโยชน์นี้ และตามหลักเศรษฐศาสตร์ ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้นักเศรษฐศาสตร์จะสนับสนุนให้จัดงบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่อง เพื่อหวังผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งงบประมาณนี้ยังไม่รวมการเพิ่มงบประมาณในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่รัฐบาลนี้ได้จัดสรรงบรายหัวให้เพิ่มขึ้นตลอด 3 ปี รวมเพิ่ม 1 แสนกว่าล้าน หลังจากที่ 6 ปีก่อนหน้านี้ ไม่มีการเพิ่มเลย ซึ่งรวมแล้วงบในส่วนนี้จะอยู่ที่ 3 แสนกว่าล้านบาท ในการดูแลประชาชน 48 ล้านคน จึงถือว่าคุ้มค่า” นพ.บุรณัชย์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย

เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์