เลี้ยบ ลั่น! รบ.พร้อมโบกมือลาหากเสียง ประชามติ ฟันธง - มติวุฒิฯ รับหลักการท่วมท้น

กม.ประชามติผ่านฉลุย วุฒิสภารับหลักการท่วมท้น 119:5 ตั้ง 29 กมธ.วิสามัญแปรญัตติใน 7 วัน ส.ว.สรรหาติงไม่ควรเร่งพิจารณา แนะให้ประชาชนเสนอประเด็นได้ กกต.ชี้ยังมีขั้นตอนอีกเยอะ คาดอย่างน้อย 7 เดือนสอบถามปมขัดแย้งได้ "เลี้ยบ" บอกเป็นทางออก ยัน "สมัคร" ไม่ยึดติดเก้าอี้นายกฯ รบ. พร้อมไปตามเสียงปชช.

"เลี้ยบ" ลั่นรบ. พร้อมไปตามเสียงปชช.
 
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การทำประชามติน่าจะเป็นวิธีการหนึ่งที่แก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศได้ เพราะถ้าจะยุบสภาก็ต้องเป็นเหตุผลที่สมควรแก่เหตุ เช่น มีเรื่องความเห็นแตกต่างในสภา ชนิดที่ไม่สามารถตัดสินใจในสภาและไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ต้องส่งเรื่องกลับไปให้ประชาชนตัดสิน แต่ถ้ายุบสภาเพราะมีคนมายึดทำเนียบรัฐบาล ไทยก็จะถูกตั้งคำถามจากทั่วโลกว่ายังมีหลักเกณฑ์ มีกติกากันอยู่หรือเปล่า
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากผลประชามติออกมาว่าให้นายกรัฐมนตรีลาออก หรือให้ยุบสภา รัฐบาลจะทำอย่างไร นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า "เอาเลย พร้อมเลย ถ้าประชามติบอกว่า รัฐบาลไม่ควรอยู่ต่อไปแล้ว เราก็ไป เพราะว่ากระบวนการประชามติ เป็นกระบวนการที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ และประชาชนส่วนใหญ่ให้ความเห็นแบบนั้น รัฐบาลต้องยอมรับและต้องไป แต่ตอนนี้นายกฯยังสู้ต่อไป เพื่อรักษากติกาของบ้านเมือง ไม่ใช่เพราะยึดติดกับตำแหน่ง หรือรองบประมาณอย่างที่มีใครตั้งข้อสังเกตกัน"    
 
เมื่อถามว่า คิดว่าจะมีการปฏิวัติหรือไม่ นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า เรื่องปฏิวัติไม่เคยอยู่ในความคิดของรัฐบาล ถ้ามีการปฏิวัตอีกครั้งจะกลายเป็นแบบพม่าไปเลย
 
วุฒิสภาผ่าน "กม.ประชามติ" ฉลุย
 
วุฒิสภารับหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ... ที่รัฐบาลต้องการให้มีผลใช้บังคับ เพื่อสำรวจความคิดเห็นประชาชนในการแก้ปัญหาโดยที่ประชุมมีมติ 119 ต่อ 5 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ 29 คน กำหนดแปรญัตติ 7 วัน
 
ทั้งนี้ การประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ... ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเสร็จแล้ว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 302 วรรคสี่ และวรรคหก ได้เริ่มเมื่อเวลา 09.45 น. วันที่ 5 กันยายน โดยมีนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม มี ส.ว.หลายคน อาทิ นายวรินทร์ เทียมจรัส นายสมชาย แสวงการ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา อภิปรายว่า ร่าง  พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นกฎหมายสำคัญ จึงไม่ควรเร่งพิจารณา และพาดพิงถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ทำประชามติกรณีความขัดแย้งในบ้านเมือง โดยระบุว่าไม่มีเหตุให้ดำเนินการดังกล่าวแต่อย่างใด รวมทั้งมีการตั้งคำถามว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะสามารถทำประชามติได้ภายในกี่วัน และประเด็นคำถามจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมทั้งหากมีการยุบสภาหรือนายกรัฐมนตรีลาออก ร่างกฎหมายนี้จะมีสถานะเป็นอย่างไร
 
ส.ว.ติงให้ปชช.เสนอประเด็นได้
 
น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. กล่าวว่า ฝ่ายบริหารมักดำเนินโครงการหรือนโยบายที่มีผลกระทบกับวิถีชีวิตของประชาชนและชุมชน กฎหมายฉบับนี้จึงมีขึ้นเพื่อถ่วงดุลระหว่างฝ่ายประชาชนกับฝ่ายการเมือง ฉะนั้นกฎหมายฉบับนี้ควรเปิดให้ประชาชนเสนอประเด็นขึ้นมาให้สาธารณะทำประชามติได้ด้วย เช่นเดียวกับที่ประชาชนสามารถเข้าชื่อยื่นถอดถอนนักการเมืองได้
 
นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ในฐานะผู้เสนอร่างกฎหมาย ชี้แจงว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 302 บัญญัติให้ กกต.ต้องปรับปรุงกฎหมายนี้ภายใน 1 ปี ภายหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ซึ่ง กกต.ได้ดำเนินการแล้ว และในส่วนระยะเวลาการพิจารณาภายใน 90 วัน ของสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่มีปัญหาแล้ว ส่วนมติ ครม.เรื่องการทำประชามตินั้น ยังไม่เห็น และยังไม่ทราบถ้อยคำของการขอทำประชามติว่าเป็นเรื่องอะไร
 
กกต.ยันไม่มีอำนาจทักท้วง
 
"ที่ ส.ว.สงสัยว่าหากนายกฯประกาศหัวข้อประชามติ กกต.สามารถทักท้วงได้หรือไม่นั้น กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ให้อำนาจ กกต.ทักท้วง แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 165 บัญญัติว่าก่อนที่นายกฯจะประกาศหัวข้อประชามติ ต้องถามความเห็น ครม.ก่อนว่าสอดคล้องตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญบัญญัติหรือไม่ เกี่ยวข้องกับบุคคลหรือคณะบุคคลหรือไม่ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้นายกฯปรึกษาประธานฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ผมเชื่อว่าในทางปฏิบัติ นายกฯคงไปปรึกษา หากหัวข้อดังกล่าวไม่สอดคล้องในเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ฝ่ายนิติบัญญัติคงทักท้วง และเมื่อมีการประกาศหัวข้อประชามติ กกต.คงไม่สามารถไปทักท้วงอะไรได้อีก เพราะนายกฯเป็นผู้บริหารประเทศ" นายประพันธ์กล่าว
 
ทั้งนี้ หลังจากที่ประชุมใช้เวลาอภิปรายนาน 1 ชั่วโมงครึ่ง ได้ลงมติรับหลักการด้วยคะแนน 119 ต่อ 5 งดออกเสียง 1 เสียง และตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญจำนวน 29 คน กำหนดแปรญัตติ 7 วัน
 
คาดอย่างน้อย7เดือนสอบถามได้
 
อนึ่ง การประชุมวุฒิสภา นายประพันธ์ให้สัมภาษณ์ว่า การทำประชามติเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี หากนายกรัฐมนตรีมีหัวข้อที่จะสอบถามที่แน่นอน กกต.ก็มีหน้าที่ในการจัดทำประชามติ แต่มีปัญหาว่าเมื่อวุฒิสภาพิจารณาเสร็จแล้ว ก่อนนำทูลเกล้าฯต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งในขั้นตอนนี้ใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน เมื่อกระบวนการทางกฎหมายเสร็จแล้วจึงจะเป็นหน้าที่ของ กกต. ทั้งนี้ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะให้มีการทำประชามติ รัฐบาลจะต้องหารือกับประธานสภาและประธานวุฒิสภาก่อนว่าเห็นด้วยกับหัวข้อ หรือประเด็นที่จัดทำประชามติหรือไม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติห้ามชัดเจนไว้อยู่แล้วว่าไม่ให้สอบถามเรื่องเกี่ยวกับบุคคลหรือคณะบุคคล
"ประเมินแล้วคาดว่าจะใช้เวลาการตรากฎหมายและจัดทำออกเสียงประชามติได้อย่างน้อยต้องใช้เวลา 6-7 เดือน แต่หากจะดำเนินการให้เร็วต้องออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แต่คิดว่าไม่สามารถทำได้" นายประพันธ์กล่าว
 
"อภิชาต" ให้ทุกคนนึกถึงในหลวง
 
ด้านนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. ให้สัมภาษณ์ที่ จ.ขอนแก่น ว่า กกต.ชุดนี้เคยปฏิบัติงานในการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 มาแล้ว หากรัฐบาลให้ทำประชามติจริงก็สามารถทำงานได้อย่างราบรื่นและรวดเร็ว คาดว่าต้องใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ 2,000 ล้านบาท ทั้งนี้ โดยส่วนตัวคิดว่าน่าจะมีโอกาสทำประชามติได้ และทางออกที่ดีที่สุดคือ ให้ทุกคนนึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นึกถึงความสามัคคีของคนในชาติ และร่วมมือกันทำทุกอย่างเพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง
 
นายสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งนั้นไม่สามารถทำประชามติได้ การถามว่าจะให้เลิกหรือไม่เลิกชุมนุม หรือให้เลือกว่าจะเอาหรือไม่เอารัฐบาลเป็นวิธีการที่จะยืดเยื้อ หวังให้รัฐบาลอยู่ให้นานที่สุด ไม่น่าเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะกลายเป็นดีเอ็นเอเดียวกัน ดื้อรั้นโดยไม่รู้อะไรถูกอะไรผิด 
 
รองปธ.วุฒิฯบอกเสียเงินเปล่า
 
นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ เชื่อว่าจะไม่ได้อะไรเลย แต่จะทิ้งงบประมาณเสียเปล่า 2,000 ล้านบาท นอกจากไม่สามารถแก้ปัญหาได้แล้ว อาจเกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้น จากระดับประเทศลงไปสู่ระดับจังหวัด อำเภอ หรือ ระดับตำบล หมู่บ้าน ทางออกที่น่าจะเป็นคือ ยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ะดีกว่า เพราะจะใช้งบประมาณพอๆ กัน และเชื่อว่าได้ผลดีกว่าการทำประชามติ
นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า การออกเสียงประชามติที่เกี่ยวกับบุคคลหรือคณะบุคคลนั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 165 บัญญัติไว้ชัดว่าไม่สามารถทำได้ จึงเห็นว่าการยุบสภา น่าจะเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมที่สุดที่รัฐบาลควรเลือกใช้ในตอนนี้ เนื่องจากเป็นการคืนอำนาจอธิปไตยให้แก่ประชาชนตัดสินใจอีกครั้ง ส่วนกลุ่มพันธมิตรจะยอมรับหรือไม่ก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง แต่ก็ขอวิงวอนให้ทั้ง 2 ฝ่าย พิจารณาข้อเสนอที่หลายฝ่ายได้เสนอไป คือให้นายกฯยุบสภา และกลุ่มพันธมิตรยุติการชุมนุม ยอมรับเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ พร้อมกับมอบตัวเพื่อเข้าต่อสู้คดี เพราะอย่าลืมว่าการกระทำอารยะขัดขืนที่แท้จริงคือ การยินยอมเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีทางกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายน่าจะกระทำตามข้อเสนอนี้ได้ หากทั้งสองฝ่ายไม่มีทิฐิและวาระซ่อนเร้นใดๆ เพราะประเทศชาติบอบช้ำมามากพอแล้ว

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์