เรืองไกรชี้โหวตอภิสิทธิ์นั่งนายกฯไม่ชอบ

สว.จอมแฉชี้โหวตเลือก"อภิสิทธิ์"นั่งนายกฯ ไม่ชอบ เหตุส.ส.ไม่สังกัดพรรค โหวตไม่ได้ ขณะที่ กกต. แย้ง ส.ส.ยังมีสมาชิกภาพอยู่ ทำหน้าที่ได้


โดยนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา กรรมาธิการ กล่าวว่า การได้มาซึ่งอำนาจของนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ด้วยการโหวตในสภาเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2551 อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

แม้ว่า ส.ส.ในสภาของ 3 พรรคการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่ง ยุบเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2551 ยังมีสมาชิกภาพอยู่ แต่เมื่อไม่ได้สังกัดพรรค ทำให้ไม่มีสิทธิ์โหวตเลือกนายกฯ เพราะเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 ประกอบกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีความชัดเจนเกี่ยวกับสถานภาพของ ส.ส.ที่ต้องสังกัดพรรคการเมืองอยู่ตลอดเวลา และการทำหน้าที่ ส.ส.ต้องทำขณะที่มีสถานภาพความเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอยู่ด้วย ซึ่งมาตรา 20 วรรคหก ของ พ.ร.บ.ประกอบฯว่าด้วยพรรคการเมือง กำหนดสมาชิกภาพของส.ส.ของพรรคการเมืองที่ถูกยุบ และยังไม่ไปหาพรรคการเมืองอื่นสังกัด ให้ยังคงเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่ถูกยุบไป


ดังนั้นการโหวตเลือกนายกฯวันที่ 15 ธ.ค. 2551 มีส.ส.ของพรรคที่ถูกยุบได้แก่ พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย เข้าไปโหวตด้วย

จึงเป็นการไม่ชอบ เพราะเป็นการนำพรรคที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคไปแล้วเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ถือเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นในอนาคตหากมีการยุบพรรคประชาธิปัตย์ การโหวตเลือกนายกฯคนใหม่อาจมีปัญหาหากเทียบเคียงกับกรณีนี้


ด้านนายกฤช เอื้อวงศ์ ผอ.สำนักกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ สำหนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)กล่าวว่า

รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 93 บัญญัติว่า องค์ประกอบของสภาผู้แทนราษฎรต้องประกอบด้วยส.ส. 480 คน ซึ่งสามารถทำหน้าที่ในสภาได้ และมาตรานี้ไม่ได้พูดถึงสภาพของพรรคการเมือง และที่ ส.ส.โหวตในวันนั้นก็ไม่ได้ขัดรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 106 (8) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 20 (5) เนื่องจาก กฎหมาย 2 มาตรานี้ เป็นบทเฉพาะกาลในกรณีพรรคการเมืองถูกยุบจากคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ ส.ส.ยังไม่ได้สิ้นสภาพไปในทันที เพราะมีเวลาหาสังกัดใหม่ภายใน 60 วัน จึงมีสิทธิ์ทำหน้าที่ในสภาตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 93


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์