แก้ไข รัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ แจ่มชัดยิ่ง ขึ้นกับ ยุทธวิธี

แก้ไข รัฐธรรมนูญ "ยุทธศาสตร์" แจ่มชัดยิ่ง ขึ้นกับ "ยุทธวิธี"แก้ไข รัฐธรรมนูญ "ยุทธศาสตร์" แจ่มชัดยิ่ง ขึ้นกับ "ยุทธวิธี"


หากประเมินจากน้ำเสียงของ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ประสานเข้ากับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประสานเข้ากับ พ.อ.อภินันท์ วิริยะชัย

ภายในพรรคเพื่อไทยมิได้ "ขัดแย้ง" กันในเรื่องการจัดการกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

ทั้ง 3 คนอันถือว่าเป็นบุคคลสำคัญของพรรคเพื่อไทยแถลงตรงกันว่า จะต้องมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน

นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ระบุเวลาด้วยซ้ำไปว่าต้องภายใน 1 ปี

เพราะไม่เพียงแต่เป็นสัญญาประชาคมที่พรรคเพื่อไทยประกาศในห้วงของการหาเสียง หากที่สำคัญยิ่งกว่านั้น

1 ยังเป็น "นโยบาย" ของพรรคเพื่อไทย

ขณะเดียวกัน 1 ยังได้กำหนดเอาไว้ใน 1 ในนโยบาย "เร่งด่วน" ที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาว่าจะดำเนินภายในระยะเวลา 1 ปี

ขณะเดียวกัน หากฟังเสียงของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อย่างละเอียด รอบด้าน

"แม้จะเป็นนโยบายตามที่ได้หาเสียงไว้ช่วงก่อนการเลือกตั้ง แต่ก็ระบุว่าจะทำภายใน 1 ปี แต่ขณะนี้รัฐบาลเพิ่งทำงานมาได้เพียง 4 เดือนเท่านั้น"

"เวลา" ต่างหากที่ภายใน "พรรคเพื่อไทย" ยังไม่ได้กำหนด

จากนี้จึงเห็นได้ว่า ในทางยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย และรัฐบาล ต้องเดินหน้าในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน

ปมเงื่อนอยู่ตรง "เวลา" อันเป็นเรื่องในทาง
"ยุทธวิธี"

ปมเงื่อนอยู่ตรงที่การบริหารจัดการเพื่อการขับเคลื่อนเรื่องนี้จะทำอย่างไรจึงจะไม่สะเปะสะปะ อันเป็นเรื่องในทาง "ยุทธวิธี" อีกเหมือนกัน

ความเห็นต่างภายในพรรคเพื่อไทยจึงเป็นความเห็นต่างในเรื่อง
"เวลา"

ความเห็นต่างภายในรัฐบาลจึงเป็นความเห็นต่างในเรื่องกระบวนการอันนำไปสู่การขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ

กระนั้น หากประเมินจากท่าทีของ "วิปรัฐบาล" ยิ่งเห็นความคืบหน้า

มติที่ประชุมวิปรัฐบาลเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม คือ "เห็นด้วยที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ" ซึ่งอาจเป็นในเดือนมกราคม หรือไม่ก็เดือนกุมภาพันธ์ 2555

นี่เป็น "ธง" ที่ปรากฏ "นำ" หน้าไปแล้ว

สะท้อนให้เห็นว่าโดยพื้นฐาน ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ว่าพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ไม่ว่าพรรคพลังชล ไม่ว่าพรรคมหาชน ล้วนมีความเห็นร่วมอันเป็นเอกภาพ

คือ ต้องเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญภายในสมัยประชุมนิติบัญญัตินี้แน่นอน

จุดอันเปราะบางเป็นอย่างมากที่หลายฝ่ายหวั่นเกรงยังอยู่ที่เนื้อหาการแก้ไข ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายของรัฐบาล ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายค้าน และไม่ว่าจะมาจากฝ่ายต่อต้าน

แม้จะหวั่นเกรง แต่ก็เป็นความหวั่นเกรงอันว่างโหวง

ในเมื่อเป้าหมายการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านมาตรา 291 เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ แล้วจะหวั่นเกรงไปทำไม

เพราะทุกอย่างล้วนอยู่ในความรับผิดชอบของสภาร่างรัฐธรรมนูญ

ทุกอย่างล้วนจะดำเนินไปตามที่ นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาล สรุป นั่นก็คือ

"ขณะนี้ยังไม่รู้เลยว่าจะมีการแก้ไขมาตราไหน อย่างไร เนื้อหาที่จะแก้ไขขึ้นอยู่กับสภาร่างรัฐธรรมนูญ เราเพียงแต่เปิดทางให้มีการแก้ไข"

นี่จึงมิได้เป็นเรื่องของรัฐบาล นี่จึงมิได้เป็นเรื่องของพรรคการเมือง

หากแต่ในที่สุดแล้วก็เป็นเรื่องที่สำแดงผ่านการแก้ไขมาตรา 291 อันนำไปสู่การจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีพื้นฐานมาจากการเลือกของประชาชน 77 จังหวัด และการเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเป็นส่วนประกอบ

การคัดค้าน ต่อต้าน จึงไปรวมศูนย์อยู่ที่กระบวนการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ และกระบวนการยกร่างอันจะนำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มากกว่า

จึงไม่น่าเป็นความวิตกของพรรคเพื่อไทย จึงไม่น่าเป็นความวิตกของรัฐบาล

รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยจึงต้องสร้างเอกภาพทางความคิดในเรื่องการบริหารจัดการรัฐธรรมนูญ

ควรศึกษาบทเรียนจากรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช ประสานเข้ากับบทเรียนจากรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นการศึกษาโดยการหาสัจจะจากสภาพความเป็นจริงอย่างเคร่งครัด

อาศัยเพียงสังหรณ์ อาศัยเพียงความจัดเจนไม่ได้ ต้องเริ่มต้นจากความเป็นจริงเท่านั้น

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์