เปิดหลักฐานร.ต.ดวง หนี-ไม่หนีทหาร..?

พักราชการ หมายถึงการให้ออกราชการไปก่อน เพื่อตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เมื่อมีคำสั่งพักราชการ ร.ต.ดวงเฉลิมก็ไม่จำเป็นต้องมาทำงาน ดังนั้น การไม่มาทำงานก็ไม่ใช่การขาดราชการ หรือหนีราชการ จึงไม่ถือเป็นความผิด

ถกเถียงกันยกใหญ่ว่าคำสั่งการคืนยศ ร.ต.ให้กับ "ดวง อยู่บำรุง" ลูกรักคนสุดท้องของร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย นั้น "สมบูรณ์" หรือยัง..??


เพราะ พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด (รอง ผบ.สส.) และอดีตประธานกรรมการสอบกรณี ร.ต.ดวง ถูกตั้งกรรมการสอบวินัยราชการ ระบุว่า "ไม่สมบูรณ์" เพราะเหตุผลที่ปลดมาจากการ "ขาดราชการ" หรือ "หนีราชการ" ไม่ได้ปลดเพราะโดนคดีอาญา

ขณะที่ พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ รองโฆษกกระทรวงกลาโหม ระบุว่า พล.อ.อ.วีรวิทย์เข้าใจผิด เพราะวันเกิดเหตุคือ 29 ตุลาคม 2544 และวันที่ 4 พฤศจิกายน 2544 มีคำสั่งพักราชการ

"พักราชการ" หมายถึงการให้ออกราชการไปก่อน เพื่อตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เมื่อมีคำสั่งพักราชการ ร.ต.ดวงเฉลิมก็ไม่จำเป็นต้องมาทำงาน ดังนั้น การไม่มาทำงานก็ไม่ใช่การขาดราชการ หรือหนีราชการ จึงไม่ถือเป็นความผิด"




นั่นคือคำอธิบายที่ "แตกต่าง" ของคนสีเดียวกัน..!!

ขณะที่ "ผู้เป็นพ่อ" อย่าง ร.ต.อ.เฉลิมก็มีคำอธิบาย

แต่เป็นคำอธิบายที่มาพร้อม "หลักฐาน" ที่ท่าน มท.1 ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารทางราชการ เพื่อนำหลักฐานมา "แก้ต่าง" ให้ลูกชายสุดที่รัก

คำอธิบายของ "พ่อ" ระบุว่า ร.ต.ดวง ถูก "สั่งพักราชการ" 2 พฤศจิกายน 2544 ต่อมา 15 พฤศจิกายน 2544 "ให้ปลดออกจากราชการ" ถัดมา 1 วัน คือ 16 พฤศจิกายน 2544 ถูกสั่ง "ถอดยศ"

พร้อมกันนั้น ยังมีคำสั่งจาก พล.ท.สากล บุญฤทธิ์ จก.สบ.ทหาร ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนคดีอาญานายดวงเฉลิม ในความผิดฐาน "หนีราชการทหาร" โดยมี พ.อ.สราภัย ประหารข้าศึก รอง ลก.บก.ทหารสูงสุด เป็นประธานกรรมการ เมื่อ 24 มกราคม 2545

จากนั้น 3 เดือน คือวันที่ 25 เมษายน 2545 พล.ต.สราภัย (เลื่อนยศ) ได้ทำหนังสือถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผ่าน กพ.ทหาร) รายงานผลการสอบสวน โดยระบุเป็นข้อความว่า

"บัดนี้ คณะกรรมการได้สอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว เห็นว่าการกระทำของนายดวงเฉลิม ผู้ต้องหาไม่เป็นความผิด จึงสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในความผิดฐานหนีราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา 45-46"

ต่อมา พล.อ.ท.วีรวิท คงศักดิ์ (ยศขณะนั้น) ในฐานะ จก.กพ.ทหาร ได้ทำหนังสือถึง สบ.ทหาร ในฐานะฝ่ายกฏหมาย เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2545 ระบุว่า

"พิเคราะห์ได้ว่าเมื่อข้าราชการนายทหารใดถูกสั่งพักราชการแล้ว ข้าราชการทหารนายนั้นไม่ต้องมาปฏิบัติหน้าที่อีกต่อไป จนกว่าจะมีคำสั่งให้กลับเข้ารับราชการ ผู้ต้องหาขาดราชการครั้งนนี้รวม 4 วัน และมิได้เป็นขาดต่อหน้าราชศัตรู หรือในเวลาสงครามหรือในเขตที่ใช้กฎอัยการศึก แต่เป็นการขาดในที่และเวลาอื่นๆ ซึ่งหากขาดครบ 15 วัน จึงเป็นความผิดฐานหนีทหาร ตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา 45(3) ดังนั้น การกระทำของผู้ต้องหาในครั้งนี้ จึงยังไม่เป็นความผิดฐานหนีราชการ ควรดำเนินการสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา"

อีกทั้งในวันที่ 3 มิถุนายน 2545 พล.อ.ท.วีรวิทก็ยังทำหนังสือถึง ผบ.สส. ที่มี "เนื้อหาเดียวกัน"

กระทั่ง 15 มกราคม 2546 พล.ต.ดำรงศักดิ์ ศรีศุภผล ได้ทำหนังสือถึง ผบ.ศรภ.ต้นสังกัดของ ร.ต.ดวงเฉลิม ระบุว่า "พิจารณาแล้ว เห็นว่าคดีมีหลักฐานไม่พอฟ้องผู้ต้องหาตามข้อกล่าวหา จึงมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา"

หลักฐานทั้งหมดที่ปรากฏออกมาเป็นฝีมือของ "พ่อ" ที่ชื่อ "เฉลิม อยู่บำรุง"

ที่มา หน้า 11 หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 03 มิถุนายน พ.ศ. 2551

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์