เล็งยึดทรัพย์ 13 เเกนนำ พธม. ใช้หนี้ปิดสนามบิน พร้อมดอกเบี้ย


6 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2560 สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการบังคับคดี 1 มีหนังสือเเจ้งชำระหนี้ตามคำพิพากษา เเนบพร้อมด้วยสำเนาหมายบังคับคดีเเพ่ง คดีหมายเลขดำที่ 6453,6474/2551 ถึงพล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายสนธิ ลิ้มทองกุล, นายพิภพ ธงไชย, นายสุริยะใส กตะศิลา, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, นายอมร อมรรัตนานนท์ หรือนายรัชต์ชยุตม์ ศิรโยธินภักดี, นายนรัญยู หรือศรัณยู วงษ์กระจ่าง, นายสำราญ รอดเพชร, นายศิริชัย ไม้งาม, นางมาลีรัตน์ แก้วก่า และนายเทิดภูมิ ใจดี แกนนำกลุ่มแนวร่วมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)

โดยหนังสือเเจ้งชำระหนี้มีเนื้อหาว่า สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการบังคับคดี 1 ได้รับสำเนาหมายการบังคับคดีจากบริษัท ท่าอากาศยานไทยจำกัด มหาชน (ทอท.) โจทก์ มาดำเนินการเกี่ยวกับการบังคับคดี จึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการเเละพนักงานอัยการ 2553 เเจ้งให้บุคคลทั้ง 13 ชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลเเพ่งที่มีคำพิพากษาให้จำเลยบุคคลทั้ง 13 คน ร่วมกันชำระหนี้ จำนวน 522,160,947.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับเเต่วันที่ 1 ธ.ค. 2551 เละให้ร่วมกันชำระค่าธรรมเนียมเเละทนายความเเทนโจทก์เป็นเงิน 597,847 บาท ให้เเก่ ทอท. โจทก์ มิเช่นนั้นโจทก์จะนำพนักงานบังคับคดีไปยึดอายัดทรัพย์สินของบุคคลทั้ง 13 คนขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้เเก่โจทก์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้ที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการบังคับคดี 1 สำนักงานอัยการสูงสุดมีอำนาจที่จะสามารถดำเนินการบังคับคดีในนามของรัฐที่หน่วยงานของรัฐเป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายในนามของรัฐได้ หากส่วนราชการเป็นผู้ชนะคดีตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการฯ โดยที่ไม่จำเป็นว่าคดีดังกล่าวอัยการจะเป็นโจทก์ฟ้องเองหรือไม่

มูลเหตุคดีนี้เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 24 พ.ย. - 3 ธ.ค. 51 พวกจำเลย ร่วมกันนำผู้ชุมนุมหลายหมื่นคน ไปบุกยึดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง เพื่อประท้วงรัฐบาลและขับไล่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ขณะนั้นทำให้การให้บริการต่างๆ ภายในท่าอากาศยานทั้งสองต้องหยุดลง


เล็งยึดทรัพย์ 13 เเกนนำ พธม. ใช้หนี้ปิดสนามบิน พร้อมดอกเบี้ย

สำหรับคดีนี้มีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อเดือน มิ.ย. 58 ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ 13 แกนนำ พธม. ร่วมกันชดใช้เงินกว่า 522 ล้านบาทแล้ว ต่อมา ทอท. โจทก์ ได้ขอให้ศาลออกหมายคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาน เนื่องจากจำเลยไม่ได้ยื่นฎีกาในระยะเวลา

กระทั่งต่อมา 13 แกนนำ พธม.ได้ยื่นคำขออนุญาตขยายฎีกา โดยอ้างเหตุสุดวิสัยการปิดหมายแจ้งคดี ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ต่อศาลแพ่ง ที่เป็นศาลชั้นต้น ปรากฏว่าศาลยกคำร้อง ซึ่งศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 59 โดยยกคำร้องเช่นเดียวกัน เนื่องจากเห็นว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีร่วมกันปิดสนามบินโดยชอบแล้ว ในปี 2559 ทนายความผู้รับมอบอำนาจของ 13 แกนนำ พธม.จึงได้ยื่นฎีกาเกี่ยวกับคำขอขยายเวลาฎีกานี้ ต่อศาลฎีกาอีก

จากนั้นวันที่ 21 ก.ย. 60 ศาลฎีกาได้ยกคำร้องยกคำร้องขอขยายเวลาฎีกาของจำเลยแล้ว ผลแห่งคดีแพ่งนี้จึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ 13 แกนนำ พธม. ร่วมกันชดใช้เงิน 522,160,947.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ซึ่งตกคนละประมาณ 40,166,226 บาทเศษ ส่วนคดีอาญาปิดสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ที่อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง, นายสนธิ และแกนนำ พธม. กับผู้ชุมนุม รวม 98 รายต่อศาลอาญานั้น คดีอยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์ โดยรอสืบพยานอีกครั้งเดือน มี.ค. 61


เล็งยึดทรัพย์ 13 เเกนนำ พธม. ใช้หนี้ปิดสนามบิน พร้อมดอกเบี้ย

Cr.khaosod


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
รวมข่าวในกระแส คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์