แฉ! 6 บริษัทตั้งแท่นประมูลเช่ารถเมล์ใหม่ 6 พันคัน รถร่วมฯ ขู่ฟ้องศาลปกครอง โวยทุนหาย

รถร่วมฯขู่ฟ้องศาลปกครอง หากรัฐบาลเดินหน้าเช่ารถเมล์ใหม่ 6 พันคัน โอดเพิ่งลงทุนเปลี่ยนเครื่องใช้เอ็นจีวี ยังไม่ได้ทุนคืน เสนอให้ซื้อแทนแล้วแบ่งให้เอกชนเช่าซื้อ 3 พันคันแข่งกันบริการประชาชน เชื่อมีผลประโยชน์แอบแฝง ปูดเตรียมบริษัท 6 รายร่วมประมูลแล้ว ผอ.ขสมก.ชี้ หาก ครม.ไฟเขียวสัปดาห์นี้ ไม่เกิน ต.ค.รู้ผลใครชนะประมูล

นายฉัตรชัย ชัยวิเศษ นายกสมาคมพัฒนารถร่วมเอกชน ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ''มติชน'' ทางโทรศัพท์ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ถึงกรณีที่คณะกรรมการพัฒนาระบบขนส่งทางรางและระบบขนส่งมวลชน ที่มีนายสมัคร สนุทรเวช นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม นำเสนอเรื่องการเช่ารถประจำทางปรับอากาศ จำนวน 6,000 คัน เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 15 กรกฎาคม ว่า สมาคมเชื่อว่านโยบายนี้นอกจากจะไม่ประสบความสำเร็จแล้ว ในอนาคตยังจะก่อปัญหาตามมาอีกมาก โดยเฉพาะข้อพิพากระหว่างบริษัทเอกชนกับรัฐบาล อาจรุนแรงถึงขั้นยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอความเป็นธรรมต่อการดำเนินงานของรัฐบาลในเรื่องนี้ เนื่องจากปัจจุบันรถโดยสารที่ให้บริการอยู่ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีจำนวนมากกว่า 7,000 คัน แบ่งเป็นรถในส่วนขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 3,500 คัน รถร่วมของบริษัทเอกชนอีก 3,500 คัน เพื่อเข้ามาช่วยให้บริการประชาชน

''รถร่วมของเอกชนเพิ่งลงทุนนำรถไปเปลี่ยนเครื่องยนต์ใช้เชื้อเพลิงเอ็นจีวีไปเป็นจำนวนมากแล้ว ยังไม่ทันที่จะได้รับผลตอบแทน รัฐบาลก็มาประกาศว่า จะเปิดประมูลจัดหารถใหม่ 6,000 คัน มาให้บริการกับประชาชน ถามว่าถ้านำรถส่วนนี้เข้ามาแล้วรถร่วมของเอกชนที่ให้บริการอยู่จะไปอยู่ที่ไหน รถพวกเรามีหวังถูกเบียดตกขอบแน่ๆ และเชื่อว่าบริษัทเอกชนกว่า 89 บริษัท ที่ทำธุรกิจเรื่องนี้คงจะไม่ยอมอยู่เฉยให้รัฐบาลทำอะไรได้ง่ายๆ หรอก'' นายฉัตรชัยกล่าว

นายฉัตรชัยกล่าวต่อว่า หากรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ฝ่ายเอกชนก็พร้อมที่จะสนับสนุน แต่ควรมีวิธีการที่ดีกว่านี้ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยถามความเห็นจากเอกชนเลย มาทราบเรื่องกันว่าจะมีโครงการนี้ ก็เมื่อมีการนำเรื่องไปอภิปรายในสภาผู้แทนแล้ว รูปแบบการดำเนินงานก็มีลักษณะไม่ชอบมาพากลหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดที่จะจัดหาบริษัทเอกชนมาเป็นคนกลางจัดหารถให้รัฐบาลเช่า คันละ 5,100 บาท/วัน แถมก่อหนี้ผูกพัน 10 ปี รวมวงเงินกว่าแสนล้านบาท ถามว่าถ้าในอนาคตโครงการนี้มีปัญหาเกิดขึ้นแล้วรัฐบาลชุดนี้ไม่อยู่ใครจะต้องรับผิดชอบ คำตอบก็คงหนีไม่พ้น ขสมก. เหมือนเคย ไม่อยากให้รัฐบาลเร่งรีบทำอะไรจนเกินไปจนผิดสังเกตแบบตีหัวแล้วไป เพราะขณะนี้เรื่องงบประมาณกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภา แต่รัฐบาลกลับจะรีบทำโครงการนี้ อาจทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า เป็นวิธีการหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการตรวจสอบหรือเปล่า

นายฉัตรชัยกล่าวว่า หากรัฐบาลตัดสินใจว่าจะจัดหารถใหม่มาแทนรถเก่าจริงๆ วิธีการที่น่าจะได้ประโยชน์กับทุกฝ่ายก็ควรใช้วิธีการจัดซื้อแทนการเช่า หากสามารถยกเว้นภาษีการนำเข้ารถได้ ราคารถก็จะแค่คันละไม่เกินสองล้านบาท และแบ่งจำนวนรถออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนแรก 3,000 คัน ให้ ขสมก.นำไปบริหาร ส่วนอีก 3,000 คัน ให้เอกชนมาบริหาร อาจจะให้บริษัทเอกชนกู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำมาผ่อนซื้อ หากทำลักษณะนี้ ค่าโดยสารก็ไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นไปถึง 15 บาท ตลอดสาย และจะทำให้เกิดการแข่งขันการให้บริการระหว่างเอกชนและ ขสมก. หากบริษัทเอกชนทำไม่ดีจะยึดรถคืนไปก็ได้

''การที่รัฐบาลแสดงจุดยืนว่า จะต้องหารถใหม่มาให้ได้โดยจะใช้วิธีการเช่าแทนการซื้อ และให้บริษัทรายเดียวจัดหารถให้ทั้งหมด ก็จะทำให้รัฐบาลถูกมองว่าจะมีผลประโยชน์อะไรแอบแฝงหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะขณะนี้เริ่มมีข่าวออกมาแล้วว่า โครงการนี้มีบริษัทเอกชน 6 ราย ถูกตั้งแท่นให้เข้ามาร่วมการประมูลงาน และในจำนวนนี้เป็นบริษัทจีน 2-3 บริษัทด้วย'' นายฉัตรชัยกล่าว

ด้าน นายพิเณศวร์ พัวพัฒนกุล ผู้อำนวยการ ขสมก.กล่าวว่า ขสมก.ยังไม่สามารถให้ความเห็นเรื่องนี้ได้ เนื่องจากเรื่องนี้ยังต้องนำเข้าสู่การหารือของที่ประชุม ครม.อีกครั้ง ไม่ทราบว่าผลออกมาจะเป็นอย่างไร หากที่ประชุม ครม.เห็นชอบแล้ว ในทางปฏิบัติก็จะตั้งคณะกรรมการขอบเขตงานและกำหนดร่างทีโออาร์ ขึ้นมา 1 ชุด จากนั้นก็จะนำทีโออาร์ขึ้นประกาศในเว็บไซต์ของ ขสมก.และกรมบัญชีกลาง จากนั้นทางกรมบัญชีกลางก็จะตั้งคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดอีกหนึ่งชุด เพื่อคัดเลือกบริษัทเอกชนที่ร่วมประมูล เนื่องจากวงเงินงบประมาณโครงการนี้ มีมูลค่าเกิน 300 ล้านบาทขึ้นไป โดยในส่วนของสเปครถยนต์ คาดว่าจะมีข้อกำหนดมากกว่า 100 ข้อขึ้นไป และการดำเนินงานโครงการนี้ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบขนส่งทางราง เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม นายกฯก็ได้เน้นย้ำว่า ควรต้องดำเนินการโดยเร็วที่สุด เพราะเป็นโครงการที่มีประโยชน์กับประชาชน

''หากนำเสนอโครงการนี้ต่อที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์นี้ คาดว่าการดำเนินการทุกขั้นตอน ตั้งแต่การกำหนดทีโออาร์ ไปจนถึงการคัดเลือกบริษัทเอกชนเข้ามารับงาน จะใช้เวลาประมาณ 70 วัน น่าจะได้ข้อยุติ หรือภายในเดือนตุลาคมนี้ จะรู้ว่าบริษัทใดจะเป็นผู้จัดหารถเมล์ดังกล่าว'' นายพิเณศวร์กล่าว

ด้านนายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐบาลเร่งรีบอย่างผิดปกติ เพราะถ้าพิจารณาตาม พ.ร.บ.ร่วมกิจการงานภาครัฐและเอกชน พ.ศ.2535 จะพบว่า โครงการที่มีมูลค่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาว่าคุ้มทุนหรือก่อให้เกิดผลกระทบหรือไม่ ยิ่งถ้าเป็นโครงการวงเงิน 5,000 ล้านบาทขึ้นไป จะยิ่งกำหนดรายละเอียดมากกว่าเดิม โดยเฉพาะคณะกรรมการดูแลโครงการ ซึ่งจะประกอบด้วยตัวแทนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ตนกำลังรอดูเงื่อนไขทีโออาร์ ก่อนว่าจะมีรายละเอียดหรือความผิดปกติอะไรบ้าง หลังจากนั้นจะมาตรวจสอบก่อนเข้าสู่กระบวนการถอดถอนคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องโครงการนี้ ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ต่อไป ส่วนที่จะเปิดให้บริษัทเอกชนและผู้ประกอบรถยนต์ในประเทศเข้าร่วมเสนอราคา ตนคิดว่าแม้รัฐบาลจะอ้างว่าอยากสร้างงานให้คนไทย แต่ในกระบวนการจริงๆ แล้ว เชื่อว่าบริษัทที่จะได้โครงการนี้คงหนีไม่พ้นบริษัทของจีน ซึ่งมี ''มิสเตอร์ที'' เป็นผู้เกี่ยวข้อง และอาจจะได้ประโยชน์จากโครงการนี้ด้วย


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์