เปิดเนื้อหาตำราต้องห้ามวิชาสังคมชั้น ม.6 เตรียมอุดมฯแสยงหัวใจกลุ่มเสื้อแดง

หมายเหตุ"มติชนออนไลน์"-เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งของเอกสารประกอบกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันตั้งแต่ช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จนถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รวมถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยเพื่อต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)
 
---------------------------
 
24.5 รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (9 กุมภาพันธ์ 2544-8 มีนาคม 2548)
 
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย นำนโยบายประชานิยมมาใช้ในการหาเสียง ทำให้พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงขึ้นดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี และได้รับความนิยมจากประชาชนระดับรากหญ้าเป็นอย่างมาก จนสามารถบริหารประเทศจนครบวาระ 4 ปีเป็นครั้งแรก

24.6 รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (2) (9 มีนาคม 2548-24 กุมภาพันธ์ 2549)

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2548 พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย (ประชาชนลงคะแนนเสียงเลือกพรรคไทยรักไทย 19 ล้านเสียง) ทำให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้โดยพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว ได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2 ด้วยการที่พรรคไทยรักไทยสามารถครองเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด (ด้วยการควบรวมพรรคการเมืองอื่นมาอยู่ในพรรคไทยรักไทย) ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีอำนาจรวมทั้งมีบารมีที่เป็นบุคคลที่ร่ำรวยในระดับต้นๆ ของประเทศ จึงดำเนินการครอบงำวุฒิสภา และองค์กรอิสระต่างๆ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ฯลฯ เพื่อทำให้องค์กรอิสระต่างๆ ขาดประสิทธิภาพที่จะตรวจสอบหรือทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญเพื่อตรวจสอบการทุจริต ประพฤติมิชอบของผู้มีตำแหน่งทางการเมือง และในขณะเดียวกัน ก็ดำเนินการครอบงำปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนในการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์พิจารณ์ เพื่อถ่วงดุลตรวจสอบผู้บริหารประเทศ

ประชาชนและองค์กรต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับพฤติการณ์และการกระทำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงเกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่มต่อต้านคัดค้าน ด้วยการชุมนุมประท้วงขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นระยะๆ โดยเฉพาะการรวมกลุ่มของกลุ่มพันธมิตรประชาชน เพื่อประชาธิปไตย ที่ทำโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล และพลตรีจำลอง ศรีเมือง จนทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549

24.7 รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (3) (24 กุมภาพันธ์ 2549-19 กันยายน 2549)

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 พรรคการเมืองฝ่ายค้านประกอบด้วยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ไม่ได้ส่งสมาชิกพรรคลงแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยอ้างว่าพรรครัฐบาลคือพรรคไทยรักไทย ใช้อำนาจทางการเมืองในฐานะที่เป็นฝ่ายรัฐบาลเอาเปรียบพรรคการเมืองฝ่ายค้าน รวมทั้งเข้าแทรกแซงกลไกของรัฐต่างๆ เพื่อเอาชนะในการเลือกตั้ง ทำให้พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งแบบไร้คู่แข่งขัน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 3

แต่การเป็นนายกรัฐมนตรีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ครั้งนี้ ได้รับการคัดค้าน ต่อต้านจากหลายๆ ฝ่าย ตั้งแต่พรรคการเมืองฝ่ายค้าน นักวิชาการ องค์กรต่างๆ และประชาชน ฯลฯ เช่น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ยื่นฟ้องให้ยุบพรรคไทยรักไทยในความผิดที่พรรคไทยรักไทยว่าจ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กให้ส่งคนสมัครรับเลือกตั้ง
เลขาธิการคณะรัฐมนตรีนายบวรศักดิ์ สุวรรณโณ และรองนายกรัฐมนตรีนายวิษณุ เครืองามขอลาออกจากตำแหน่ง สมาชิกวุฒิสภายื่นเรื่องให้ศาลปกครองวินิจฉัยสถานะของนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะการชุมนุมขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่มีผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนถึง 100,000 คน ในแต่ละครั้งและดำเนินการกดดันรัฐบาลด้วยการชุมนุมล้อมรอบทำเนียบรัฐบาล สถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศไทยดังกล่าวนี้ทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ จนเกิดการรับประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยมี พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปฯ

24.8 รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ (1 ตุลาคม 2549-28 มกราคม 2551)

พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีพลเอกสนธิ บุญรัตนกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ค.ม.ค.) เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการฯ และมีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) มีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงแห่งชาติ มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้งจำนวน 242 คน ทำหน้าที่นิติบัญญัติ และมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 18 และประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550
 

24.9 รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช (รัฐบาลอมินี) (29 มกราคม 2551-9 กันยายน 2551)
 

จากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 พรรคพลังประชาชน (พรรคไทยรักไทยเดิม) ชนะการเลือกตั้งจึงได้จัดตั้งรัฐบาลโดยมีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชน นักวิชาการ และกลุ่มพันธมิตร ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ว่าเป็น "รัฐบาลนอมินี" คือเป็นรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ตามคำสั่งยุบพรรคไทยรักไทย และมีการประท้วงของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเมื่อประชาธิปไตย

และในที่สุดนายสมัคร สุนทรเวช ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551 ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งกรณีเป็นพิธีกรทางโทรทัศน์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 91 มาตรา 182 วรรค (7) ที่มีบทบัญญัติห้ามนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน
 

24.10 รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (รัฐบาลนอมินี 2) (18 กันยายน 2551-2 ธันวาคม 2551)
 

เมื่อนายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐสภาได้ประชุมและเลือกนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์น้องเขย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พรรคพลังประชาชนเป็นนายกรัฐมนตรี โดยยังมีหลายฝ่ายได้วิพากษ์วิจารณ์ รวมทั้งคัดค้าน ประท้วงว่าเป็นรัฐบาลนอมินี หรือรัฐบาลตัวแทนพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้รวมกลุ่มประท้วง และทำการปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลไม่ให้คณะรัฐมนตรีที่มีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีเข้าทำงานที่ทำเนียบรัฐบาล จนต้องย้ายสถานที่การประชุมคณะรัฐมนตรี และที่ทำงานของรัฐบาลไปที่สนามบินดอนเมืองแทน

จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ยุบพรรคประชาชน เนื่องจากรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน (นายยงยุทธ ติยะไพรัช) กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ. 2550 และรัฐธรรมนูญมาตรา 68 มาตรา 237 วรรคสอง เพิกถอนสิทธิทางการเมือง หัวหน้าพรรคพลังประชาชน และกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนจำนวน 13 คน เป็นเวลา 5 ปี ทำให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

24.11 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (17 ธันวาคม 2551-ปัจจุบัน)

เมื่อนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่ประชุมรัฐสภาได้เลือกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย (เป็น ส.ส.ที่ย้ายมาจากพรรคพลังประชาชนที่ยุบพรรค) และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (น.ป.ช.หรือกลุ่มเสื้อแดง) ต่อต้านและประท้วงการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยกล่าวหาว่าเป็นการปล้นประชาธิปไตย ทั้งนี้เพราะว่าพรรคประชาธิปัตย์มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นลำดับที่สองรองจากพรรคเพื่อไทยดำเนินการชักชวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เรียกว่า "กลุ่มเพื่อนเนวิน (นายเนวิน ชิดชอบ)" ที่สังกัดพรรคพลังประชาชนที่ถูกยุบพรรคไป มาร่วมสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคชาติไทยพรรคเพื่อแผ่นดิน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา พรรคมัชฌิมาธิปไตย ทำให้พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาราชกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรแทนพรรคประชาธิปัตย์

การขึ้นนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เนื่องจากพรรคการเมืองที่มาสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดังกล่าวข้างต้นต่างก็เคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทยหรือพรรคพลังประชาชน หรือพรรคไทยรักไทย ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้อยู่เบื้องหลังของพรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชาชน ดังนั้นการบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงประสบกับความยุ่งยาก เพราะต้องบริหารงานร่วมกับกลุ่มคณะรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคยสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาก่อน และยังต้องเผชิญกับการประท้วงของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (น.ป.ช.) ที่ได้รับการสนับสนุนจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ด้วยการโฟนอินและถ่ายทอดสัญญาณวิดีโอลิงค์มายังสถานที่ชุมนุมของกลุ่ม น.ป.ช.เกือบทุกวัน ประกอบกับสถานการณ์ตกต่ำทางเศรษฐกิจที่ขยายลุกลามไปทั่วโลก ตั้งแต่ปลายปี 2551 รวมทั้งประเทศไทย ทำให้รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะต้องประสบมรสุมในการบริหารประเทศเป็นอย่างมาก
 

25 การเมืองภาคประชาชน
 
25.1 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(กลุ่มเสื้อเหลือง)
 
หลังจากที่คณะกรรมการ อ.ส.ม.ท.(โมเดิร์นไนทีวี) มีคำสั่งให้ระงับรายการ "เมืองไทยรายสัปดาห์" ที่มีนายสนธิ ลิ้มทองกุล และนางสาวสโรชา พรอุดมศักดิ์ เป็นผู้ดำเนินรายการเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2548 ทำให้ผู้ดำเนินรายการทั้งสองได้ย้ายรายการ "เมืองไทยรายสัปดาห์" ไปออกอากาศที่สถานีโทรทัศน์ ASTV ฟรีทีวี ระบบดาวเทียมที่สตูดิในอาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ โดยเนื้อหารายการยังเดินหน้าเปิดโปงพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลอย่างเข้มข้นเหมือนเดิม ในวันที่ 16 กันยายน 2548

วันศุกร์ที่ 23 กันยายน 2548 ผู้ดำเนินรายการทั้งสองคนได้จัด "รายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร" เป็นครั้งแรก ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีประชาชนหลากหลายอาชีพเข้าร่วมฟังอย่างล้นหลาม และได้มีการถ่ายทอดสัญญาณผ่านสถานีโทรทัศน์ ASTV และเครือข่ายวิทยุชุมชนอีกหลายแห่งทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด โดยมีการจัดอย่างต่อเนื่องในทุกวันศุกร์และมีการเปลี่ยนแปลงสถานที่ไปในที่ต่างๆ รวมทั้งมีประชาชนติดตามเข้าไปร่วมฟังอย่างล้นหลามและมากขึ้นตามลำดับ จนนายสนธิ ลิ้มทองกุลได้ประกาศบนเวทีว่า "จะสัญจรไปเรื่อยๆ จนกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะลาออกจากตำแหน่ง"

วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2548 รายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรครั้งที่ 7 ที่สวนลุมพินีประชาชนพร้อมใจกันใส่เสื้อยืดสีเหลืองเข้าร่วมรายการอย่างเนืองแน่นหลายหมื่นคน และนับแต่นั้นมาผู้เข้าร่วมชุมนุมก็มักจะใส่เสื้อเหลืองเข้าร่วมชุมนุมมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง จากการที่ประชาชนทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดเข้าร่วมรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรทุกคืนวันศุกร์ ที่สวนลุมพินีเป็นจำนวนมาก จนเป็นที่กล่าวขานของคนในสังคมว่าเป็น "ปรากฏการณ์สนธิ"

วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 มีการนัดชุมนุมใหญ่ขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งมีประชาชนจากทุกสารทิศเข้าร่วมอย่างมากมายเป็นประวัติการณ์หลายหมื่นคน บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก พร้อมเสียงตะโกน "ทักษิณ ออกไป" เป็นระยะๆ

วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 ได้ประกาศบนเวทีปราศรัยเปิดตัว "เครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ประกอบด้วยตัวแทนจากองค์กรต่างๆ 27 องค์กร โดยจะร่วมกันดำเนินพันธกิจ 3 เป้าหมายหลัก คือ "ไล่ทักษิณออกไป โค่นระบอบทักษิณ และปฏิรูปการเมืองโดยภาคประชาชน" ต่อมาแนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เลือก 5 แกนนำ ที่มีอำนาจการตัดสินใจสูงสุดประกอบด้วย พลตรีจำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายพิภพ ธงชัย โดยมีนายสุริยะใส กตะศิลา เป็นผู้ประสานงาน

กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้นัดชุมนุมที่ท้องสนามหลวงมาเป็นระยะๆ จากกระทั่งเกิดการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อ 19 กันยายน 2549 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงยุติการชุมนุม

ภายหลังการเลือกตั้ง เมื่อ 23 ธันวาคม 2550 พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งนายสมัคร สุนทรเวช ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ออกแถลงการณ์หลายฉบับคัดค้านรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวชที่หน้าที่เป็นตัวแทนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ส. 2550 จนกระทั่งได้จัดให้มีการชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2551 และได้นำกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลแต่ถูกทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดกั้นไว้ กลุ่มพันธมิตรฯ จึงปักหลักการชุมนุมที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ อย่างต่อเนื่องโดยมีกลุ่มเครือข่ายประชาชนจากต่างจังหวัดเข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมากและได้ใช้ยุทธศาสตร์ดาวกระจายไปชุมนุมกดดันหน่วยงานหลายแห่งเพื่อกดดันรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2551

และวันที่ 20 มิถุนายน 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ ได้เคลื่อนขบวนไปปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล เพื่อขัดขวางการปฏิบัติงานของคณะรัฐมนตรี จนกระทั่งได้เข้าไปยึดและปักหลักชุมนุมในทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2551 แม้ว่า นายสมัคร สุนทรเวช จะพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากกรณีคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็ตาม แต่กลุ่มพันธมิตรฯ ก็ยังปักหลักชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลต่อไปเพื่อขับไล่รัฐบาลที่เป็นนอมินีของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์น้องเขยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ย้ายที่ทำการทำเนียบรัฐบาลไปที่สนามบินดอนเมือง

และวันที่ 7 ตุลาคม 2551 หน่วยปฏิบัติการพิเศษและเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนกว่า 1,000 นายได้ปฏิบัติการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่หน้ารัฐสภา ด้วยแก๊สน้ำตาทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 รายและบาดเจ็บ 470 คน การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

จนกระทั่งสามารถเข้าไปปักหลักชุมนุมกันที่ท่าอากาศยานดอนเมือง เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2551 และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2551 จนทำให้การเดินทางทางอากาศหยุดชะงักมีผู้โดยสารตกค้างเป็นจำนวนมากจนกลายเป็นข่าวสำคัญที่เผยแพร่ออกไปทั่วโลก ทำให้สูญเสียรายได้ จากการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยสั่งยุบพรรคพลังประชาชนคดีรองหัวหน้าพรรคฯ ทำการทุจริตการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.ทำให้นายสมชาย วงศ์สวัสกดิ์ถูกเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปีและต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงประกาศยุติการชุมนุมที่ยืดเยื้อยาวนานถึง 192 วัน (25 พฤษภาคม-3 ธันวาคม 2551) ทำให้สภาพของบ้านเมืองกลับคืนสู่สภาพปกติ ประชาชนหายจากความกังวลมีชีวิตเป็นปกติสุขตามเดิม

วันที่ 17 เมษายน 2552 เวลา 05.30 น. นายสนธิ ลิ้มทองกุล (แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) ได้ถูกคนร้ายใช้อาวุธสงครามระดมยิงไปยังรถยนต์ของนายสนธิ ลิ้มทองกุล กว่า 100 นัด บริเวณสี่แยกบางขุนพรหมได้รับบาดเจ็บสาหัส

25.2 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ

ภายหลังการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 กลุ่มบุคคลที่ยังรักและสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) เพื่อต่อต้านการรัฐประหารรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีอุดมการณ์สำคัญ คือ การต่อสู้เพื่อปกป้องประชาธิปไตยต่อต้านการยึดอำนาจ โดยมีแกนนำสำคัญมาจากอดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทย อดีตสมาชิกพรรคพลังประชาชน คือ นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายจักรภพ เพ็ญแข ซึ่งเริ่มต้นมาจากการตั้งสถานีโทรทัศน์พีทีวี (PTV) เพื่อตอบโต้กับกลุ่มพันธมิตรประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ก็ได้ร่วมกันคัดค้าน และจะทำการเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหาร จนกระทั่งมีการนัดชุมนุมกันที่ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2550 และมีการนัดชุมนุมต่อเนื่องกันมาเป็นระยะๆ โดยมีกลุ่มอื่นๆ เข้าร่วมชุมนุมด้วย เช่น กลุ่มพิราบขาว กลุ่มคนรักทักษิณ กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ ฯลฯ

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทย เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ทำให้กลุ่มต่างๆ ได้จัดชุมนุมครั้งใหญ่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าและได้ปราศรัยโจมจีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ จนกระทั่งการชุมนุมเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 ที่หน้าบ้านพักสี่เสาร์เทเวศน์ ซึ่งเป็นบ้านพักของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ได้เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้แกนนำกลุม นปก. 8 คน ถูกจับคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ต่อมาก็ได้มีการปล่อยตัวออกมาเพื่อสู้คดี และเป็นผู้นำในการชุมนุมต่อต้าน คมช.อย่างต่อเนื่อง และบ่อยครั้งมากขึ้น รวมทั้งมีการชุมนุมรณรงค์ไม่ให้ประชาชนลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2550 โดยการใส่เสื้อสีแดง

ต่อมาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2550 แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ได้ร่วมกันแถลงเปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็น "แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เพื่อรวมพลังประชาชนที่ต่อต้านเผด็จการ ทำกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านเผด็จการและให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2550 ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ โดยกลุ่ม นปช.ขอเชิญชวนประชาชนให้สวมเสื้อสีแดงไปร่วมชุมนุมในวันที่ 2 กันยายน 2550 ที่สนามหลวง จึงกลายเป็นที่มาของคำว่า "กลุ่มคนเสื้อแดง" ตั้งแต่นั้นมา และมีการนัดชุมนุมมาเป็นระยะๆ ต่อเนื่องกันมาโดยตลอด

ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 พรรคพลังประชาชน (พรรคไทยรักไทยเดิม) ชนะการเลือกตั้งได้เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล โดยมีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็ลดลง และสถานีโทรทัศน์ PVT ของกลุ่มแกนนำ นปช. ประศยุติการออกอากาศ และแกนนำ นปช. คือนายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้ไปดำเนินรายการ "ความจริงวันนี้" ที่สถานีโทรทัศน์ NBT (สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 เดิม) แทน รวมทั้งยังมีการจัดชุมนุมและปราศรัยในบางครั้ง

จนกระทั่งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) จัดชุมนุมเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2551) เป็นต้นมา ทำให้กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติจึงจัดการชุมนุมต่อต้านกลุ่มพันธมิตรฯ ที่สนามหลวง เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2551 และมีการจัดชุมนุมเป็นระยะๆ จนกระทั่งกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ใช้กำลังเข้ายึดสถานีโทรทัศน์ NBT ที่เสนอข่าวลำเอียงเข้าข้างรัฐบาล เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2551 ทำให้เกิดการปะทะทำร้ายกันด้วยอาวุธ กับฝ่าย นปช. ตั้งแต่นั้นมา ร่วมทั้งระดมมวลชนกลุ่มคนเสื้อแดงในต่างจังหวัดชุมนุมต่อต้านกลุ่มพันธมิตรฯในจังหวัดของตนเองเช่น จังหวัดเชียงใหม่ อุดรธานี เชียงราย ขอนแก่น ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี นครราชสีมา ฯลฯ

วันที่ 11 ตุลาคม 2551 แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.ได้จัดรายการความจริงวันนี้ภาคพิเศษตอน "รวมพลคนเสื้อแดงต่อต้านพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ที่อาคารธันเดอร์โดม อิมแพค เมืองทองธานี โดยมีประชาชนสวมเสื้อแดงมาร่วมชุมนุมกว่า 10,000 คน และวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551 ก็ได้จัดการความจริงวันนี้สัญจรเป็นครั้งที่ 2 ที่สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน หัวหมากมีประชาชนสวมเสื้อสีแดงมาชุมนุมกว่า 30,000 คน และเป็นครั้งแรกที่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีได้โทรศัพท์เข้ามาพูดคุยกับผู้ชุมนุม (Phone-In) โดยมีเนื้อหาโจมตีกระบวนการยุติธรรมที่เกิดจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติตั้งขึ้น ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับตน จนถูกศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี ในคดีทุจริตซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษก จนต้องทำให้ตนต้องเดิทางออกนอกประเทศไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ตั้งแต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาทางการเมืองได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551

กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ได้จัดชุมนุมใหญ่อีกเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทำให้รัฐสภาเลือกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ทำให้กลุ่ม นปช. จัดชุมนุมคัดค้าน ไม่ยอมรับการเป็นนายกรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เนื่องจากกลุ่ม นปช.อ้างว่า เป็นการปฏิวัติเงียบของฝ่ายทหาร (เพราะมีการจัดตั้งรัฐบาลที่บ้านพักพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก) และขาดความเป็นประชาธิปไตย เพราะพรรคประชาธิปัตย์มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นลำดับที่ 2 รองจากพรรคเพื่อไทย (พลังประชาชนหรือไทยรักไทยเดิม) ไม่ควรเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล

กลุ่ม นปช.ได้จัดชุมนุมขับไล่รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาอย่างต่อเนื่อง และในบางครั้งก็มีการโฟนอินและปราศรัยผ่านระบบวีดีโอลิงค์ของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร จนกระทั่งกระปราศรัยผ่านวีดีโอลิงค์ ของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2552 กล่าวหาประธานองคมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และองคมนตรีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ทำให้กลุ่ม "คนรักป๋าเปรม" กลุ่ม "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" และกลุ่มอื่นๆ มีปฏิกิริยาคัดค้านการพูดของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร และกลุ่ม นปช.ได้เคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมจากสนามหลวงมาปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2552 เป็นต้นมา เพื่อไม่ให้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้าทำงานได้ รวมทั้งกลุ่ม นปช.ประกาศปลุกระดมคนเสื้อแดงและคนไทยทุกหมู่เหล่าทุกอาชีพทั่วประเทศให้มาร่วมชุมนุมกันไม่ต่ำกว่า 300,000 คน ในวันที่ 8 เมษายน 2552 เพื่อโค่นล้มรัฐบาล และระบอบอมาตยาธิปไตย เหมือนกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 35 ซึ่งเป็นการปฏิวัติของประชาชน

วันที่ 9-10 เมษายน 2552 กลุ่มคนเสื้อแดงได้นำรถยนต์ รถแท็กซี่ ไปปิดถนนรอบๆ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และถนนอีกหลายสายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทำให้การจราจรในกรุงเทพมหานครติดขัดเป็นอย่างมาก สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั่วกรุงเทพมหานคร

วันที่ 11 เมษายน 2552 นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) อีกคนหนึ่งได้นำกลุ่มคนเสื้อแดงเดินทางไปยังโรงแรมรอยัลบีช รีสอร์ต จังหวัดชลบุรี เพื่อขัดขางการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน และประเทศคู่เจรจา (อาเซียน +3 และ +6) โดยได้นำผู้ประท้วงพังประตูเข้าไปในโรงแรม ทำให้นายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องประกาศยกเลิกการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนทันที เพื่อความปลอดภัยของผู้นำประเทศต่างๆ 15 ประเทศผู้นำประเทศต่างๆ ต้องรีบทยอยเดินทางออกจากประเทศไทยโดยด่วน และนายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงตามพระราชกำหนด (พรก.) ครอบคลุมเมืองพัทยาและจังหวัดชลบุรี เป็นเวลา 5 ชั่วโมง

วันที่ 12 เมษายน 2552 กลุ่มคนเสื้อแดงยังคงปิดกั้นการจราจรหลายจุดทั่วกรุงเทพมหานครและสร้างสถานการณ์ความวุ่นวายอย่างรุนแรง โดยการไล่ล่าตัวนายกรัฐมนตรี บุกเข้าไปในกระทรวงมหาดไทย มีการทุบรถยนต์ขบวนติดตาม ตลอดจนทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ติดตามตัวนายกรัฐมนตรีรวมถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้รับบาดเจ็บสาหัส ทำให้นายรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตัดสินใจประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อีก 5 จังหวัด (สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม และพระนครศรีอยุธยา) แต่ผู้ชุมนุมยังคงก่อเหตุความวุ่นวาย ในวันที่ 12-13 เมษายน โดยการเผายางรถยนต์ และรถเมล์เป็นสิบๆ คันปาระเพลิงเข้าไปในสถานที่ราชการ ปาก้อนอิฐ ก้อนหิน เพื่อทำลายทรัพย์สินของทางราชการและเอกชนทำให้เหตุการณ์ในกรุงเทพมหานครเกิดการจลาจลในหลายบริเวณ

จนกระทั่งรัฐบาลได้ตั้งกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (กอฉ.) โดยมีผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นผู้อำนวยการ และผู้บัญชาการทุกเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นกรรมการ

เช้ามืดวันที่ 13 เมษายน 2552 กองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (กอฉ.) ได้ใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง บริเวณสามเหลี่ยมดินแดน รวมทั้งถนนศรีอยุธยา ถนนราชปรารภ ฯลฯ ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงไปรวมตัวกันที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลเพียงที่เดียว โดยการสลายการชุมนุมฯ ครั้งนี้มีการปะทะกันประปรายระหว่างผู้ชุมนุมกับทหาร แต่ทหารก็หลีกเลี่ยงการใช้กระสุนปืนจริงใช้กระสุนกระดาษ แก๊สน้ำตา โล่ กระบอก ทำให้มีผู้ชุมนุมฯ และทหารตำรวจบาดเจ็บร้อยกว่าราย แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต

จนกระทั่งตอนสายๆ ของวันที่ 14 เมษายน 2552 แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาชนประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่นำโดยนายวีระ มุสิกพงศ์ นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ และนายแพทย์เหวง โตจิราการ ประกาศสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ให้กลุ่มคนเสื้อแดงเดินทางกลับบ้าน และแกนนำทั้ง 3 คนได้ขอมอบตัวกับตำรวจ รวมทั้งศาลอาญาได้ออกหมายจับแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาชนประประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จำนวน 13 คน รวมทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีด้วย

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์