เหมือนรู้คำพิพากษา กรีดข้ามชาติ ชวนไม่วิจารณ์เขมร

เหมือนรู้คำพิพากษา กรีดข้ามชาติ ชวนไม่วิจารณ์เขมร (ไทยรัฐ)

          ประธานสภาที่ปรึกษา ปชป. ไม่ขอก้าวล่วงคำพิพากษาศาลเขมร คดีวิศวกรไทย แต่ไม่วายกรีดส่งท้าย แปลกใจคนรู้ผลก่อนขอฎีกาอภัยโทษ ถามผู้ต้องหาสู้เพื่อพ้นผิดหรือพ้นโทษ แนะ "บัวแก้ว" ช่วยทุกวิถีทาง

          ที่พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อเวลา 18.30 น. วันที่ 8 ธันวาคม นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกรณีศาลของกัมพูชาพิพากษาคดีของนายศิวรักษ์ ชุติพงษ์ วิศวกรชาวไทยให้จำคุก 7 ปีและปรับ 1 แสนบาท ว่า ตนไม่อยากวิจารณ์เพราะระบบศาลเป็นคนละระบบและวิธีของบ้านเรา ที่สามารถอธิบายขั้นตอนกระบวนการได้เพราะมีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ  ขั้นตอนการตัดสินของศาลมีการกำหนดลำดับขั้นตอนว่า จะใช้เวลาในการตัดสิน หรือ อุทธรณ์กี่วัน เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วจะทำอะไรได้บ้าง แต่ของกัมพูชาไม่ทราบเลย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ล่าสุดนางสิมารักษ์ ณ นครพนม มารดาของนายศิวรักษ์ ระบุว่าจะไม่ขออุทธรณ์แต่จะขอพึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้ใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวมาช่วยลูกชายของตนเอง

          นายชวน กล่าวว่า
อันนี้ตนไม่ทราบ แต่เขาก็พูดออกมาก่อนไม่ใช่หรือว่าจะถวายฎีกา เหมือนรู้คำพิพากษามาก่อน  ตนก็ไม่ทราบว่า จริง ๆ แล้วมันเป็นอย่างไร ต้องไปดูรายละเอียด รู้ก็ตามข่าวที่ออกมา มี 2 - 3 คนที่ออกมาพูดเรื่องนี้ ก็ยังแปลกใจว่า ศาลยังไม่พิจารณาเลย หรือเขาเผื่อไว้ก่อนก็ไม่แน่ใจก็ไม่ทราบ ทั้งหมดต้องไปดูขั้นตอนกระบวนการพิจารณาของศาลกัมพูชาว่าเป็นอย่างไร

เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยได้มีการร่างหนังสือพระราชทานอภัยโทษไว้ให้นายศิวรักษ์ ในขณะที่กระทรวงการต่างประเทศยังไม่มีการดำเนินการอะไรเลย

          นายชวน กล่าวว่า
ก็นั่นสิ ก็ได้ยินมาก่อนแล้ว แต่ยังไม่รู้ว่าเรื่องเป็นอย่างไร ปัญหาอยู่ที่ผู้ต้องหาด้วยว่า ต้องการที่จะสู้ให้พ้นผิด หรือสู้เพื่อให้พ้นโทษ หมายถึงว่าถ้าจะขอพระราชทานอภัยโทษ กฎหมายของกัมพูชาก็ทำได้ ก็ว่าไปตามกฎหมาย แต่นั่นหมายความว่า ความผิดได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ถ้าต้องการพิสูจน์ว่าไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา ก็แสดงว่าคดียังไม่ถึงที่สุด ก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อศาลสูงไปอีก ศาลอาจตัดสินยืนหรือกลับคำพิพากษาก็ได้ ถ้าตัดสินกลับว่า ไม่ผิด ก็ไม่ผิด แต่กรณีนี้ถ้าไม่อุทธรณ์ก็แสดงว่ายอมรับผิด ก็ถือว่าผิด ส่วนการขอพระราชทานอภัยโทษก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะคำตัดสินความผิดมีปรากฏในคำพิพากษาต่าง ๆ หมดแล้ว

มองอย่างไรที่ศาลกัมพูชาตัดสินออกมาว่า นายศิวรักษ์ได้จารกรรมข้อมูลแสดงว่าเป็นความผิดร้ายแรงใช่หรือไม่ 

          นายชวน กล่าวว่า
ผมไม่อยากวิจารณ์ศาลเขา เพราะเมื่อเขาวิจารณ์ศาลของเรา เราก็ไม่พอใจ ดังนั้นเราจึงไม่วิจารณ์ศาลของกัมพูชา ทั้งหมดเป็นเรื่องของดุลยพินิจของศาล ผลการประกอบความผิดของเขาเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องของศาล

เมื่อถามอีกว่า  กระทรวงการต่างประเทศจะสามารถช่วยเหลืออะไรได้อีกบ้าง หลังศาลตัดสินแล้ว 

          นายชวน กล่าวว่า
ทำได้ตามที่ทางกระทรวงต่างประเทศเคยได้ทำมาโดยตลอดก็สามารถทำได้ต่อไป กระทรวงการต่างประเทศจะรู้ดีกว่าคนอื่นว่ากฎหมายของกัมพูชา เป็นอย่างไร

          "ทั้งนี้ก็อยู่ที่ผู้ที่ตกเป็นจำเลยด้วยว่า เขาต้องการอย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่แม่ของผู้ต้องหาจะตั้งทนายความเอง ก็คงต้องให้ฝ่ายจำเลยเป็นผู้พิจารณาว่าจะสู้ต่อหรือไม่สู้ ส่วนกระทรวงการต่างประเทศ  เห็นว่าทำได้ดีและพยายามช่วยทุกอย่าง โดยไม่ต้องสนใจว่าใครจะทำอย่างไร รัฐบาลไม่ต้องสนใจขอให้ทำตามหน้าที่ในการช่วยคนไทยให้พ้นจากความผิด ถ้าเชื่อว่าคนของเราไม่มีความผิด ก็ต้องใช้ทุกวิถีทางให้คนของเราพ้นผิดตามกระบวนการตามกฎหมายของเขา แม้จะเป็นที่จะต้องใช้งบประมาณค่าใช้จ่ายบ้างก็เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ" ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว




ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์