แขวนคอซัดดัม ฮุสเซนแล้ว โลกประณาม ลงโทษประหาร

แขวนคอ"ซัดดัม ฮุสเซน"


แขวนคอ"ซัดดัม ฮุสเซน"แล้ว โลกประณาม ลงโทษประหาร
สื่อยันมีการถ่ายทำทุกขั้นตอน

อิรักไม่สนใจคำวิงวอน เดินหน้าประหารชีวิตเป็นคนแรกพร้อมน้องชายและคนสนิท บุตรสาวขอให้ฝังศพพ่อที่เยเมน สหรัฐ-อังกฤษพร้อมรับมือเหตุรุนแรง บุชฯชื่นชมกระบวนการยุติธรรม ทีวี.สหรัฐฯคิดหนักแพร่ภาพแขวนคอหรือไม่



*แขวนคอซัดดัมแล้ว*


สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นของสหรัฐรายงานข่าวด่วนอ้างรายงานข่าวจากสื่อภาษาอาหรับ รวมทั้งสำนักข่าวอัล อาราบิยา ของซาอุดิอาระเบีย และอัล เฮอร์รา ที่สหรัฐสนับสนุนด้านการเงิน
ต่างรายงานข่าวด่วนว่าอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน แห่งอิรัก วัย 69 ปีได้ถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอแล้ว ก่อนเวลา 06.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือราว 10.00 น. วันที่ 30 ธันวาคมตามเวลาในไทย เพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น ซึ่งเร็วกว่ากำหนดถึง 5 ชั่วโมง ปิดฉากชีวิตอดีตผู้นำอิรักที่ปกครองอิรักมาร่วม 3 ทศวรรษ

ขณะที่สำนักข่าวดีพีเอของเยอรมนี รายงานอ้างสถานีโทรทัศน์ อิรักกิยา ว่า การประหารชีวิตนายซัดดัมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยต่อหน้าบุคคลจากหลายฝ่ายร่วมเป็นสักขีพยาน

ต่อมา เจ้าหน้าที่อิรักซึ่งร่วมเป็นสักขีพยานในการประหาร แถลงยืนยันอย่างเป็นทางการผ่านสถานีโทรทัศน์ของทางการว่านายซัดดัมพร้อมจำเลยร่วมอีก 2 คน ถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอแล้ว




*ประเดิมแขวนคอเป็นคนแรก*


สถานีโทรทัศน์อิรักกิยา ของทางการอิรัก รายงานว่า ในขั้นตอนการประหารชีวิตนั้น นายซัดดัมถูกแขวนคอก่อนเป็นคนแรก ตามด้วยนายบาร์ซาน ฮัสซัน อัล-ทิกริติ น้องชายซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรอง และนายอาวัด ฮาเหม็ด อัล-บันดาร์ อดีตผู้พิพากษาศาลปฏิวัติ ระหว่างนั้นสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ได้เปิดเพลงชาติและยังได้ทำตัววิ่งเป็นข้อความว่า การประหารชีวิตนายซัดดัม เป็นเครื่องหมายของการสิ้นสุดยุคมืดในประวัติศาสตร์ของอิรัก

ด้านนางมาเรียม อัล-เรเยส ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ได้มีการบันทึกภาพขั้นตอนการประหารชีวิตไว้ด้วยกล้องเพียงตัวเดียว และมีแพทย์อยู่ในเหตุการณ์ด้วย พร้อมกับกล่าวว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์ให้ภาพนี้ได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณะ ส่วนตัวเธอไม่ได้เข้าร่วมดูการประหารครั้งนี้ เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรีนูรี อัล-มาลิกี ที่ได้ส่งผู้แทนไปร่วมเป็นสักขีพยานแทน

ขณะสถานีโทรทัศน์อื่น ๆ ของอาหรับ รวมทั้งอัล อาราบิยา ของซาอุดิอาระเบีย และอัล เฮอร์ราที่สหรัฐ สนับสนุนทางการเงิน ได้แพร่ภาพดวงอาทิตย์ขึ้นเหนือจตุรัส เฟอร์ดุส ในกรุงแบกแดดที่นาวิกโยธิน ได้ล้มอนุสาวรีย์ของนายซัดดัมลงมา เมื่อวันที่ 9 เมษายน ปี 2546

ช่วงเดียวกัน สถานีโทรทัศน์ของอิรักได้แพร่ภาพความโหดร้ายในยุคที่นายซัดดัมเรืองอำนาจ รวมทั้งภาพกลุ่มชาย

ในเครื่องแบบนำระเบิดไปวางไว้ใกล้กับหน้าอกของวัยรุ่นคนหนึ่ง ก่อนจะระเบิดร่างเหยื่อผู้นั้นจนแหลกกระจุย กับภาพชายกลุ่มหนึ่งในสภาพถูกสวมกุญแจมือ ถูกจับโยนลงมาจากอาคารสูง

สำนักข่าว อัล จาซีรา ของการ์ตา ได้แพร่ภาพช่วงชีวิตของนายซัดดัม สมัยยังเรืองอำนาจรวมทั้งภาพที่สวมหมวก และยิงปืนไรเฟิลขึ้นสู่ท้องฟ้า รวมถึงภาพหน่วยทหารปืนใหญ่ของอิรัก ในสมัยสงครามอ่าวเปอร์เซีย เมื่อปี 2534

รายงานข่าวแจ้งว่ารัฐบาลอิรัก ได้เร่งรัดให้การประหารมีขึ้นก่อนวันสิ้นปี และก่อนเทศกาลอีดิลอัฎฮาจะมาถึงในเที่ยงวันที่ 30 ธันวาคมตามเวลาท้องถิ่น และรัฐบาลอิรักได้เก็บความลับเกี่ยวกับแผนการประหารชีวิต รวมทั้งสถานที่ใช้ประหารไว้อย่างดียิ่ง เพราะเกรงว่าฝ่ายที่สนับสนุนอดีตผู้นำอิรักจะก่อความวุ่นวาย จนอาจลุกลามจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง


เนื่องจากการประหารชีวิตนี้จะสร้างความพึงพอใจให้กับมุสลิมชีอะต์ที่ตกเป็นเหยื่อในสมัยที่นายซัดดัมเรืองอำนาจ แต่ก็จะโหมความแค้นให้กับชาวสุหนี่ที่สนับสนุนนายซัดดัม ขณะที่ชาวเคิร์ดเองก็ไม่สนับสนุนการประหาร เพราะต้องการให้พิจารณาคดีที่นายซัดดัมได้ปราบปรามชาวเคิร์ดเสร็จสิ้นเสียก่อน


ทั้งนี้ นายซัดดัมและอดีตรัฐมนตรีใกล้ชิดอีก 6 คน ถูกตัดสินเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนว่า มีความผิดฐานก่ออาชญา กรรมต่อมนุษยชาติ

กรณีสั่งให้สังหารหมู่มุสลิมชีอะต์ 148 คน ในเมืองดูจาอิล เมื่อปี 2525 เพื่อตอบโต้ความพยายามลอบสังหารตัวเอง ต่อมาศาลสูงสุดได้ตัดสินเมื่อวันที่ 26 ธันวาคมยืนคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ประหารชีวิตนายซัดดัม

และจำเลยร่วมอีก 2 คน คือ นายบาร์ซาน น้องชาย และนายอาวัด อาห์เหม็ด อัล-บันดาร์ ภายใน 30 วันตามรัฐธรรมนูญอิรัก คำพิพากษาจะต้องได้รับการรับรองจากประธานาธิบดีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงก่อนจึงจะแขวนคอซัดดัมได้

ก่อนหน้านี้เพียงวันเดียว นายกรัฐมนตรีนูรี อัล-มาลิกิ แห่งอิรัก ประกาศว่าจะไม่เลื่อนการประหารชีวิตออกไปอย่างเด็ดขาด และจะไม่มีการทบทวนคำตัดสินประหารชีวิตด้วยเช่นกัน ผู้ใดก็ตามที่ไม่ยอมรับการประหารชีวิตนายซัดดัม ถือเป็นการทำลายความศรัทธาของชาวอิรัก


*บุตรสาวขอให้ฝังศพพ่อที่เยเมน *


สถานีโทรทัศน์อิรักรายงานว่าในช่วงชั่วโมงแห่งความตายที่กำลังใกล้เข้ามานั้น นายซัดดัมมีโอกาสได้พบหน้าน้องชาย 2 คน ภายในห้องขังเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม และได้มอบของส่วนตัวให้น้องชายทั้ง 2 คนรวมถึงสำเนาหนังสือแสดงเจตจำนงค์ของตัวเองด้วย

นายนาจิบ อัล-นูไอมี หนึ่งในคณะทนายของนายซัดดัมเผยที่กรุงโดฮา ในกาตาร์ว่าได้พยายามอย่างยิ่งที่จะขอพบนายซัดดัมเป็นครั้งสุดท้าย เนื่องจากบุตรสาวของนายซัดดัมที่อยู่ในกรุงอัมมาน นครหลวงของจอร์แดน ร่ำไห้อยากพบบิดา แต่คำขอนี้ได้รับการปฏิเสธ

ทนายความของนายซัดดัมกล่าวด้วยว่า ครอบครัวของนายซัดดัมได้สวดมนต์ภาวนาให้แก่อดีตผู้นำอิรักหลังจากทราบข่าวว่าจะถูกแขวนคอ รวมทั้งขอให้พระผู้เป็นเจ้ารับวิญญาณไปสู่สุคติร่วมกับบรรดาผู้พลีชีพทั้งหลาย.

แหล่งข่าวใกล้ชิดครอบครัวนายซัดดัมเผยว่านางรักฮัด บุตรสาวของนายซัดดัม ซึ่งลี้ภัยอยู่ที่จอร์แดน หลังจากสหรัฐบุกอิรักเมื่อปี 2546 ได้ร้องขอให้ฝังศพพ่อที่เยเมนเป็นการชั่วคราว จนกว่าอิรักจะได้รับการปลดปล่อย จึงจะนำศพกลับไปฝังที่อิรักอีกครั้ง

ทนายของนายซัดดัมกล่าวว่า หลังจากถูกแขวนคอแล้ว ฝ่ายสหรัฐต้องการปกป้องศพของนายซัดดัมไม่ให้ถูกหยามเกียรติ เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับอดีตผู้นำอิรักคนอื่น ๆ ที่เคยถูกโค่นอำนาจ

เพราะถ้าปล่อยให้นายซัดดัมถูกหยามเกียรติหรือเผชิญกับความอัปยศก่อนถูกแขวนคอ หรือปล่อยให้ศพได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดี สหรัฐอาจจะถูกประนามได้


นายคาลิลได้รับจดหมายไปรษณีย์จาก สหรัฐ


ก่อนหน้านั้น เครือข่ายโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น ของสหรัฐรายงานข่าวด่วนว่าโดยอ้างคำเปิดเผยของนายคาลิล ดูไลมี หัวหน้าคณะทนายความของอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน แห่งอิรักว่าได้รับแจ้งทางจดหมายไปรษณีย์หรืออีเมลจากกองทัพสหรัฐว่า ทางการสหรัฐได้ส่งตัวนายซัดดัมจากเรือนจำที่อยู่ภายใต้การควบคุมของสหรัฐให้กับทางการอิรักบริเวณลานประหารก่อนกำหนดประหารชีวิตเพียงเล็กน้อย ซึ่งการส่งมอบตัวครั้งนี้

หมายถึงว่า ได้ก้าวไปสู่ขั้นตอนสุดท้ายของการเตรียมการประหารชีวิตอดีตผู้นำเผด็จการผู้นี้แล้ว

ด้านสถานีโทรทัศน์เอ็นบีซี,ซีบีเอสและช่องฟ็อกซ์ นิวส์ ต่างรายงานอ้างคำเปิดเผยของแหล่งข่าวระดับสูงในกองทัพสหรัฐว่า กองทัพสหรัฐ ซึ่งควบคุมตัวนายซัดดัมนับตั้งแต่ถูกจับเมื่อปี 2546

รวมทั้งช่วงระหว่างการพิจารณาคดีการสังหารหมู่มุสลิมชีอะต์ ที่หมู่บ้านดูจาอิล เมื่อปี 2525 และคดีสังหารหมู่ชาวเคิร์ด ได้รับการร้องขออย่างเป็นทางการจากรัฐบาลอิรัก ให้ส่งตัวนายซัดดัมให้กับทางการอิรัก นอกจากนี้ ทางการสหรัฐยังได้ขอให้ทนายของนายซัดดัม ส่งคนไปรับของส่วนตัวของนายซัดดัมและของนายบาร์ซาน ทิกริติ

นายดูไลมี เผยด้วยว่าได้สอบถามไปยังกองทัพสหรัฐว่าได้ส่งตัวนายซัดดัมให้ทางการอิรักแล้วหรือไม่ แต่สหรัฐไม่ได้ตอบกลับ เชื่อว่านายซัดดัมถูกส่งตัวไปแล้ว


*ไม่สนใจคำขอเยเมนและลิเบีย*


สำนักข่าวซาบาของเยเมนรายงานว่าก่อนหน้าที่นายซัดดัมจะถูกแขวนคอ 11 ชั่วโมง นายกรัฐมนตรีของเยเมนได้เขียนจดหมายถึงประธานาธิบดีสหรัฐและอิรักขอให้เว้นโทษตายให้กับนายซัดดัม เพราะเกรงว่าจะยิ่งกระตุ้นให้ศึก 2 นิกายระหว่างชีอะต์กับสุหนี่รุนแรงขึ้น

โดยให้เหตุผลว่าการเว้นโทษประหารชีวิตนายซัดดัมจะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีขึ้นอันจะช่วยรักษาบาดแผลที่เจ็บปวดในอิรักได้

ขณะที่สำนักข่าวอัล จาซีราในกาตาร์อ้างถ้อยแถลงของประธานาธิบดีโมอัมมาร์ กัดดาฟี แห่งลิเบียที่วิงวอนให้ผ่อนปรนโทษประหารชีวิตนายซัดดัม เนื่องจากการพิจารณาคดีดำเนินไปโดยผิดกฎหมาย ทางที่ดีควรจะนำตัวให้ศาลโลกพิจารณาคดี ในฐานะเชลยสงครามมากกว่า


*ผู้พิพากษาสหรัฐเมินคำขอของทนาย*


สถานีโทรทัศน์ซีบีเอสรายงานว่า ผู้พิพากษา คอลลีน คอลลาร์-โคเทลลีย์ แห่งศาลแขวงของสหรัฐ ได้ปฎิเสธที่จะขัดขวางกองทัพสหรัฐ ในการส่งตัวนายซัดดัม หลังทนายความของนายซัดดัมพยายามดิ้นเฮือกสุดท้าย เพื่อให้ชะลอการนำตัวอดีตผู้นำอิรักเข้าสู่ตะแลงแกง โดยก่อนหน้านี้ ทนายของนายซัดดัมได้ขอให้ผู้พิพากษาโคเทลลีย์ ขวางการส่งตัวนายซัดดัมให้อิรัก โดยอ้างว่าเป็นเชลยศึก ควรได้รับการคุ้มครองตามสนธิสัญญาเจนีวา นอกเหนือจากอยู่ระหว่างการถูกฟ้องร้องในคดีแพ่งในกรุงวอชิงตันด้วย ดังนั้นจึงยังคงมีสิทธิ์ในฐานะจำเลยในคดีแพ่ง ซึ่งจะถือว่าเป็นการผิดกฎหมาย ถ้านายซัดดัมถูกประหารชีวิตไปเสียก่อน

แต่ผู้พิพากษาคอลลีน คอลลาร์ โคเทลลี ได้พิพากษาว่านายซัดดัมไม่ได้อยู่ในความควบคุมของสหรัฐ ดังนั้น จึงไม่อยู่ในขอบเขตของอำนาจศาล.


*สักขีพยานการประหารซัดดัม *


สถานีโทรทัศน์อิรักรายงานว่าก่อนหน้าที่การแขวนคอจะมีขึ้น บรรดาผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ร่วมเป็นสักขีพยานในการประหารชีวิตครั้งนี้ ซึ่งมีทั้งผู้นำศาสนา , ฝ่ายนิติบัญญัติ, เจ้าหน้าที่ระดับสูงและญาติของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อความทารุณโหดร้ายในยุคซัดดัม ได้ไปรวมตัวกันที่เขตกรีนโซน ซึ่งมีการอารักขาความปลอดภัยสูงที่สุดในกรุงแบกแดด

ด้านรัฐบาลอิรักได้จัดเตรียมเอกสารจำเป็นไว้พร้อมแล้ว ที่วมถึงใบแดง ซึ่งเป็นตัวแทนคำสั่งให้ประหาร และเคยใช้ในสมัยนายซัดดัม



*สหรัฐ-อังกฤษพร้อมรับมือเหตุรุนแรง*


นาย ไบรอัน วิทแมน โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐเปิดเผยว่าทหารอเมริกันในอิรักอยู่ในขั้นเตรียมพร้อมเต็มที่เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นได้ทุกเมื่อจากเงื่อนไขทางสังคม

และสถานการณ์ความมั่นคงปลอดภัยในอิรักขณะนี้ โดยเฉพาะหลังจากนายซัดดัมถูกประหารชีวิตแล้ว

อย่างไรก็ดี นายวิทแมนปฏิเสธที่จะให้ความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของทหารสหรัฐในบริเวณที่จะใช้ประหารชีวิตอดีตผู้นำอิรัก เพื่อเพิ่มการรักษาความปลอดภัย

โดยระบุเพียงแค่ว่าบรรดาผู้บัญชาการทหารอิรักมีอำนาจที่จะสั่งย้ายกำลังพลหากเห็นว่าเหมาะสม นอกจากนี้ ยังปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นที่ว่าการประหารชีวิตนายซัดดัม อาจเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช อาจใช้เพื่อทบทวนยุทธศาสตร์ใหม่ของสหรัฐในอิรัก

ด้านกระทรวงกลาโหมของอังกฤษ พันธมิตรที่เหนียวแน่นของสหรัฐในสงครามอิรัก และได้ประจำกำลังทหารไว้ที่

เมืองบาสรา เมืองใหญ่อันดับ 2 ของอิรัก แถลงว่า ทหารอังกฤษในอิรักเตรียมพร้อมรับมือกับการถูกโจมตี หลังนายซัดดัม ถูกแขวนคอ พร้อมกันนั้น ได้มีการเตือนภัยเป็นพิเศษ สำหรับการเตรียมพร้อมรับความเป็นไปได้ว่าอาจมีการโจมตีทหารอังกฤษ

ขณะที่ครอบครัวของทหารที่เสียชีวิตก่อนหน้านี้ ยอมรับว่ารู้สึกวิตกว่า ทหาร 7,100 คนที่ประจำการอยู่ใน

พื้นที่ทางใต้ของอิรัก จะตกเป็นเป้าการโจมตี หลังการประหารซัดดัม


*โทรทัศน์สหรัฐคิดไม่ตกเรื่องแพร่ภาพแขวนคอ*


รายงานข่าวแจ้งว่าผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ในสหรัฐอยู่ในภาวะคิดไม่ตกว่าจะออกอากาศภาพแขวนคอนายซัดดัม หรือไม่ หากได้รับภาพดังกล่าว ในขณะที่ทั่วโลกกำลังรอคอยดูฉากชีวิตสุดท้ายของอดีตผู้นำอิรักอย่างใจจดใจจ่อ

ผู้บริหารของสถานีโทรทัศน์เอบีซี, เอ็นบีซี, ซีเอ็นเอ็น และฟ็อกซ์นิวส์ ต่างออกตัวว่า หากได้รับภาพการประหารก็จะขอพิจารณาดูก่อนจึงจะตัดสินใจว่าจะออกอากาศหรือไม่ แต่ที่แน่นอนคือได้สั่งตัดเข้ารายการพิเศษทันทีที่ได้รับข่าวยืนยันว่านายซัดดัมถูกแขวนคอแล้ว อย่างไรก็ดี ไม่มีสถานีโทรทัศน์ใดคิดจะออกอากาศสดภาพการประหาร

นายพอล ฟรีดแมน รองประธานสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสนิวส์ เผยว่า โดยส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วยกับการออกอากาศภาพการประหารชีวิต ไม่ว่าจะเป็นนายซัดดัม หรือใครก็ตาม และหากมีการบันทึกภาพจริง คิดว่าคงหนีไม่พ้นที่จะมีการนำไปเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต.

ก่อนหน้านี้สื่อจำนวนมากรายงานว่า รัฐบาลอิรักเตรียมบันทึกวิดีทัศน์ภาพการแขวนคอนายซัดดัม แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะนำภาพเผยแพร่ต่อสาธารณชนหรือไม่ นิตยสารฮอลลีวู้ด รีพอร์เตอร์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 นี้ รัฐบาลอิรักได้เผยแพร่วิดีทัศน์การแขวนคอนักโทษ 13 ราย


*ชาวเคิร์ดใจจดใจจ่อ รอคอยการประหาร*


สำนักข่าวต่างประเทศอ้างความเห็นของชาวเคิร์ด ที่ตกเป็นเหยื่อการสังหารหมู่ไม่ต่ำกว่า 100,000 คน ในปฏิบัติการอันฟัล ระหว่างปี 2530-2531 รวมไปถึงเหยื่อแก๊สพิษถึง 5,000 คน ในเมืองฮาลับจาเมื่อปี 2531 เผยว่าเฝ้ารอการประหารชีวิตนายซัดดัม

อย่างใจจดใจจ่อ หลังจากเฝ้ารอคอยโอกาสนี้มานานแล้ว แต่ก็วิตกเช่นเดียวกับชาวอิรักจำนวนมากว่าการปิดฉากอดีตผู้นำอิรักจะทำให้ความขัดแย้งระหว่างนิกายทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ด้านชุมชนชาวอเมริกันเชื้อสายอิรัก มองว่า การประหารชีวิตนายซัดดัม จะยิ่งกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงในประเทศต่างๆมากขึ้น และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆต่อชาวอิรัก

โดยคณะกรรมการต่อต้านการเลือกปฏิบัติอเมริกัน-อาหรับ ในดีทรอยต์ซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีผู้มีเชื้อสายตะวันออกกลางอาศัยอยู่มากที่สุดในสหรัฐ รวมทั้งชุมชนชาวอาหรับเชื้อสายอิรัก ให้ความเห็นว่า แม้เหยื่อที่เคยถูกนายซัดดัมทำร้ายจะดีใจที่อดีตผูนำเผด็จการผู้นี้ถูกประหารชีวิต แต่ชาวอิรักส่วนใหญ่ต่างหวาดกลัวสิ่งจะเกิดขึ้นหลังจากนี้

พร้อมกับเสริมว่า การประหารชีวิตนายซัดดัมอาจทำให้รัฐบาลสหรัฐพอใจและรู้สึกถึงความสำเร็จไม่มากก็น้อย แต่จะไม่ช่วยอะไรชาวอิรักได้แม้แต่น้อย


*ปฏิกริยาโลก*

พระคาร์ดินัล เรนาโต รัฟฟาเอล มาร์ติโน หัวหน้าแผนกยุติธรรมและสันติภาพของสำนักวาติกัน กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการก่ออาชญากรรมเพื่อเป็นการลงโทษผู้ก่ออาชญากรรม

แม้แต่นายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ ของอังกฤษ ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐนับแต่บุกอิรักเมื่อปี 2546 ก็ไม่เห็นด้วยกับการลงโทษประหารชีวิต โดยระบุว่าการประหารชีวิต ซัดดัม ควรขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของชาวอิรักเอง

เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรีโรมาโน โปรดี ของอิตาลี ก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับการลงโทษประหารชีวิต ไม่ว่าจะในประชาคมยุโรปหรือที่ใด ๆ ก็ตาม ขณะที่รัฐบาลบราซิลและชิลี

ซึ่งคัดค้านการที่สหรัฐบุกอิรักมาโดยตลอดได้ประณามการประหารชีวิตอดีตผู้นำอิรัก เพราะไม่เชื่อว่าจะเป็นหนทางไปสู่สันติภาพในอิรักได้ ส่วนประธานาธิบดีมูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบีย ประณามการประหาร ซัดดัม ว่าขัดต่อกฎหมาย เพราะ ซัดดัม ถือเป็นเชลยศึก


*สื่อมะกันระบุไม่ใช่ทางแก้*


ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ของสหรัฐ ได้ตีพิมพ์บทสรุปว่า การแขวนคอ ซัดดัม ไม่ใช่การแก้ปัญหาในอิรัก เช่นเดียวกับการที่สหรัฐโค่นล้มผู้นำอิรักลงแล้วคิดว่าทุกอย่างจะจบเพียงแค่นั้น ซึ่งที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่า ไม่เป็นความจริง

ส่วนหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ระบุว่า การประหาร ซัดดัม เป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงความพิกลพิการของระบบยุติธรรมในอิรัก และยังเป็นการโหมเปลวเพลิงแห่งความแตกแยกในสังคมของชาวอิรักให้ลุกโชนยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ รายงานอ้างการเปิดเผยของนางมาเรียม อัล-ราเยส ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและอดีตสมาชิกรัฐสภาอิรัก ว่ามีกล้องบันทึกวิดีทัศน์ 1 ตัว บันทึกภาพการประหารดังกล่าว เริ่มจากการแขวนคอซัดดัม

ตามด้วยนายบาร์ซาน อิบราฮิม ฮัสซัน อัล-ติกริต น้องชายต่างมารดาและอดีตผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองอิรัก ปิดท้ายด้วยนายอาวัด อาเหม็ด อัล-บันดาร์ อัล-ซาดุน อดีตหัวหน้าศาลปฏิวัติ โดยมีแพทย์ 1 คน อยู่ในที่ประหารด้วย ทั้งหมดถูกแขวนคอในคดีสังหารหมู่ชาวชีอะห์ 148 คน ในหมู่บ้านดูจาอิลเมื่อปี 2525

และจะเผยแพร่ภาพบันทึกการประหารต่อไป นางราเยส เผยว่าเธอไม่ได้เป็นประจักษ์พยานในที่ประหาร ส่วนนายกรัฐมนตรีนูรี อัล-มาลิกี ก็ไม่ได้อยู่ในที่ประหารเช่นกัน แต่ได้ส่งคนสนิทไปเป็นประจักษ์พยานแทน


ประธานาธิบดีจอร์จ พร้อมรับมือเหตุรุนแรง


ส่วน ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐสหรัฐ พร้อมรับมือเหตุรุนแรง หลังนายซัดดัม ฮุสเซน ถูกประหารชีวิต โดยย้ำว่านายซัดดัม ถูกประหารหลังได้รับการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรม อันเป็นกระบวนการยุติธรรมที่เจ้าตัวไม่เคยให้คนที่ตกเป็นเหยื่อในระบอบการปกครองป่าเถื่อนได้รับมาก่อน และการพิจารณาคดีนายซัดดัมครั้งนี้ ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงการมุ่งสู่อนาคตของชาวอิรักหลังถูกกดขี่นานหลายทศวรรษ

ส่วนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐให้ความเห็นว่า เคารพต่อการตัดสินใจประหารชีวิตซัดดัมของทางการอิรัก ในเมื่อเรื่องนี้อยู่บนพื้นฐานของหลักนิติธรรม

ด้านกลุ่มสิทธิมนุษยชนประณามการแขวนคออดีตผู้นำอิรัก โดยชี้ว่า แม้นายซัดดัม ต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง แต่การใช้โทษประหารชีวิตถือเป็นการลงโทษที่ป่าเถื่อน ไม่มีความชอบธรรม

แหล่งข่าวเผยว่า นางรักฮัด บุตรสาวคนโตของ ซัดดัม ซึ่งลี้ภัยอยู่ที่จอร์แดน หลังจากสหรัฐบุกอิรักเมื่อปี 2546 ร้องขอให้ฝังศพบิดาที่เยเมนเป็นการชั่วคราว จนกว่าอิรักจะได้รับการปลดแอกจึงจะนำศพกลับไปฝังที่อิรักอีกครั้ง ก่อนหน้านี้ทนายความของ ซัดดัม เผยว่า ครอบครัวของ ซัดดัม กำลังสวดมนต์ภาวนาให้แก่ ซัดดัม หลังจากทราบข่าวเขาจะถูกแขวนคอในเช้าวันนี้ และขอให้พระผู้เป็นเจ้ารับวิญญาณเขาไปสู่สุคติร่วมกับบรรดาผู้พลีชีพทั้งหลาย.

ขอขอบคุณ


ข้อมูลที่มีคุณภาพ
จาก คม.ชัด.ลึก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์