เอกสาร ลับสุดยอด แถลงการณ์ร่วม ไทย-กัมพูชา เอกสาร นพดล ปัทมะ

จริงหรือที่ 'แถลงการณ์ร่วมฯ' ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียอธิปไตย จริงหรือสิ่งที่แถลงการณ์ร่วมฯ บ่งชี้เป็นผลเสียต่ออธิปไตยของประเทศไทยในอนาคต หรือว่าแถลงการณ์ร่วมฯ เป็นข้อตกลง 'WIN WIN' ดังที่ 'นพดล ปัทมะ' ยืนยัน

คอลัมน์ วิภาคแห่งวิพากษ์



มีความเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมากสำหรับ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ภายหลังได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้เป็นหัวหน้าคณะของไทยในการประชุม GBC ร่วมกับกัมพูชาเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2551

เป็นความเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่สุขุมคัมภีรภาพมากขึ้นในการตอบคำถามต่อนักข่าวแทบทุกครั้งที่มีการแถลง

แตกต่างไปจากก่อนหน้านี้ถึงไม่มากระดับ 160 องศา แต่ก็ใกล้เคียง

จำได้หรือไม่ว่า พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เคยตั้งข้อสงสัยแม้กระทั่งรายละเอียดของแผนที่ทั้งๆ ที่เป็นการสำรวจและจัดหาขึ้นโดยกรมแผนที่ทหารอันเป็นหน่วยงานในความรับผิดชอบของกองบัญชาการทหารสูงสุด

ทั้งนี้ แทบไม่ต้องเอ่ยถึงความหวาดระแวงต่อบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศ และท่าทีตอดนิดตอดหน่อยต่อจังหวะก้าวของนักการเมือง

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากเข้าร่วมประชุม GBC โดยมี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศกับ ผู้บัญชาการทหารบก ขนาบข้าง ท่าทีของ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ก็เปลี่ยนไป

ชัดในความรอบคอบ ชัดในความสุขุม ในยามตอบคำถาม


อย่าว่าแต่ท่าทีของ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เลยที่บังเกิดความแปรเปลี่ยน หากแม้กระทั่งท่าทีของกัมพูชาก็เหมือนกับถอยกลับไปตั้งหลักใหม่

ถอยกลับไปตั้งหลักก่อนมีการประชุมร่วมที่ปารีสเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2551

บทสรุปของ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ที่ว่าการประชุม GBC ระหว่างไทยกับกัมพูชาเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2551 ที่ไม่คืบหน้าก็คือ

"เราถือแผนที่กันคนละฉบับ"

นั่นก็คือ กัมพูชาได้ย้อนกลับไปยึดแผนที่ที่ไทยตกลงร่วมกับฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1904 และเมื่อปี ค.ศ.1907 อีกครั้งหนึ่ง

ก็แผนที่นี้มิใช่หรือที่ทำให้ไทยแพ้กัมพูชาในการพิจารณาคดีของศาลโลกเมื่อปี 2505

ก็แผนที่นี้มิใช่หรือที่ทำให้คณะกรรมการมรดกโลกเห็นชอบให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก แม้ว่าฝ่ายไทยจะไม่เห็นชอบก็ตาม

ตรงนี้เองที่ทำให้การประชุมร่วมไทย-กัมพูชาที่ปารีสเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 มีบทบาทและความสำคัญมากยิ่งขึ้น ในฐานะที่เป็นฐานที่มาของแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2551

การศึกษารายละเอียดของผลการประชุมร่วมไทย-กัมพูชา การศึกษารายละเอียดของแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา จึงมีความจำเป็น

จริงละหรือที่แถลงการณ์ร่วมอาจจะทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียอธิปไตย จริงละหรือที่แถลงการณ์ร่วมบ่งชี้จะเป็นผลเสียต่ออธิปไตยของประเทศไทยในกาลอนาคต

หรือว่าแถลงการณ์ร่วมจะเป็นการตกลงในลักษณะ WIN WIN ดังที่ นายนพดล ปัทมะ ได้ยืนยัน


เพราะว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้เกิดขึ้นบนพื้นฐานซึ่งแถลงการณ์ร่วมไม่มีผลในทางปฏิบัติ

เพราะว่าทั้งศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญก็ได้วินิจฉัยออกมาถึงความไม่สมบูรณ์อันดำรงอยู่ของแถลงการณ์ร่วม

การลงมติของคณะกรรมการมรดกโลกจึงไม่เกี่ยวกับแถลงการณ์ร่วม

ขณะเดียว การถอยกลับไปก่อนสถานการณ์การประชุมร่วมไทย-กัมพูชาที่ปารีสเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 ของกัมพูชา กลับทำให้มีเรื่องโต้แย้งบานปลายติดตามมามากมาย

ท่าทีของกัมพูชาต้องการขยายให้เป็นเรื่องระดับสากล

ขณะที่ท่าทีของไทยต้องการจำกัดกรอบให้เป็นเรื่องในระดับทวิภาคี ทั้งๆ ที่โอกาสของการเจรจาระดับทวิภาคีมีโอกาสน้อยมากเพราะว่าแต่ละฝ่ายต่างยืนยันในฐานะข้อมูลของตนเอง


คำพิพากษาของศาลโลกกลับกลายเป็นอาวุธที่สำคัญของกัมพูชาขึ้นมาโดยอัตโนมัติ

การศึกษาประวัติศาสตร์ทั้งเมื่อปี 2505 และที่เพิ่งผ่านมาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 จึงสำคัญ

สำคัญต่อสถานะที่เป็นจริงของปราสาทพระวิหารในมุมของศาลโลก สำคัญต่อสถานะของผลการประชุมร่วมไทย-กัมพูชาที่ปารีส และต่อสถานะของแถลงการณ์ร่วมซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว

สำคัญต่อสภาพความเป็นจริงของปัญหาพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชา ณ วันนี้


ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11094

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์