แฟลตทหารแฉสินค้าโครงการพอเพียงด้อยคุณภาพ-แพงเกินจริง เพื่อไทย ชี้ความผิดสำเร็จแล้ว


ปธ.ชุมชนแฟลตทบ.แฉโคมไฟพลังแสงอาทิตย์"โครงการพอเพียง"ด้อยคุณภาพ แพงเกินจริง ไฟฉายยังสว่างกว่า นายทหารไม่พอใจ ปูดพิรุธจนท.ให้เปิดบัญชีและโอนเงินจ่ายบริษัททันที พท.จี้ต่อชี้ความผิดสำเร็จแล้ว

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าว "มติชน" รายงานว่า จากการลงพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อตรวจสอบการจัดซื้อสินค้าของชุมชนต่างๆ ตามโครงการชุมชนพอเพียง ในเขตพญาไท พบว่านอกจากตู้น้ำหยอดเหรียญพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าจัดซื้อในราคาสูงเกินจริง และอุปกรณ์บางชนิดไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ อาทิ แผงโซลาร์เซลล์ที่ส่งพลังงานไฟฟ้าเข้าตู้น้ำไม่ต่อเนื่อง ทำให้ต้องต่อไฟฟ้าบ้านมาใช้งานแทนนั้น ในส่วนของโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ที่บางชุมชนเลือกซื้อไว้ใช้งานต้นละ 50,000 บาท ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าราคาสูงเกินจริงเช่นกัน และการใช้งานก็ไม่คุ้มค่า เพราะแสงสว่างไม่มากพอ 

นางนันธิกา คงเมือง ประธานชุมชนแฟลต กองทัพบก (ทบ.) สามเสน ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผย "มติชน" ว่า ชุมชนแฟลต ทบ.จัดซื้อโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ตามโครงการชุมชนพอเพียงไว้ 8 ต้น ต้นละ 50,000 บาท แต่ปัจจุบันโคมไฟไม่สามารถใช้งานได้ 4 ต้น ส่วนที่เหลืออีก 4 ต้น ก็ให้แสงสว่างไม่เพียงพอ สร้างความไม่พอใจให้กับคนในชุมชนอย่างมาก เพราะคิดว่าโคมไฟนี้จะทำงานมีประสิทธิมากกว่านี้

"ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้น โคมไฟเหล่านี้น่าจะทำงานได้ดีกว่านี้ แสงจากไฟฉายธรรมดายังสว่างมากกว่านี้อีก แสงสว่างจากโคมไฟออกมาคล้ายกับแสงดักแมลงมากกว่า แถมระบบการติดตั้งก็ไม่ดี หากมีลมพายุพัดแรง โคมไฟพวกนี้อาจล้มลงมาทำอันตรายกับคนในชุมชนได้ ตอนนี้กำลังคิดอยู่ว่าจะให้เขาถอนคืนไปเลยดีหรือไม่" นางนันธิกากล่าว    

นางนันธิกากล่าวว่า ชุมชนแฟลต ทบ.ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 7 แสนบาท เดิมไม่คิดว่าจะได้รับจัดสรร เนื่องจากช่วงก่อนที่โครงการนี้จะเริ่มช่วงต้นปีที่ผ่านมา ชุมชนจัดตั้งขึ้นไม่ถึง 2-3 เดือน เพราะเท่าที่ทราบตามเกณฑ์แล้ว ชุมชนที่จะได้รับการจัดสรรงบฯโครงการนี้ ต้องจัดตั้งมาไม่ต่ำกว่า 1 ปี แต่ก็ได้รับการยืนยันจากสำนักงานเขตพญาไทว่า ไม่มีปัญหาสามารถอนุมัติให้ได้ 

นางนันธิกากล่าวว่า จากนั้นทางเขตก็ส่งโบรชัวร์สินค้าของบริษัทเอกชนมาให้เลือก 6 ประเภท ได้แก่ 1.ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องละ 250,000 บาท 2.เครื่องผลิตน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องละ 300,000 บาท 3.โคมไฟถนนพลังงานแสงอาทิตย์ ต้นละ 5 หมื่นบาท 4.เครื่องผลิตปุ๋ยและก๊าซชีวภาพ  เครื่องละ 250,000-299,000 บาท 5.ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องละ 250,000 บาท และ 6.เตาเผาขยะประสิทธิภาพสูง เครื่องละ 100,000 บาท หลังจากนั้นตนเรียกประชุมคนในชุมชนเพื่อตัดสินใจว่าจะซื้ออะไร ได้ข้อสรุปว่า ซื้อเครื่องผลิตน้ำดื่ม 1 เครื่อง ส่วนที่เหลือเป็นโคมไฟถนน จากนั้นคนที่เขตให้คนนำเอกสารโครงการมาให้ลงรายละเอียด และรับคืนกลับไป 

นางนันธิกากล่าวว่า เดิมที่สั่งซื้อโคมไฟสั่งซื้อไป 6 ต้น แต่คนที่เขตไปเปลี่ยนใหม่ให้เป็น 8 ต้น โดยให้เหตุผลว่า เพื่อที่จะได้ให้เต็มวงเงินที่ชุมชนได้รับคือ 7 แสนบาท (โคมไฟ 4 แสนบาท รวมกับเครื่องผลิตน้ำดื่ม 1 เครื่อง 3 แสนบาท) จากนั้นไม่นานก็มีบริษัทเอกชนมาส่งสินค้าให้กับชุมชน

"ทันที่สินค้าเหล่านี้มาถึง บอกได้เลยว่าดูแล้วมันแพงกว่าความเป็นจริงมาก แต่เราก็ไม่คิดอะไรมาก เพราะเรื่องนี้ชุมชนไม่เสียหายอะไร ได้ของมาฟรี แม้ว่าจะเอามายัดเยียดให้ก็ตาม แต่ภายหลังพบว่าของที่เอามาให้มันมีปัญหามาก อย่างเรื่องโคมไฟถนน พอเอามาติดตั้งแสงสว่างก็ไม่พอ เสียความรู้สึกกับเรื่องนี้มาก ไม่คิดว่าจะเป็นแบบนี้ ผู้ใหญ่ที่เป็นนายทหารในชุมชนก็ไม่พอใจมาก เพราะที่นี่เป็นเขตทหาร ใครจะมาโกงอะไรกัน ไม่มีใครเขาเอาด้วยหรอก จึงทำให้ปัจจุบันทางชุมชนยังไม่เซ็นรับโคมไฟถนนจากบริษัทที่มาติดตั้งเลย" นางนันธิกากล่าว

นางนันธิกากล่าวว่า ส่วนตู้น้ำหยอดเหรียญ ปัจจุบันมาติดตั้งแล้ว แต่ยังไม่ได้รับมอบพัดลมไอน้ำ รุ่น S-22 ที่ระบุว่าจะแถมให้ 2 เครื่อง และช่วงที่มีข่าวนี้เกิดขึ้น บริษัทที่มาติดตั้งก็หายเงียบไปไม่ยอมติดต่อกลับมาอีก

"ที่เรายังไม่ได้เซ็นชื่อรับติดตั้งของ คงไม่มีผลอะไร เพราะเงินมันถูกโอนไปให้บริษัทไปแล้ว เพราะภายหลังจากที่ชุมชนได้รับการอนุมัติก็มีคนจากทางเขตเชิญตัวแทนชุมชนไปเปิดบัญชีธนาคาร เพื่อรับเงินที่จะโอนเข้ามา เมื่อมีเงินโอนเข้ามา เขาก็ให้เราโอนเงินออกไปทันที หน้าที่ของเราดูเหมือนจะมีแค่นี้ เพราะขนาดสินค้าที่เราสั่งซื้อไป ก็ไม่เคยมีใครเห็นสินค้าตัวจริงมาก่อน เห็นเพียงแค่รูปในโบรชัวร์เท่านั้น และจะขอเปลี่ยนสินค้าที่จะจัดซื้อเองก็ไม่ได้ ซึ่งช่วงแรกเราเคยติดต่อไปว่าจะขอเปลี่ยนเป็นสปอตไลท์ 3-4 อัน ราคาอันละ 2,500 บาท แทนโคมไฟต้นหนึ่ง ที่ราคา 5 หมื่นได้หรือไม่ แต่ทางเขตบอกว่าเปลี่ยนไม่ได้ กติกาเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นตามนั้น นี่คิดว่าอีกไม่นานชุมชนคงจะต้องเสียเงินซื้อสปอตไลท์มาใช้เองแน่" ประธานชุมชนแฟลต ทบ.กล่าวด้วยความไม่สบอารมณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโบรชัวร์สินค้าที่ทางเขตนำไปมอบให้ชุมชน ปรากฏรายชื่อบริษัทเอกชนกลุ่มเดิมที่เข้าไปเสนอสินค้ากับชุมชนต่างๆ เช่น บริษัท คาร์เทล เทคโนโลยี ซึ่งเป็นผู้บริจาคเงินให้พรรคประชาธิปัตย์ บริษัท บีอีเอ็มซี จำกัด บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ โปร เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งทุกบริษัทมีเบอร์โทรศัพท์ให้สอบถามข้อมูลผลิตภัณฑ์เป็นเบอร์เดียวกันหมด สำหรับบริษัทที่ขายโคมไฟโซลาร์เซลล์คือบริษัท บีอีเอ็มซี เช่นเดียวกับชุมชนวัดไผ่ตัน ย่านสะพานควาย ก็ได้รับเอกสารกำหนดสินค้ารูปแบบเดียวกับชุมชนแฟลต ทบ.

นางส้มเสี้ยว ศรีสุข ประธานชุมชนวัดไผ่ตัน เขตพญาไท กล่าวว่า ชุมชนสั่งซื้อตู้น้ำหยอดเหรียญ 2 เครื่อง รวม 600,000 บาท และซื้อโคมไฟอีก 2 ต้น รวม 100,000 บาท ปัญหาที่พบคือโคมไฟให้แสงสว่างไม่เพียงพอ ส่วนตู้น้ำมีปัญหาเมื่อฟ้ามืดครึ้ม ทำให้ไฟไม่พอ ต้องต่อไฟบ้านใช้ อย่างไรก็ตาม กรรมการชุมชนคนหนึ่งเคยไปเห็นตู้น้ำขนาดเดียวกันมีราคาไม่ถึง 30,000 บาท ทำให้รู้สึกว่าที่ซื้อมาแพงเกินไป แต่ไม่คิดอะไรมาก เพราะได้มาฟรี

ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) อาคารบีบีดี บิ้วดิ้ง น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. พรรค พท. แถลงถึงกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลกำลังตรวจสอบการล็อคสเปคซื้อสินค้าในโครงการชุมชนพอเพียงที่ส่อทุจริตโดยจะชะลอการโอนเงินชุมชนที่เกิดปัญหาว่า ที่นายกฯออกมาพูดเช่นนี้สะท้อนว่า เข้าใจปัญหาไม่ตรงจุด เพราะกลุ่มบุคคลที่อ้างตัวเป็นคนของรัฐบาลไปล็อคสเปคสินค้า เร่งรัดโอนเงินอย่างผิดสังเกตก่อนโยนความผิดให้คณะกรรมการประชาคมนั้นมีความผิดสำเร็จแล้ว เนื่องจากมีการโอนเงินไปยังชุมชนต่างๆ แล้วหลายแห่ง

"ดังนั้น ที่รัฐบาลบอกว่าจะไม่โอนเงินไปให้ชุมชนที่จะส่อว่าจะมีปัญหา เป็นการเบี่ยงเบนประเด็นที่จะไปตรวจสอบคนในพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากพรรคเพื่อไทยพบว่า มีนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์เข้าไปเกี่ยวข้อง จึงเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบกรณีดังกล่าว" น.อ.อนุดิษฐ์กล่าว

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์