เผย4โรดแม็พกองทัพ!หลังรัฐประหารเที่ยวล่าสุด

เผย4โรดแม็พกองทัพ!หลังรัฐประหารเที่ยวล่าสุด


เผย4'โรดแม็พ'กองทัพ!หลังรัฐประหารเที่ยวล่าสุด 


น่าติดตามอย่างยิ่งว่า การเข้ามา "ยึดอำนาจ" การบริหารจัดการประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ครั้งนี้มีเส้นทางเดิน หรือ "โรดแม็พ" ในการหาทางออกของประเทศอย่างไร เพราะบทเรียนจากการยึดอำนาจเมื่อปี 2549 แสดงให้เห็นชัดเจนว่า การเข้ามายึดอำนาจ และแต่งตั้งรัฐบาลที่มีภาพใกล้ชิดกับกองทัพ ไม่ประสบผลสำเร็จโดยสิ้นเชิง

               มิหนำซ้ำ ยังทำให้ขบวนการมวลชนของระบอบทักษิณ คือ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เติบโต และเข้มแข็งขึ้นตามลำดับ ขณะที่การบริหารประเทศก็ไม่ปรากฏผลงานชัดเจน ท่ามกลางการก่อเหตุรุนแรงเพื่อ "ลองของ" กองทัพอยู่เนืองๆ

               ที่สำคัญเมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไป "พรรคพลังประชาชน" ภายใต้การสนับสนุนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ซึ่งเท่ากับเป็นการ "ตบหน้า" การยึดอำนาจโดยกองทัพเมื่อปี 2549 ว่า ล้มเหลวในทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง ขณะที่ "ความขัดแย้ง" ในหมู่ประชาชนก็ยังดำรงอยู่ ซ้ำยังฝังรากลึกและทวีความรุนแรงขึ้นจากเดิมไม่รู้กี่เท่า

               ดังนั้น ในการยึดครั้งนี้ กองทัพจึงต้องวางโรดแม็พอย่างรอบคอบที่สุด เพราะไม่ต้องการให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย กลายเป็น "ปฏิวัติปราสาททราย" ที่ไม่น่าจดจำเหมือนเช่น 8 ปีก่อน โดยโรดแม็พเร่งด่วนที่กองทัพต้องดำเนินการมี 4 แนวทาง ดังนี้

               แนวทางที่ 1 การป้องปรามและสกัดกั้นไม่ให้ "กองกำลังใต้ดิน" ออกมาก่อเหตุก่อกวน และตอบโต้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งกองทัพเคยมีบทเรียนมาแล้วหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ที่ถูกกลุ่มกองกำลังใต้ดินออกมาก่อเหตุรุนแรงทั้งการลอบวางระเบิด และยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 เพื่อดิสเครดิตรัฐบาลคมช. อย่างต่อเนื่อง

               รวมทั้งกองทัพยังได้รับบทเรียนจากปรากฏการณ์ "ทหารแตงโม" และ "ตำรวจมะเขือเทศ" ในการเข้าควบคุมการชุมนุมของกลุ่มนปช. เมื่อปี 2553 ที่มีข่าวรั่วข่าวหลุดมาจาก ศอฉ. อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังได้วางแนวทางสกัดกั้นการปลุกระดมมวลชน โดยมอบอำนาจให้กองทัพภาคทั้ง 4 ภาครับไปดำเนินการด้วย เพื่อให้ช่วงเปลี่ยนผ่านทางอำนาจของ คสช. เป็นไปโดยราบรื่นที่สุด

               แนวทางที่ 2 การเร่งชี้แจงต่อนานาชาติ โดยในวันที่ 23 พฤษภาคม ได้มีการเชิญเอกอัครราชทูต อุปทูต และองค์การต่างประเทศ เช่น องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจถึงความจำเป็นเร่งด่วนของกองทัพในการเข้ามาควบคุมสถานการณ์ของประเทศ โดยมีบทเรียนจากการยึดอำนาจเมื่อปี 2549 ที่ได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (อียู)

               นอกจากนี้ ยังเป็นการเร่งรับมือยุทธศาสตร์ "โลกล้อมประเทศ" ของกลุ่มการเมืองฝั่งตรงข้าม ซึ่งได้วางยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี และเครือข่ายมานานหลายปีนับตั้งแต่การรัฐประหารครั้งที่แล้ว และหลังการรัฐประหารในครั้งนี้ก็เริ่มมีมาตรการกดดันจากต่างชาติ ทั้งการทบทวนความสัมพันธ์ และตัดความร่วมมือ หรือช่วยเหลือทางทหารบ้างแล้ว และคงจะทยอยมีมาอีกเรื่อยๆ

               แนวทางที่ 3 การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่คงค้าง และการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่ซบเซามาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการชุมนุมตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งในที่นี้หมายถึงการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มเข้ามาบริหารประเทศเพื่อให้มีอำนาจเบิกจ่ายงบประมาณ รวมทั้งเร่งช่วยเหลือประชาชนจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรับจำนำข้าว

               แนวทางที่ 4 การเร่งปฏิบัติภารกิจ "ปฏิรูปประเทศ" ที่มีเสียงเรียกร้องจากประชาชนจำนวนมากที่ต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศในหลายด้าน เช่น ความเหลื่อมล้ำเชิงสังคม และเศรษฐกิจ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การปฏิรูประบบเลือกตั้ง การปฏิรูประบบภาษี-ที่ดิน การปฏิรูปพลังงาน เป็นต้น

               ทั้ง 4 โรดแม็พข้างต้นถือเป็นภารกิจเร่งด่วนของกองทัพที่มุ่งจะสะสางปัญหาของประเทศที่สะสมมานาน และทวีความสลับซับซ้อน และรุนแรงยิ่งขึ้นหลังการรัฐประหารเมื่อ 8 ปีก่อน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่ท้าทายที่สุดอีกประการ คือ การแสวงหาแนวทาง "ปรองดอง" แห่งชาติที่จะเป็นกุญแจแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน แต่ก่อนอื่นคงต้องเร่งสาง 4 ภารกิจเร่งด่วนนี้ให้สำเร็จเสร็จสิ้นลงเสียก่อน

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์