เรียงคิว...โยกข้าราชการ ปฏิบัติการ เพื่อบ้านเมือง หรือ ชำระแค้น!!?

สะพัดสุดๆ ต้องยกให้กับข่าว ปฏิบัติการโยกย้ายข้าราชการที่ทำให้สังคมไทยต้องฉงน!ปนสงสัย ด้วยแต่ละคิวแต่ละท่านที่โดนโยกย้ายล้วนถูกแต่งตั้งมาจากอำนาจรัฐประหาร รายล่าสุด 'พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส' แถมพ่วงคำสั่งสอบวินัยร้ายแรงซ้ำ

คิวที่ 1 ผู้พิพากษา... ที่ยอมหักแต่ไม่ยอมงอ

เมื่อวันที่ 25 ก.พ. นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มีคำสั่งโยกย้าย จากนายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ให้ไปรักษาการเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (ภาคเอกชน) หรือ ปปท.

ก่อนเข้ารับตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ นายสุนัย มโนมัยอุดม เคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ หลังจากนั้นได้รับการทาบทามจากนายจรัญ จรัญภักดีธนากุล ให้โอนตัวจากศาลยุติธรรมมาดำรงตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ

ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ นายสุนัยได้ทำคดีเกี่ยวกับรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หลายคดี โดยคดีสำคัญ ได้แก่ คดีเจ้าหน้าที่รัฐอุ้มตัวทนายสมชาย นีละไพจิต ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2548 คดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น บริษัท เอส ซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งมี พ.ต.ท.ทักษิณ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร และเครือญาติ เป็นผู้ต้องหาในคดีนี้ และดีเอสไอได้สรุปสำนวนสั่งฟ้องไปยังอัยการแล้ว นอกจากนี้ คดีที่ยังอยู่ในชั้นสอบสวนของดีเอสไอ ได้แก่ คดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร คดีทุจริตหลายโครงการในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นต้น

นายสุนัย ให้สัมภาษณ์หลังทราบเรื่องการถูกโยกย้ายดังกล่าวว่า ในวันนี้มีกระแสข่าวหนาหูในเรื่องนี้มาก และในช่วงเย็นที่ผ่านมา ได้รับแจ้งจากนายจรัญว่า ตนถูกย้ายไปช่วยราชการในตำแหน่งรักษาการ เลขาธิการ ป.ป.ท. สำหรับตนเมื่อมาอยู่ในระบบข้าราชการเป็นข้าราชการพลเรือนแล้ว ก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา สำหรับเรื่องการขอโอนกลับศาลยุติธรรมนั้น ตนต้องกลับแน่ แต่ยังไม่ใช่เวลานี้ จะต้องมีขั้นตอนดำเนินการ

เป็นคำสัมภาษณ์ที่คล้ายผู้ถูกกระทำรู้ในชะตากรรมของตนเอง และเตรียมใจมานานแล้ว หากนายสุนัย สามารถกลับโอนกลับไปทำงานที่ศาลยุติธรรมได้อย่างที่เจ้าตัวหวัง คงเป็นคำตอบสุดท้ายที่นายสุนัยจะใช้ความสามรถที่มีอยู่อย่างถูกที่ถูกเวลา

ประวัติ นายสุนัย เกิดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2491 ปัจจุบันอายุ 59 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกียรตินิยมดี (เหรียญเงิน) สำเร็จการศึกษาเนติบัณฑิตทั้งไทยและอังกฤษ รับราชการครั้งแรกที่กรมอัยการเมื่อปี 2522 ตำแหน่งอัยการผู้ช่วยกองคดี เป็นผู้พิพากษาประจำกระทรวงในปี 2524 เคยเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดทุ่งสง ศาลจังหวัดสุรินทร์ และในปี 2540 เป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ต่อมาเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ก่อนถูกย้ายโอนมาอยู่กระทรวงยุติธรรม และเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2549 คณะรัฐมนตรี ชุด พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ คนที่ 3 ก่อนจะถูกคำสั่งย้ายไปช่วยราชการในตำแหน่งรักษาการ เลขาธิการ ป.ป.ท.

คิวที่ 2  หมอศิริวัฒน์...ถูกย้ายเพราะซีอีแอล?

นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปรียบเหมือนขุนพลทัพหน้ารบกับบริษัทยาข้ามชาติ เพราะเป็นคนกรุยทางเปิดการเจรจาต่อรองกับบริษัทยาก่อนใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล)

นี่เป็นคำเปรียบเปรยหมอศิริวัฒน์ กับตำแหน่งเลขาธิการ อ.ย.ขณะนั้น ก่อนที่น.พ.ท่านนี้จะโดนคำสั่งเด้งจากตำแหน่งดังกล่าวไปสู่ตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อความเหมาะสม และด้วยสาเหตุนี้เองที่คล้ายแรงกระเพื่อมจากใต้น้ำ ผลักดันให้ข้าราชการในกระทรวงต่อต้านการกระทำของนายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผู้ลงนามในคำสั่งย้าย

ปฏิกิริยาหลังมีคำสั่งย้ายหมอศิริวัฒน์ มีทั้งที่มาจากตัวหมอศิริวัฒน์เอง และบุคคลรอบข้างที่ทำงานร่วมกับหมอศิริวัฒน์จนขนาดที่ว่าเลิกยกมือไหว้กันเลยทีเดียว

นพ.ศิริวัฒน์ เปิดเผยถึงการเดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตัวเองว่า จะดำเนินการต่อสู้โดยการขอยื่นอุทธรณ์ตามกระบวนการไปยังสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ตามขั้นตอนกระบวนการข้าราชการ ส่วนจะฟ้องศาลปกครองหรือไม่ ขอปรึกษาผู้ใหญ่ด้านกฎหมายก่อน

นอกจากหมอศิริวัฒน์จะต่อสู้เพื่อตัวเองแล้วกรณี เครือข่ายผู้ป่วยและแพทย์ชนบทเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ต่อสู้ด้วย โดยทางเครือข่ายจะการถวายฎีกาในวันที่ 29 กุมภาพันธ์นี้ด้วย

หากการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความถูกต้องของหมอศิริวัฒน์ประสบความสำเร็จ นั่นย่อมหมายความว่า บางทีอำนาจรัฐก็ไม่ใช่อานาจที่จะสามารถบันดาลทุกสิ่งได้อย่างที่ตั้งใจได้

หมอศิริวัฒน์ เกิดเดือนตุลาคม พ.ศ.2493 เป็นชาวกรุงเทพมหานคร โดยกำเนิด จบแพทยศาสตรบัณฑิตศิริราช ปี 2519, ปริญญาโท 3 ใบ ได้แก่ สาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล, โภชนาการชุมชน มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย และรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ผ่านอบรมนักบริหารระดับสูง ก.พ. ปี 2539

ตำแหน่งสำคัญๆ ในราชการ ตั้งแต่ปี 2520 เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล (ผอ.รพ.) อ.อุทุมพรพิสัย อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ, ผอ.รพ.เขาสมิง จ.ตราด, ผอ.รพ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี, รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตราด และนนทบุรี, หัวหน้าสำนักงานควบคุมการบริโภคยาสูบคนแรกในปี 2534, นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหนองคาย 6 ปี, รองเลขาธิการ อย., รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ปี 2547 นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 10 ก่อนลาออกไปสมัครเป็นผู้อำนวยการสำนักวิจัยระบบสาธารณสุข ระหว่างปี 2548-2549 ก่อนได้รับแต่งตั้งกลับมาเป็นเลขาธิการ อย.ในยุครัฐบาล 'ขิงแก่' ได้รับรางวัลนายแพทย์สาธารณสุขดีเด่น ปี 2537

คิวที่ 3  เหตุเพราะปิดช่องทีไอทีวี...อธิบดีกรมประชาฯจึงไม่รอด

เมื่อวันนี้ 28 ก.พ.สำนักนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งย้ายนายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ให้มาช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี

นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เหตุผลถึงคำสั่งว่า ตนเองเป็นผู้ทำเรื่องเสนอนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และได้มีการลงนามในคำสั่งแล้ว ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันพรุ่งนี้ และได้แต่งตั้งนายเผชิญ ขำโพธิ์ รองอธิบดีขึ้นรักษาการอธิบดีแทน ทั้งนี้ นายจักรภพ ให้สาเหตุในการโยกย้ายครั้งนี้ว่า เพื่อให้ช่วยดูงานสถานีโทรทัศน์อาเซียนที่จะเปิดขึ้นมาใหม่

เหตุผลดังกล่าวชั่งขัดกับความรู้สึกของคนส่วนใหญ่เสียจริง เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า นายปราโมทย์คือผู้เซ็นชื่อ งดการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ ทีไอทีวี เพื่อเปิดสัญญานทีวีสาธารณะช่องใหม่ที่ชื่อไทยพีบีเอส จนเป็นข้อพิพาทกันระยะหนึ่ง แต่ในที่สุด สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสก็ถือกำเนิดขึ้น พร้อมกับตอกฝาโลงสถานีดทรทัศน์ทีไอทีวี

สำหรับประวัตินายปราโมช รัฐวินิจ เกิดและโตอยู่กับกรมประชาสัมพันธ์ เนื่องจากบิดาและมารดารับราชการที่กรมประชาสัมพันธ์ ในวัยเด็กเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ เมื่อจบการศึกษาชั้นมัธยมแล้วได้สอบเข้าศึกษาในคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อร่วมรุ่นที่เป็นที่รู้จักกันดีในวงการได้แก่ 'อากู๋'  คุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม, พนา ทองมีอาคม, มานิจ โมฬีชาติ, วิทยา พุฒนกุล, จันทรา ชัยนาม, สนธิ เตชานันท์ เมื่อจบการศึกษานิเทศบัณฑิต ได้เข้ารับราชการในกรมประชาสัมพันธ์ เจริญรอยตามบิดา และจัดว่าเป็นลูกหม้อที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขโดยแท้ของกรมฯ

ปริญญาตรี สาขาวิชาสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปริญญาโท สาขานิเทศศาสตร์พัฒนาการ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วปรอ. 4414

คิวที่ 4 เด้งฟ้าผ่า...เสรีพิศุทธ์ ผบ.ตร. 5 เดือน

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส 'มือปราบตงฉิน' ท่านนี้ ระหว่างดำรงตำแหน่งรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรก.ผบ.ตร.)ขณะนั้น ได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ด้วย

ด้วยเหตุนี้นี่เอง การเข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ของพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จึงขัดหูขัดตาคณะรัฐบาล'สมัคร' เข้าจังเบอร์ ทำให้ระยะเวลาแห่งการทำงานผู้คุมอำนาจตำรวจต้องจบลงด้วยระยะเวลาเพียง 5 เดือนเท่านั้น และล่าสุดวันที่ 29 กุมภาพันธ์ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีจึงได้มีคำสั่งให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้ง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแทน

ท่าทีของพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จะเป็นเช่นไรต่อไป ไม่อาจรู้ได้ เพราะตัวท่านเองคงมีทางเลือกในใจเพียง 2 ทางเท่านั้น คือ ต่อสู้หรือนิ่งเงียบ เท่านั้น

ประวัติ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เกิดเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2491 ที่จังหวัดธนบุรี เป็นบุตร นายชื้น และ นางอรุณ เตมียเวส มีชื่อเล่นว่า 'ตู่' สมรสกับ นางพัสวีศิริ เตมียาเวส (สกุลเดิม เทพชาตรี) มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ น.ส.ศศิภาพิมพ์ เตมียาเวส, นายทรรศน์พนธ์ เตมียาเวส และ น.ส.ทัศนาวัลย์ เตมียาเวส

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จบศึกษาระดับมัธยมต้นจากโรงเรียนทวีธาภิเศก จากนั้นจึงได้ศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่น 8 โรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่น 24 เคยรับราชการอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์อย่างเข้มข้น ที่จังหวัดนครพนม ช่วง พ.ศ. 2520 จนได้รับการยกย่องว่าเป็น 'วีรบุรุษนาแก'

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เคยดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการกองปราบปราม เป็นระยะเวลาสั้นๆ เมื่อ พ.ศ. 2533-2534 ขณะ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี และต้องพ้นจากตำแหน่ง ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2534 เนื่องจากสนิทสนมกับ พลตรี มนูญกฤต รูปขจร ภายหลังจึงเปลี่ยนชื่อเป็น เสรีพิศุทธ์ นัยว่า เพื่อแก้เคล็ด เนื่องจากชื่อไม่ถูกโฉลก

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ มีภาพลักษณ์เป็นนายตำรวจมือปราบที่ซื่อตรง ได้ฉายาว่า 'มือปราบตงฉิน' ผู้มีอำนาจในหลายรัฐบาลมักเลือก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ให้เข้ามาจับคดีอื้อฉาวที่สังคมและสื่อตั้งข้อสงสัย แต่ก็ได้รับผลกระทบจากการเมืองบ่อยครั้ง โดยมักถูกโยกย้ายไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ได้ควบคุมกำลัง เช่น ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ หรือประจำกรมตำรวจ เป็นต้น

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา สบ.10 ก่อนจะมารักษาการในตำแหน่ง รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 แทน พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ที่ได้รับคำสั่งไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ได้รับการโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2550

คิวที่ 5 นี้...มีกระแสข่าวว่า ข้าราชการท่านต่อไปที่จะต้องถูกโยกย้าย คือ แม่ทัพหญิง แห่งธนาคารแห่งประเทศไทย

นางธาริษา วัฒนเกส  ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กับท่าทีแข็งกร้าวไม่ยกเลิกมาตรการกันเงินสำรอง 30 % จนมีกระแสข่าวว่าท่านอาจถูกขุนคลังทางเศรษฐกิจอย่างหมอเลี๊ยบ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ของรัฐบาล'สมัคร'ตะเพิดก็เป็นได้

และล่าสุดวันที่ 29 กุมภาพันธ์ รัฐบาลได้มีมาตรการยกเลิก ทำให้ชะตาชีวิตการเป็นผู้ว่า ธปท.เริ่มแสดงสีหม่นทันที และไม่มีใครรู้ว่าอนาคตข้างหน้าของเธอจะเป็นเช่นไรกับการกุมบังเหียน ผู้ว่าแบงค์ชาติคนปัจจุบัน

ส่วนประวัติของนางธาริษา วัฒนเกส เกิดเมื่อวันที่  30 พฤศจิกายน 2492  จบการศึกษาจาก เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคโอะ (Keio University) ประเทศญี่ปุ่น   ปริญญาโท เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคโอะ (Keio University) ประเทศญี่ปุ่น  และปริญญาเอก  เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน (Washington University) ประเทศสหรัฐอเมริกา

การทำงาน ปี 2545 - ต.ค. 2549 ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน  ,ต.ค. 2549 - พ.ย. 2549 : รักษาการผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ,พ.ย. 2549 - ปัจจุบัน : ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์