เสนอยุบสภาอนุพงษ์จริงใจ-ล้ำเส้น?

ผลประชุมคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ร่วม(คตร.)

ซึ่งมีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. เป็นประธาน ซึ่งเชิญภาคเอกชน ภาครัฐและนักวิชาการมาประชุมเพื่อหาทางออกให้กับบ้านเมือง หลังกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบุกยึดสถานที่สำคัญ 3 แห่ง ได้แก่ ทำเนียบรัฐบาล ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ข้อเสนอให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ตัดสินใจยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ และให้กลุ่มพันธมิตรสลายการชุมนุม

ผลพวงที่เกิดขึ้นพุ่งตรงสู่ตัวพล.อ.อนุพงษ์ ทันที โดยเฉพาะจากส.ส.ซีกรัฐบาลว่าเป็นข้อเสนอที่ไม่สมควร ล้ำเส้น เสนอให้ปลดออกจากตำแหน่งผบ.ทบ. ขณะที่กลุ่มพันธมิตรเองก็ปฏิเสธที่จะทำตาม

นักวิชาการและอดีตนายทหารจึงได้วิเคราะห์ถึงท่าทีของพล.อ.อนุพงษ์ ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

สุรชัย ศิริไกร

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รัฐบาลตั้งพล.อ.อนุพงษ์ เพื่อให้มาแก้ปัญหาม็อบ แต่กลับมาพิจารณาว่าการยึดสนามบินสุวรรณภูมิผิดกฎหมายหรือไม่ และการใช้กำลังสลายทำได้หรือไม่ ถ้าสรุปว่าพันธมิตรทำผิดกฎหมายในการยึดสนามบินก็สลายการชุมนุมได้ แต่ถ้าไม่ผิดเพราะชุมนุมโดยสงบ การเข้าไปสลายคงไม่ได้ ทำให้พล.อ.อนุพงษ์ ตัดสินใจเองไม่ได้ ต้องเรียกฝ่ายต่างๆ มาประชุมก่อนได้ข้อสรุปเสนอให้ยุบสภา

มุมหนึ่งเป็นความฉลาดของพล.อ.อนุพงษ์ แทนที่จะตัดสินใจเองคนเดียว ก็ใช้วิธีการประชุมร่วมหลายฝ่าย ทำให้แนวทางที่เสนอรัฐบาลจะตำหนิไม่ได้ ถือว่าทำดีที่สุดแล้ว การยึดทรรศนะที่ประชุมไม่ผิดกฎหมาย แต่ถ้าใช้กำลังสลายการชุมนุมจะผิดกฎหมาย

การเสนอแนวทางของที่ประชุม จึงเป็นเหตุผลที่นายกฯต้องรับฟัง พล.อ.อนุพงษ์ไม่ได้ตัดสินใจเอง ซึ่งพล.อ.อนุพงษ์ คงคิดแล้วว่าการสลายการชุมนุมที่สนามบินสุวรรณภูมิไม่ถูกต้อง หากผู้ชุมนุมใช้สิทธิตามกฎหมาย แต่เมื่อที่ประชุมมีมติเสนอแนวทางให้รัฐบาลยุบสภา จะบอกว่าพล.อ.อนุพงษ์ ทำถูกแล้ว หรือทำเพื่อเซฟตัวเองก็ถูกอีก

แม้รัฐบาลจะตั้งให้พล.อ.อนุพงษ์ จัดการม็อบ แต่พล.อ.อนุพงษ์ ต้องดูว่าการชุมนุมถูกต้องหรือไม่ ถือเป็นความพยายามของรัฐบาลที่โยนความรับผิดชอบให้พล.อ.อนุพงษ์ แต่พล.อ.อนุพงษ์ ฉลาดที่จะโยนความรับผิดชอบออกไป ทำให้ปัญหายืดเยื้อออกไปอีก

ขณะนี้ทั้งฝ่ายรัฐบาลและพันธมิตร หันมาใช้มาตรการทางกฎหมาย รัฐบาลไปฟ้องศาลให้คุ้มครองชั่วคราว พันธมิตรไปยื่นอุทธรณ์ต่อศาล ซึ่งระหว่างอุทธรณ์ศาล พล.อ.อนุพงษ์ไม่สามารถใช้กำลังไปสลายการชุมนุมได้อีก

ปัญหาทั้งหลายต้องมาดูที่สาเหตุการชุมนุม พันธมิตรต้องการอะไร มองรัฐบาลทำผิดกฎหมายจึงให้ออก นายสมชายเป็นต้นเหตุปัญหา ทางที่ดีนายสมชาย ควรลาออก ปัญหาจะได้ยุติ พันธมิตรจะได้เลิกชุมนุม หากยังดื้อรั้นความเสียหายจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ข้อเสนอแนะของ ผบ.ทบ.นั้น ถือว่าหมิ่นเหม่ แต่หากมีการเสนอให้ยุบสภาแล้วมีการกดดัน คำว่ากดดันในที่นี้ หมายความว่าการใช้อำนาจทางทหารไปกดดันรัฐบาล ถือว่าเป็นการบังคับ ถือว่าล้ำเส้น ซึ่งจะมองเพียงด้านเดียวไม่ได้

ทั้งนี้กลุ่มพันธมิตรปิดสนามบิน ก็ไม่มีผลให้รัฐบาลลาออก แต่เป็นการกดดันให้ฝ่ายต่างๆ ออกมาแก้ไขปัญหา ที่ถือเป็นวิกฤตของชาติ เพราะการปิดสนามบินถือว่าเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรงและเป็นปัญหาระยะยาว

หากมีการปฏิวัติ ปัญหาก็ไม่จบ ซึ่งกลุ่มคนเสื้อแดงจะออกมาเคลื่อนไหว ดังนั้นรัฐบาลต้องเลือกระหว่างความรุนแรงกับยุบสภา

ผมขอเสนอแนะว่าต้องยุบสภาอย่างเดียว เพื่อตัดปัญหา ป้องกันการนองเลือด ซึ่งการที่รัฐบาลปล่อยให้พันธมิตรยึดสนามบินนั้นเท่ากับว่ารัฐบาลปล่อยปละละเลย ดังนั้น รัฐบาลจะนิ่งเฉยไม่ได้ เพราะมันคือปัญหาวิกฤตของชาติ


สมพงษ์ จิตระดับ

อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เท่าที่ฟังเนื้อหาที่พล.อ.อนุพงษ์ เสนอแนะ หากถามว่าล้ำเส้นหรือไม่ ถ้าตอบในเชิงการเมืองถือว่าอาจจะดูล้ำเส้น แต่หากมองในด้านกรอบกฎหมาย ถือว่าทำถูกต้องแล้ว

สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นการกดดันและทำให้สภาวะสังคมเกิดความแตกแยกอย่างชัดเจน ทวีความรุนแรงมากขึ้น เช่น ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนแต่ยิงกันได้ ทำร้ายร่างกายกันได้ เพียงรู้ว่าเป็นคนกลุ่มนั้น สีนั้นหรือพวกนั้น ซึ่งมันไม่ใช่วิสัยของคนไทย ถ้าไม่หยุดการกระทำ อาจเข้าขั้นเหมือนฟิลิปปินส์ ที่มีการแบ่งแยกแบ่งขั้วกันชัดเจน ซึ่งประเทศไทยตอนนี้กำลังจะพัฒนาเป็นไปในทิศทางนั้น ความเป็นไทยจะสูญหายไป

ขณะนี้หลายฝ่ายกำลังรีบแก้ปัญหา ซึ่งคิดว่าจะต้องมีคนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับการยอมรับทั้งสองฝ่าย ประกอบด้วย ผบ.ทบ. องคมนตรี รัฐบาล ฝ่ายพันธมิตร พรรคประชาธิปัตย์ มาประชุมกัน โดยมีข้อตกลงร่วมกันและเป็นที่ยอมรับทั้งสองฝ่าย เช่น รัฐบาลอาจจะลาออกหรือยุบสภา เพื่อเลือกตั้งใหม่ จากนั้นเมื่อผลออกมาแล้ว ฝ่ายพันธมิตรต้องยอมรับ และการแก้รัฐธรรมนูญต้องไม่เกิดขึ้น การออกกฎหมายเชิงบุคคลไม่ควรจะทำ เช่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อย่างไรก็ตาม หากไม่ทำอาจเกิดปฏิวัติได้


วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ

อาจารย์สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

บทบาทของพล.อ.อนุพงษ์ ไม่ถือว่าล้ำเส้น แต่ได้ทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ที่ให้บทบาททหารเป็นผู้พิทักษ์รักษาระบอบประชาธิปไตย ผลประโยชน์ชาติ ทหารได้เสนอทางเลือกวิกฤตตามครรลองประชาธิปไตย คือให้รัฐบาลยุบสภา ลาออก เป็นไปตามหลักการสากล โดยรูปแบบทหารเรียกหัวหน้าส่วนราชการมาร่วมหารือ ไม่ตัดสินใจโดยลำพัง ถือเป็นระบอบประชาธิปไตยเหมือนกัน

ส่วนท่าทีรัฐบาลที่จะไม่ตอบสนองตามพล.อ.อนุพงษ์ ริเริ่มหรือชี้นำก็ได้ แต่ถ้าไม่ทำแล้วมีทางใดแก้ปัญหาความขัดแย้งได้บ้าง ถ้ามองอีกมุม คือ รอวันให้เกิดความรุนแรง เมื่อใช้ระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ ทหารอาจปรับท่าทีเป็นผู้ปกครองยึดอำนาจ ซึ่งทหารมีท่าทีมาตลอดว่าไม่อยากทำการยึดอำนาจ แต่ถ้าจะทำ ขอให้มองว่าจะสร้างประชาธิปไตยใหม่อย่างไร

ครรลองประชาธิปไตยเริ่มในการประชุมหารือของหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ เมื่อวันที่ 26 พ.ย. แต่อาจไม่เกิดจริงในสังคมไทย เพราะคุณภาพส.ส.ไทยไปไม่ถึง ประชาธิปไตยจะใช้ได้ต่อเมื่อการเมืองมีคุณภาพ ผมถือว่าพล.อ.อนุพงษ์ ทำตามหน้าที่ในขอบเขตประชาธิปไตย ที่ไม่ใช้อำนาจความรุนแรง

การใช้อำนาจดั้งเดิมที่ทำกัน คือ การยึดอำนาจ แต่ทหารยังไม่ทำเพราะเป็นเรื่องของจิตสำนึกทางการเมือง ดังนั้น การแก้ปัญหาต้องทำเร่งด่วนก่อนที่เหตุการณ์จะลุกลาม โดยรัฐบาลเองเป็นคนเชื้อเชิญให้ทหารออกมาปฏิวัติรัฐประหารเสียเอง


พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช

ส.ว.สรรหา - อดีตผู้ช่วย ผบ.ทบ.

การแสดงท่าทีของพล.อ.อนุพงษ์ ที่ต้องการให้รัฐบาลยุบสภานั้น ไม่ถือเป็นความคิดของท่านเพียงคนเดียว แต่เกิดจากมติในที่ประชุมที่มาจากหลายภาคส่วน ฉะนั้นจะไปพุ่งเป้าที่ท่านเพียงคนเดียวจึงไม่สมควรนัก

การมีมติออกมาเช่นนี้ ต้องยอมรับว่าไม่ประสบความสำเร็จ เพราะนายกฯประกาศแล้วว่า จะไม่ยุบสภา รวมทั้งส.ส.บางกลุ่ม ก็ไม่ยอมรับ ขณะที่กลุ่มพันธมิตรประกาศชัด หากยุบสภาจะเดินหน้าชุมนุมต่อไป

แต่การเสนอแนะนี้ เข้าใจว่าเป็นเพียงการทดลอง หยั่งกระแสว่าแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ เมื่อไม่ประสบความสำเร็จ ก็หาหนทางอื่น เพื่อเสนอแนะกันต่อไป แต่ไม่คิดว่าข้อเสนอนี้จะทำให้พล.อ.อนุพงษ์ ถูกปลดจากตำแหน่ง ไม่มีความเป็นไปได้เลย ที่ผ่านมาพล.อ.อนุพงษ์ มีความตั้งทำงานให้กับรัฐบาลมาตลอด

ส่วนการทำรัฐประหาร เชื่อว่าพล.อ.อนุพงษ์ คงไม่ทำเพราะทำไป ไม่มีใครได้ประโยชน์ ประเทศชาติเสียหาย ปัญหาก็ไม่จบ เพราะเมื่อจบเสื้อเหลืองแล้ว เสื้อแดงจะมาอีก

การวางตัวของพล.อ.อนุพงษ์ ต่อจากนี้ท่านต้องเตรียมกำลังพลไว้อย่างเต็มที่ เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ รวมทั้งต้องเตรียมการออกกฎหมายทั้งการประกาศภาวะฉุกเฉิน ที่นายกฯเป็นคนสั่งการ รวมถึงการประกาศกฎอัยการศึก เพราะมั่นใจได้ว่าต่อไปจากนี้ เกิดการนองเลือดแน่นอน ทั้งจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง และกลุ่มพันธมิตรยังชุมนุมต่อแม้จะแพ้คดีกรณีสนามบินสุวรรณภูมิ

เพื่อหวังผลให้เกิดการปะทะ แต่ท้ายสุดแล้วเชื่อว่าไม่มีการปฏิวัติ

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์