เติ้งจับมือเนวินแก้รธน.หนุนร่างพรรคอื่น

เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย (ชท.) และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.)

กล่าวที่บ้านศิลปอาชา ถนนจรัญสนิทวงศ์กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี 2552 ที่บ้านนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ อดีตเลขาธิการนายกฯ เราเสนอว่าขอแก้ไข มาตรา 237 (เรื่องการยุบพรรค)  และอีกหลายมาตรา ตอนนั้นจำได้ นายอภิสิทธิ์พูดกับตนต่อหน้าว่าให้พรรคร่วมรัฐบาลนำเรื่องมาเสนอใน 7 วัน เมื่อนำเสนอไปเรื่องก็เงียบหาย เข้าใจว่า คงเป็นเพราะที่ประชุมพรรค ปชป.ไม่เห็นด้วย จากนั้นก็ตั้งกรรมการสมานฉันท์ฯ แต่กลับมีข้อแม้ว่าพรรคฝ่ายค้านต้องร่วมด้วย เมื่อพรรคฝ่ายค้านไม่ร่วม จะเอารัฐธรรมนูญ 2540 ก็ไปด้วยกันไม่ได้ ก็แช่อยู่ในตู้เย็นมานานหลายเดือนแล้ว


"ผมได้เสนอวันที่ทานข้าวกับท่านสุเทพ (เทือกสุบรรณ รองนายกฯและเลขาฯพรรค ปชป.) ท่านเนวิน (ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย ที่โรงแรมโอเรียนเต็ล เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม) ซึ่งท่านสุเทพบอกว่าวันที่ 27 มกราคม จะมีการประชุมพรรค ปชป.กันแล้ว ดังนั้น เราก็ขอเอาแค่ 2 ประเด็นพอ 1.มาตรา 190 และ 2.มาตรา 165 เกี่ยวกับวันแมนวันโหวต (เขตเดียวเบอร์เดียว) ขอให้พรรคร่วมรัฐบาลเถิด อย่าคิดว่าเป็นการเสียเปรียบกันเลย ถ้าวันแมนวันโหวต ผมเรียนตรงๆ ว่าใช้เงินน้อย แต่ถ้าเขตใหญ่ 3 คนมีปัญหาทันที เพราะหัวหน้าทีมต้องออกเงินเอง ซึ่งมันไม่ถูกต้อง  ดังนั้น ถ้าแกนนำพรรค ปชป.ไม่ยอม ถ้าเกิดมีพรรคไหนเสนอแก้ไข เราก็ต้องร่วมเสนอลงชื่อด้วย ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องของรัฐบาลแต่เป็นเรื่องของสภา แต่ภายหลังนายอภิสิทธิ์บอกว่าไม่แก้เรื่องระบบเลือกตั้ง แต่แก้อย่างเดียวคือ มาตรา 190Ž นายบรรหารกล่าว


นายบรรหารกล่าวว่า ตนได้คุยกับนายเนวิน 2 วันก่อนแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้หากไม่แก้ไขเกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง เราก็ต้องหาทางทำอย่างอื่น

หากพรรคไหนเสนอเรื่องนี้เข้าสู่สภาเพื่อแก้ไขมาตราดังกล่าว แต่ไม่ต้องแก้มาตรา 237 พรรค ชทพ.ก็จะร่วมลงชื่อด้วย ในการแก้ไขมาตราเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งและมาตรา 190 ซึ่งเรื่องนี้พรรค ปชป.ไม่เกี่ยวด้วย


ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่พรรคเพื่อไทย (พท.) ยืนยันไม่เป็นผู้นำเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายบรรหารกล่าวว่า หากพรรค พท.ไม่เสนอ ตนก็ต้องดูว่าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรค ชทพ.

และมีพรรคไหนเอาด้วยหรือไม่ใน 2 ประเด็นนี้ ถ้าเอาด้วย เราก็เสนอเอง แต่ต้องดูว่ารายชื่อครบหรือไม่ ส่วนที่พรรค พท.เสนอให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้นั้น ไว้ขอให้คุยกับพรรค ภท.อีกครั้ง อาจจะมีพรรคอื่นด้วย เอาไว้ให้ถึงจุดนั้นก่อน


เมื่อถามว่า หากทำแบบนี้พรรค ปชป.จะรู้สึกไม่พอใจได้ นายบรรหารกล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า

"ไม่เกี่ยว...เป็นเรื่องของสภา ไม่เกี่ยวกับพรรคร่วมรัฐบาล เพราะนายกฯบอกเองว่าเรื่องของสภา ต้องแยกกัน และไม่ได้เป็นการบีบพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อความเห็นไม่ตรงกันก็เป็นเรื่องของสภา หากบีบก็คงบีบไปนานแล้ว เวลาบีบก็มีบีบหลายแบบ ถ้าบีบปั๊บไปทันที แต่ถ้าบีบค่อยๆ ก็อยู่นานหน่อย ตอนนี้ค่อยๆ บีบ (พร้อมทำท่าบีบมือให้ผู้สื่อข่าวดู) ยืนยันว่าเราไม่เร่ง เพราะมาตรา 237 เราไม่เอาแล้ว แต่เรื่องวันแมนวันโหวตสำคัญ ถ้ายุบสภาเมื่อไรมีปัญหาสำหรับพรรคเล็กที่เสียเปรียบ"


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์