เพื่อไทยร้าว สุรพงษ์ ทิ้งรองหน.

พธม.ยอมสลายหลังตั้งกมธ.พิจารณาไทย-เขมร 

รัฐสภาไม่ลงมติ แต่ให้ตั้ง กมธ.ร่วมพิจารณา เจบีซี ไทย-กัมพูชา ศึกษาให้เสร็จใน 30 วัน การประชุมพิจารณาเจบีซี ไทย-กัมพูชา ทำพรรคเพื่อไทย ป่วน “สุรพงษ์” งัดข้อ  “วิทยา” ที่กลับลำเรียก ส.ส.เข้าร่วมประชุม เหน็บคนในพรรคแย่งกันเก่ง ประกาศทิ้งเก้าอี้ รองหัวหน้าพรรค “เลือกสู้เพื่อแม้ว” ส่วนพรรคเป็นรอง ด้าน “กษิต” ยัน เอ็มโอยู ไม่ทำให้เสียดินแดน แต่เป็นกรอบการเสนอเอกสาร เปรียบเหมือนแต่ละฝ่ายเสนอหลักฐานต่อศาล ไม่ผูกมัด ส่วน “มาร์ค” แจงสภา ไม่มีแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน ในเจบีซีแน่ ขณะที่ พันธมิตรฯ นับพันรวมตัวกดดัน แต่ยอมสลายตัวหลังมีการตั้ง กมธ.ร่วม “จำลอง” ลั่น 11 ธ.ค.กลับมาชุมนุมใหญ่อีกครั้ง  
    
เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 2 พ.ย. แนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิป ไตย เดินทางทยอยมารวมตัวกัน ที่ฝั่งทางเท้าบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ด้านหน้าสวนอัมพร โดยนัดชุมนุมใหญ่ เพื่อคัดค้านการพิจารณารับรองบันทึกการประชุม คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ไทย-กัมพูชา 3 ฉบับ ซึ่งจะเข้าสู่ที่การลงมติของสองสภาทั้ง ส.ว. และ ส.ส. ต่อมา 08.00 น.  แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ นำโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายพิภพ   ธงไชย ได้ขึ้นบนรถปราศรัยประกาศจัดระเบียบผู้ชุมนุม โดยให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ให้ชุมนุมเลยเข้ามาบนผิวการ จราจร จากนั้นจึงได้เคลื่อนขบวนจากบริเวณ ลานพระบรมรูปทรงม้าไปยังหน้ารัฐสภา นายสนธิ ขึ้นปราศรัยว่า ถ้ารัฐสภายังให้การรับ รองบันทึกการประชุมเจบีซี ทั้ง 3 ฉบับในวันนี้ก็ไม่เป็นไร พันธมิตรฯ จะมาชุมนุมอีกครั้งในเดือนธันวาคม และจะยืนหยัดชุมนุมจนกว่ารัฐบาลจะยกเลิกบันทึกการประชุมทั้ง 3 ฉบับ ไม่เช่นนั้นจะไม่เลิกการชุมนุม ส่วนวันนี้เราเพียงแค่มาแสดงเจตนารมณ์ให้รัฐบาลได้รับรู้เท่านั้น 

“จำลอง”ท้ามาจับคุยคุ้นเคยคุก
    
ด้าน พล.ต.จำลอง กล่าวว่า ขอให้ ส.ส. และ ส.ว.ที่เข้าประชุมในวันนี้ จะทำอะไรให้ตัดสินใจให้ดี คนชื่อจำลองไม่ได้ข่มขู่ แต่ถ้ามติออกมาทำให้เราเสียดินแดนให้เขมร ตนจะไม่ยอมหยุดอยู่แค่นี้ ตนจะต้องไปถึงทำเนียบ ถ้าตำรวจจะมาจับ ก็ให้มาจับ เพราะพี่น้องเรามีจำนวนมากจนคุกไม่พอใส่อย่างแน่นอน และถ้าจะจับ พล.ต. จำลองก็มาจับเลย ไม่กลัว เพราะเคยติดคุกมาหลายครั้ง ขอยอมเสียอิสรภาพดีกว่าให้ประเทศเสียดินแดน ดังนั้นถ้ารัฐสภามีมติซึ่งมีผลออกมาว่าทำให้เราเสียดินแดน แกนนำพันธมิตรฯ ได้หารือกันแล้วว่ามีการชุมนุมต่ออย่างแน่นอน เพราะถ้าประเทศไทยเสียดินแดนเรายอมไม่ได้ พันธมิตรฯ จะสู้ต่ออย่างแน่นอน แต่ยังไม่ใช่การปักหลักพักค้างที่หน้ารัฐสภาในวันนี้ ส่วนจะมาอีกครั้งในวันไหน แกนนำจะหารือกันต่อไป

ส.ส.พท.ไม่ร่วมประชุมสภา

เมื่อเวลา 07.30 น. ส.ส.พรรคเพื่อไทย ประมาณ 20 คน นำโดย นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ นายสุชาติ ลายน้ำเงิน ส.ส.ลพบุรี นางบุญรื่น ศรีธเรศ ส.ส.กาฬสินธุ์ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ส.ส. เชียงใหม่ นายไพโรจน์ อิสระเสรีพงษ์ ส.ส. กรุงเทพฯ ได้รวมตัวที่มูลนิธิ 111 ไทยรักไทย ย่านนางเลิ้ง เพื่อร่วมประเมินสถานการณ์กรณีที่กลุ่มพันธมิตรฯ ชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภา เพื่อเรียกร้องให้รัฐสภาเลื่อนการลงมติรับรองร่างบันทึกความตกลง 3 ฉบับฯ ก่อนตัดสินใจว่าจะเดินทางเข้ารัฐสภาเพื่อประชุมร่วมรัฐสภาหรือไม่ 
    
นายสุรพงษ์ และนายสุชาติ ร่วมแถลงข่าวว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องระหว่างนายกรัฐมนตรีและกลุ่มพันธมิตรฯ เพราะได้ตกลงกันมาตั้งแต่ต้นไม่เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทย วันนี้เมื่อกลุ่มพันธมิตรฯ ออกมาชุมนุมปิดล้อมรัฐสภา จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามว่านายกรัฐ มนตรีจะแก้ไขปัญหาอย่างไรต่อไป พร้อมขอให้สื่อช่วยติดตามเนื่องจากพื้นที่ กทม.ยังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่กลับพบว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมารักษาความปลอดภัยบริเวณอาคารรัฐสภาน้อยมาก และไม่เห็นทหารแม้แต่รายเดียวไม่มีการตั้งด่านสกัดเหมือนเช่นกรณี การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง จึงตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการจัดฉากระหว่างรัฐบาลกับคนเสื้อเหลืองหรือไม่
    
ต่อมาเวลา 10.20 น. นายวิทยา บุรณศิริ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ได้ส่งเอสเอ็มเอสเข้าโทรศัพท์มือถือของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย โดยระบุว่า “ให้ ส.ส.พท.เข้าร่วมประชุมสภาและเตรียมอภิปรายตามมติที่ประธานวิปฯแจ้ง” ปรากฏว่านายสุรพงษ์ได้รับข้อความ ดังกล่าวจึงให้สัมภาษณ์ด้วยน้ำเสียงและสีหน้าเคร่งเครียดว่า ประธานวิปฯ ไม่ได้เข้าร่วมประชุม ส.ส.และไม่ทราบว่าที่ประชุม ส.ส.รวมถึง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.มีมติชัดเจนให้ตนนำเพื่อนสมาชิกมารวมตัวที่มูลนิธิ 111 เพราะเราไม่สามารถรับรองกรอบการเจรจาไทย-กัมพูชาได้ แต่จู่ ๆ ก็กลับลำ ในฐานะที่ตนอยู่ใน ทางการเมืองถือว่าพรรคเพื่อไทยอ่อนแอมาก เราเป็นพรรคใหญ่มีคนเก่งเยอะทุกคนเก่งหมดนี่คือปัญหาของพรรคเพื่อไทย 

ใกล้แตก“สุรพงษ์”ไขก๊อก 
    
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในพรรค ทำให้ตนตัดสินใจลาออกจากการเป็นรองหัวหน้าพรรคไปในวันที่ 28 ต.ค.    ที่ผ่านมา และคณะกรรมการการเลือกตั้ง   (กกต.) จะรับรองในวันนี้ เดิมทีตนตั้งใจว่าจะไม่พูดเรื่องนี้ แต่วันนี้ไหน ๆ แล้วตนขอพูด ส่วนเหตุผลที่ลาออกเนื่องจากความไม่เป็นธรรม และความมี 2 มาตรฐานยังอยู่ในสังคมไทย และตนยังต้องการสู้เพื่อ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ส่วนพรรคเป็นเรื่องรอง พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องมาก่อน เมื่อถามว่าความไม่เป็นธรรม และสองมาตรฐานหมายถึงสภาในพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ไปคิดเอาเอง แต่ตนไม่อยู่สักคนพรรคก็ดำเนินการต่อไปได้ 
    
“พรรคเราคนมันมีจินตนาการ คิด   ว่าฝ่ายรัฐบาลจะยอมเปิดให้มีการอภิปรายกรอบเจรจาไทย-กัมพูชา ไม่เคยนั่งประชุมสภาจนครบเวลาแต่ผมนั่งอยู่ตลอด เลยรู้ทันเกมการเมือง ซึ่งผมเชื่อว่านายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาจะไม่เปิดให้มีการอภิปรายแต่จะให้ลงมติเลย ต้องยอมรับว่างานในสภา เราแพ้ฝ่ายตรงข้ามตลอด และการเมืองในพรรคเพื่อไทยก็ยังเป็นอย่างนี้อีกเราอ่อน” นายสุรพงษ์กล่าว 
    
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างที่นายสุรพงษ์ให้สัมภาษณ์อยู่นั้น นายวิทยาได้โทรศัพท์เข้ามือถือของนายสุรพงษ์ โดยเรียกให้นายสุรพงษ์ เข้าไปพูดคุยกันในสภาแต่ นายสุรพงษ์ยืนยันที่จะไม่เข้า และได้ยกมติที่ประชุม ส.ส. พรรคมาโต้แย้งกับ นายวิทยา และอยู่ติดตาม สถานการณ์ที่มูลนิธิ 111 ไทยรักไทยต่อ ซึ่งในการประชุมกรรมการบริหารและแกนนำพรรคเพื่อไทย มีความเห็นว่าผู้ที่เป็นกรรมการบริหารพรรค การเคลื่อนไหวใด ๆ ควรจะต้องระมัดระวังตัว เพื่อไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามใช้เป็นช่องทางยื่นคำร้องยุบพรรคเพื่อไทย ซึ่งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่มี ส.ส.ดำรงตำแหน่งจำนวนมาก จึงเกรงว่าจะถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นายสุรพงษ์ตัดสินใจยื่นใบลาออกเพื่อความสบายใจในการเคลื่อนไหวทางการเมือง 

เอ็มโอยูไม่ทำให้เสียดินแดน
     
เมื่อเวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา (ครั้งที่ 6) มีนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธาน มีวาระที่สำคัญคือ บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) 3 ฉบับ และรายงานผลการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 6 ซึ่งเป็นการพิจารณาต่อจากการประชุม เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 
    
นายกษิต ภิรมย์ รมว.การต่างประ เทศชี้แจงว่า บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา ว่าด้วยการจัดทำ หลักเขตแดนทางบก ปี 2543 (เอ็มโอยู 2543) เป็นเครื่องมือในการเจรจาเขตแดนว่า เส้นเขตแดนตามอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ปีค.ศ. 1904 และ 1907 ตกลงกันไว้ที่ใด ไม่ใช่ความตกลงเพื่อปักปันเขตแดนหรือตกลง เพื่อแบ่งเขตแดนกันใหม่ แต่เป็นกรอบ      ทวิภาคี เพื่อเสนอเอกสารว่า จะใช้เอกสารหลักฐานอะไรบ้าง ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็เสนอหลักฐานที่เชื่อว่าเป็นหลักฐานสำคัญของฝ่ายตนเอง ไม่ได้เป็นการยอมรับ แผนที่พนม ดงรัก 1 : 200,000 อาจเทียบได้กับกระบวน การในศาลที่ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถเสนอพยานหลักฐาน แต่ไม่ได้ผูกมัดให้ฝ่ายใดต้องยอมรับพยานหลักฐานนั้น ซึ่งการดำเนินการตามเอ็มโอยู 2543 ต้องสำรวจพื้นที่จริง ใช้ภาพถ่ายทางอากาศตรวจสอบ  

ไทยมีสิทธิไม่ใช้อนุสัญญา 
    
นายกษิต กล่าวว่า ฝ่ายไทยมีเอกสารเขตแดนไทยกัมพูชาตามอนุสัญญาปี ค.ศ. 1904 และ 1907 ที่ยืนยันตามสันปันน้ำเทือกเขาพนมดงรัก นอกจากนี้ ที่ผ่านมา คณะกรรมการผสมปักปันเขตแดน และ     ในศาลโลกก็ไม่ได้ตัดสินเรื่องเส้นเขตแดน และจำกัดการพิจารณาว่า จะไม่พิจารณาเส้นเขตแดนตามแผนที่พนมดงรัก 1:200,000 ฉะนั้น ไทยจึงมีสิทธิใช้อนุสัญญาปี ค.ศ. 1904, ค.ศ. 1907 คือยืนยันเขตแดนตามสันปันน้ำ และปฏิเสธแผนที่พนมดงรักมาตลอด เพราะคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ขณะนี้ ที่มีหลายฝ่ายแสดงความกังวลว่า อาจเสียเปรียบกัมพูชานั้น ขณะนี้ ข้อตกลงชั่วคราวรัฐบาลไทย-กัมพูชา ที่เป็นการลดการเผชิญหน้าและเป็นกลไกการดำเนินการเจรจาในช่วงการเจรจาปักปันเขตแดนยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งกำลังดำเนินการเจรจาจัดทำอยู่ หากเสร็จ  ก็จะเสนอเข้า ครม.แล้วค่อยเข้าสู่รัฐสภาเพื่อ ให้ความเห็นชอบตามกรอบรัฐธรรมนูญ 

ยืนยันไม่ใช้แผนที่ 1:2 แสน 
    
จากนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า กรณีนี้ประชาชนสนใจ   มีการให้ข้อมูลจากหลายฝ่าย ทำให้สังคมอาจสับสนเกี่ยวกับจุดยืนของรัฐบาล จึงขอ    ทำความเข้าใจเท่าที่พูดได้เพราะไม่มีการ  ประชุมลับ โดยยืนยันว่า การดำเนินการที่  ทำในขณะนี้สอดคล้องแนวทางที่ตนเคยแสดงความเห็นไว้ในที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ตนดำรง ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวคือรัฐบาลนี้เข้ามาเดือน ธ.ค. 51 เริ่มต้นจากการมีโจทย์    ที่จะต้องแก้ไขเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศจากปัญหาที่มีความซับซ้อนช่วงกลางปี 51 ที่รัฐบาลชุดที่แล้วไปเจรจาแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ที่กัมพูชาจะขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ตอนนั้น ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าเป็น “โมฆะ” แต่คณะกรรมการมรดกโลกก็ยอมรับการขึ้นทะเบียน โดยมีเงื่อนไขว่า กัมพูชาต้องเสนอแผนการจัดการพื้นที่ สิ่งที่คนไทยวิตกคือ ตอนนั้นมีการรับรองพื้นที่ 1:200,000 หรือไม่ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า “โมฆะ” ทางการไทยก็แจ้งไปกัมพูชา ขณะเดียวกัน วันที่มีการเสนอกรอบการเจรจาฉบับนี้ มีการแนบแผนที่ฉบับดังกล่าวเข้ามาสภา ตนในฐานะ ผู้นำฝ่ายค้าน ก็ได้คัดค้าน และได้คุยกับรัฐบาล นั้นจนมีการถอนแผนที่ดังกล่าวออก จึงยืนยัน ว่า ตอนนี้ไม่มีแผนที่ดังกล่าวในกรอบเจบีซี 

“บัน คี มูน” เชื่อแก้ปัญหาได้
    
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า อีกประการที่เอ็มโอยูมีประโยชน์คือ เมื่อกัมพูชามีความพยายามเสนอแผนบริหารจัดการและดึงยูเนสโกและผู้แทนประเทศต่าง ๆ เข้ามา และมีความพยายามร้องว่า ไทยไม่อำนวยความสะดวกต่อกระบวนการนานาชาติ ตนก็จะ   แจ้งไปยังยูเอ็นว่า เรื่องความขัดแย้งไม่ต้องเป็นห่วง เพราะรัฐบาลไทย-กัมพูชา มีบันทึกความเข้าใจความตกลงร่วม และเจบีซี เพื่อเจรจาเรื่องนี้อยู่แล้ว นอกจากนี้ 2-3 เดือนที่แล้ว นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ไปเยือนกัมพูชา ต่อมาก็มาเยือนไทย ตนมีโอกาสอธิบายกับเลขาฯ ยูเอ็น จากนั้นเลขาฯ ยูเอ็นก็ไปเยือนกัมพูชา ปรากฏว่า ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนล่าสุด เลขาฯ ยูเอ็นพูดชัดเจนบนเวทีว่า หลังจากมาเยือนไทย และกัมพูชา มีความสบายใจว่า ปัญหาข้อขัดแย้ง เป็นเรื่องที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะแก้ไขกันเองได้ ดังนั้นตนยืนยันว่า เอ็มโอยู และเจบีซี มีประโยชน์ ตนจะไม่บอกว่า คนที่เรียกร้องให้ยกเลิก จะทำไทยเสียประโยชน์เพียงแต่น่าจะเป็นความเข้าใจข้อมูลไม่ตรงกันมากกว่า
    
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ตนมีโอกาสพบสมเด็จฮุนเซน นายกฯกัมพูชา ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ทั้งที่นิวยอร์ก บรัสเซลส์ ฮานอย ได้ อธิบายว่า เรื่องนี้ละเอียดอ่อน มีกระบวนตามรัฐธรรมนูญของไทย ซึ่งสมเด็จฮุนเซนก็ยอมรับ ไม่ได้ติดใจว่า ไทยไม่ได้เจรจาตามกรอบทวิภาคี ซึ่งเรื่องความช้าความเร็ว ตนก็อธิบายไปหมดแล้ว แต่ก็ยังแสดงความจริงใจในกระบวนการทวิภาคีในการแก้ปัญหา เพราะไม่เช่นนั้น กัมพูชาอาจไปร้องยูเอ็นอีก  

ตั้ง กมธ.ร่วมศึกษาใน 30 วัน
    
ภายหลังการอภิปรายกว่า 2 ชม.ครึ่ง นายวรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก วิปรัฐบาลจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันตามที่ รมว. การต่างประเทศ เสนอ โดยที่ประชุมเสียง ส่วนใหญ่เห็นชอบให้มีการตั้งกรรมาธิการ   ร่วม 30 คน แบ่งเป็น ส.ว. 7 คน ส.ส. 23 คนพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน
    
ต่อมาเวลา 13.00 น. ที่ประชุมได้เข้าสู่การพิจารณารายงานผลการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 6 ซึ่ง ครม.เป็นผู้เสนอ โดยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ได้ขอให้เป็นการประชุมลับ เนื่องจากเกี่ยวกับความมั่นคง โดยใช้เวลา 10 นาที 

ประกาศชุมนุมอีก 11 ธ.ค.
    
ส่วนบรรยากาศด้านหน้ารัฐสภา ม็อบพันธมิตรฯ ได้มายึดพื้นที่ถนนอู่ทองใน นั่งฟังการปราศรัยแกนนำที่สลับกันขึ้นเวทีโจมตีขายชาติโกหกประชาชนและขู่ว่าหากไม่ให้เพิกถอนเอ็มโอยู 43 จะชุมนุมจนกว่าจะชนะ สำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัย พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น. 1 ควบคุมสั่งการตำรวจปฏิบัติ 5 กองร้อย 750 นาย พร้อมด้วยหน่วยจู่โจม ชุด ปะฉะดะ 18 นาย เข้าดูแลความสงบเรียบร้อย
    
กระทั่งเวลา 11.00 น. นายชวนนท์ อินทรโกมารสุต เลขานุการ รมว.การต่างประเทศ ได้ออกมาแจ้งกับ นายสนธิ ว่า ในวันนี้จะยังไม่มีการลงมติรับรองบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม ไทย-    กัมพูชา และจะทำการจัดตั้งคณะกรรมาธิ การเขตแดนร่วม ไทย-กัมพูชา ขึ้นใหม่ โดยจะให้มีส่วนร่วมระหว่าง ส.ส. ส.ว. และภาคประชาชน ซึ่งจะใช้เวลา 30 วันในการพิจารณาร่างดังกล่าวก่อนนำเข้าที่ประชุม ส.ว. และ ส.ส.อีกครั้ง ซึ่งนายสนธิ ขึ้นกล่าวปราศรัยว่า ถือว่าทางรัฐบาลยังใจกว้าง แต่ก็ยังไว้ใจไม่ได้ จึงอยากให้รัฐบาลประกาศ  อย่างเป็นทางการว่าจะให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในคณะกรรมาธิการอย่างแท้จริง โดย จะให้เวลารัฐบาลในการจัดตั้งเป็นเวลา 30 วัน หลังจากนั้นในวันที่ 11 ธ.ค.นี้ กลุ่มพันธมิตรฯ จะมารวมตัวชุมนุมใหญ่ที่สะพานมัฆวาน ถนน ราชดำเนินอีกครั้ง เพื่อติดตามผลการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมต่อไป



เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์