เปิดบันทึกปธ.ศาลฎีกา ย้ำเหตุคว่ำบาตร3กกต.

ข่าวสด

หมายเหตุ - หนังสือของนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา ยื่นต่อประธานวุฒิสภา ลงวันที่ 1 มิถุนายน กรณีที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาสรรหาผู้สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แทนตำแหน่งที่ว่างลง 2 คน ที่ประชุมใหญ่มีมติเสียงข้างมาก 72 เสียงต่อ 4 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง ไม่เสนอชื่อผู้สมควรเป็น กกต.แทนตำแหน่งที่ว่าง โดยเห็นว่าการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 2เมษายน ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เกิดความเสียหายต่อประเทศอย่างร้ายแรงและมีการฟ้องร้อง กกต.ในคดีอาญาหลายคดี เห็นได้ว่า กกต.ที่เหลืออยู่ 3 คน ไม่ได้อยู่ในฐานะที่ไว้วางใจที่จะทำหน้าที่ต่อไป ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจึงไม่อยู่ในฐานะสนับสนุนการกระทำของบุคคลทั้งสามได้

ตามที่หนังสือวุฒิสภา ด่วนที่สุด ที่ สว 0008/1884 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2549อ้างถึง ขอให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาสรรหาผู้สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ทั้งกรณีของนายจรัล บูรณพันธุ์ศรี และกรณีของพลเอกจารุภัทร เรืองสุวรรณ รวมจำนวน 2 คน แล้วเสนอต่อประธานวุฒิสภาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2549 นั้น

ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 เวลา 09.30 น. ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 138 (2) บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาที่จะพิจาณาสรรหาผู้สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้งเสนอต่อประธานวุฒิสภา จึงเป็นกรณีที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาดำเนินการได้เองตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาต้องดำเนินการตามที่มีการร้องขอ

ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยโดยผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาล แต่ในเวลาที่ประเทศตกอยู่ในภาวะว่างเว้นรัฐสภา และคณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร หากมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องสงวนรักษาระบอบการปกครองและความสงบสุขแห่งราชอาณาจักรไว้ พระมหากษัตริย์ย่อมทรงใช้อำนาจอธิปไตยโดยผ่านทางศาลได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ดังที่ทรงมีพระราชดำรัสแก่ประธานศาลปกครองสูงสุดและประธานศาลฎีกา เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ดังนั้น การปฏิบัติภารกิจของศาลตามที่ได้รับใส่เกล้าใส่กระหม่อมมา จึงเป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้พิจารณาการสรรหาผู้สมควรเป็นกรรมการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างจำนวน 2 คน แล้วเห็นว่า ในการพิจารณาดังกล่าวที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องธำรงคงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยและนำมาซึ่งความผาสุกของอาณาประชาราษฎร ทั้งต้องคำนึงถึงพันธกิจของผู้พิพากษาและตุลาการตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งปรากฏในคำถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ตามมาตร 252 ว่า จะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายทุกประการ ดังนั้น เมื่อปัจจุบันประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤตทางการเมือง ประชาชนแบ่งแยกเป็นฝักฝ่าย ไม่รับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน มีผลกระทบกระเทือนต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและความผาสุกของอาณาประชาราษฎรอย่างรุนแรง จึงนับเป็นสถานการณ์พิเศษที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาต้องพิจารณาด้วยความสุขุมรอบคอบ โดยมองผลที่จะตามมาในอนาคตด้วย

การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 เมษายน 2549 และการเลือกตั้งที่ต่อเนื่องมา เป็นเหตุส่วนหนึ่งของวิกฤตการณ์ดังกล่าว ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 9/2549 ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ว่า การดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดวันเลือกตั้งและในส่วนที่เกี่ยวกับมติการจัดคูหาเลือกตั้งที่ไม่เป็นการลงคะแนนโดยลับ ทำให้เกิดผลการเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรม ไม่เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จึงเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามมาตรา 2 มาตรา 3 มาตรา 104 วรรคสาม และมาตรา 144 มาตั้งแต่เริ่มต้นของกระบวนการจัดการเลือกตั้ง และศาลรัฐธรรมนูญได้เพิกถอนการเลือกตั้งดังกล่าว การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรม หมายความว่าไม่ตั้งตรงใจความเป็นธรรม ซึ่งหมายความอยู่ในตัวว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ประกอบด้วย พลตำรวจเอกวาสนา เพิ่มลาภ นายปริญญา นาคฉัตรีย์ นายวีระชัย แนวบุญเนียร และพลเอกจารุภัทร เรืองสุวรรณ ไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง ย่อมขาดคุณสมบัติที่จะเป็นกรรมการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 136 ซึ่งจะต้องมีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ ตามมาตรา 268 หากบุคคลดังกล่าวที่เหลืออีก 3 คน ยังคงใช้อำนาจหน้าที่ของกรรมการการเลือกตั้งต่อไป การดำเนินการและการกระทำต่างๆ ก็จะมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมายอย่างไม่สิ้นสุด การที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะเสนอชื่อผู้สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้ง กระทั่งที่สุดมีการแต่งตั้งกรรมการการเลือกตั้งเพิ่มเติมอีก 2 คน ย่อมไม่สามารถเยียวยาปัญหาความชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวได้

ตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้งเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเมืองการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยเพราะเป็นตำแหน่งที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งบุคคลเข้าเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐทั้งในระดับ ประเทศและระดับท้องถิ่นให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงต้องมีความรับผิดชอบ (Accountability) ต่อประเทศชาติและประชาชน ทั้งยังจะต้องดำรงรักษาไว้ซึ่งมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมให้เป็นแบบอย่างแก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ พนักงานและลูกจ้างอื่นของรัฐ ให้สมดังเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 อีกด้วย แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่ากรรมการการเลือกตั้งที่ดำรงตำแหน่งอยู่ขณะนี้ได้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 เมษายน 2549 และการเลือกตั้งที่ต่อเนื่องมา โดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ถึงขนาดทำให้การเลือกตั้งดังกล่าวถูกเพิกถอนไปโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองกลาง เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศอย่างร้ายแรง จนถูกฟ้องเป็นคดีอาญาหลายคดี ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ซึ่งขณะนี้บางศาลได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วและมีคำสั่งว่าคดีมีมูล ประทับรับฟ้องไว้พิจารณาจึงเห็นได้ว่ากรรมการการเลือกตั้งที่เหลืออยู่ 3 คนนี้ มิได้อยู่ในฐานะที่สมควรจะได้รับความไว้วางใจที่จะให้ทำหน้าที่ต่อไป ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะให้การสนับสนุนการดำเนินการของบุคคลทั้งสามนี้ได้

อนึ่ง เมื่อครั้งที่นายจรัล บูรณพันธุ์ศรี กรรมการการเลือกตั้งถึงแก่อนิจกรรม ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้พิจารณาสรรหาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 138 (2) และเสนอชื่อ นายเกษม วีรวงศ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นผู้สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้งต่อประธานวุฒิสภาเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2548 แต่ประธานวุฒิสภาไม่สามารถดำเนินการจัดให้มีการสรรหาตามมาตรา138 (1) ได้ เนื่องจากคณะกรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้งไม่ครบองค์ประกอบ กระทั่งครบกำหนด 30 วันประธานวุฒิสภาพิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่อาจดำเนินการสรรหาตามมาตรา 138 (3) ได้ และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติรัฐธรรมนูญตามหนังสือวุฒิสภา ด่วนที่สุด ที่ สว (กกต) 0008/6886 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2548 จนถึงบัดนี้วุฒิสภายังไม่สามารถดำเนินการเลือกกรรมการการเลือกตั้งในกรณีดังกล่าว และยังไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ นายเกษม วีรวงศ์ ก็ได้ถอนตัวไปแล้วเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2549 ยิ่งกว่านั้น ขณะนี้มีปัญหาข้อขัดข้องเพิ่มขึ้นเนื่องจากไม่มีพรรคการเมืองที่จะเสนอรายชื่อผู้แทนพรรคการเมืองให้เลือกกันเองเหลือสี่คน คณะกรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้งตามมาตรา 138 (1) จึงไม่อาจครบองค์ประกอบได้ เช่นเดียวกับครั้งที่แล้ว หากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะเสนอชื่อผู้สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้งอีก ก็จะประสบปัญหาเช่นเดิมซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไข

เมื่อการสรรหาตามมาตรา 138 (1) และ (3) ไม่อาจดำเนินการได้ตามที่ประธานวุฒิสภาเคยให้ความเห็นไว้เช่นนั้นแล้ว การสรรหาโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตามมาตรา 138 (2) ก็ไม่มีประโยชน์จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการสรรหาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 138 (2) จนกว่าจะไม่มีกรรมการการเลือกตั้งเหลืออยู่ทำหน้าที่ต่อไป จึงจะสามารถนำมาตรา 138 (3) มาใช้โดยอนุโลม เพื่อแก้ปัญหาสูญญากาศทางการเมืองให้แก่ประเทศ

อาศัยเหตุดังกล่าวข้างต้น ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเห็นว่า การเสนอชื่อผู้สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้งเข้าไปเป็นกรรมการการเลือกตั้งร่วมกับกรรมการการเลือกตั้งที่เหลืออยู่ในขณะนี้จะทำให้ไม่สามารถธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และจะกระทบถึงหน้าที่ของศาลยุติธรรมในการรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยเสียงข้างมาก 72 เสียง ต่อ 4 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง จึงมีมติไม่ดำเนินการเสนอชื่อผู้สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าทั้งสองคน

จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดทราบ

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ

ประธานศาลฎีกา

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์