เฉลิม ฉุนขาด ต้านนิรโทษ ปู รินน้ำตาอ้อน

เฉลิม ฉุนขาด ต้านนิรโทษ ปู รินน้ำตาอ้อน

“เฉลิม” ฉุนขาด ประกาศไม่ยอม ปชป.จัดม็อบต้านรัฐบาล ท้าดีเบตนิรโทษกรรมออกทีวี ลั่นใครมีปัญหากับนายใหญ่ระวังเหลือแต่ตัวกับเงาแถมอัดทีมยุทธศาสตร์ พท.ห่วยแตก ทำพรรคภาพลักษณ์กำลังดีถูกด่าเป็นมหาโจร ลั่นเขียนกฎหมายนิรโทษกรรมของตัวเอง ยกประโยชน์ให้ผู้ต้องคดี คตส. “ปึ้ง” เผย กต. จัดให้ อยากดำเนินคดีคนฆ่าประชาชน ให้ยื่นเรื่องมาจะส่งต่อให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ “ปู” เสียงเครือหวังทุกฝ่ายยึดหลักเมตตาธรรม-ให้อภัย วอนช่วยกันพาประเทศเดินหน้า พท. ล็อบบี้ ส.ว.ผ่านนิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง เผยให้เสร็จก่อนปิดสมัยประชุม สภาผ่านแก้ รธน.วาระ 3 ฉลุย หลายฝ่ายต้านนิรโทษกรรมคึกคัก “เทพเทือก” เปิดเกมรุกเคลื่อนขบวนจากสามเสนปักหลักอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สาบานต่อพระแก้วมรกตขอสู้ล้างผิดคนโกงไม่ลดละ ม็อบนักธุรกิจรวมตัวสีลมเนืองแน่น นัดชุมนุมทุกจันทร์และพุธ อธิการบดีมหา วิทยาลัย-ราชภัฏ ร่วมต้าน ชี้กฎหมายทำให้คนคิดว่าโกงได้ค่อยนิรโทษ

สภาลงมติแก้รธน.ม.190

เมื่อวันที่ 4 พ.ย.เวลา 10.20 น.ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นพิเศษ เพื่อลงมติในวาระ 3 ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190 มีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาเป็นประธานการประชุม ทันทีที่เปิดประชุมมา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ทยอยลุกขึ้นอภิปรายโจมตีการทำหน้าที่ของนายสมศักดิ์ ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม เมื่อช่วงเวลา 03.00 น. เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา พร้อมกับโจมตีรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยที่พยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทร ปราการ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นมาตอบโต้ว่าประธานทำหน้าที่ถูกต้องแล้ว อยากทราบว่ากลุ่มคนที่ออกมาประท้วงอยู่เวลานี้สร้างภาพหลอกลวงประชาชนหรือไม่ ทำให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจพากันโห่ลั่นห้องประชุม

ปชป.โวยประธานสภาทาส

นายสมศักดิ์ ได้ชี้แจงยืนยันว่า ดำเนินการทุกอย่างถูกต้องตามข้อบังคับ และทำตามกฎหมาย จากนั้นได้เปิดโอกาสให้ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ชี้แจง ซึ่งนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้หลอกลวงประชาชน เราทำหน้าที่ปกป้องผู้สูญเสียจากการถูกสั่งฆ่า แต่ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมีการบิดเบือนปล่อยให้คนฆ่าลอยนวล เมื่อบรรยากาศทำท่าจะเกิดการโต้เถียงกัน นายสมศักดิ์รีบชิงตัดบทให้เริ่มดำเนินการลงมติในวาระ 3 ด้วยวิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผยทีละคนทันที พร้อมกับสั่งตั้งคณะกรรมการนับคะแนน ท่ามกลางการประท้วงของฝ่ายค้านและกลุ่ม 40 ส.ว. โดยเฉพาะคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ พยายามประท้วงว่านายสมศักดิ์ดำเนินการผิดข้อบังคับ แต่นายสมศักดิ์ยังคงเดินหน้าให้ลงมติต่อไป ทำให้นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ตะโกนต่อว่าอย่างรุนแรงว่า “ประธานสภาทาส” แต่ที่สุดการเดินหน้าลงมติยังคงดำเนินต่อไป

แถมด่าขึ้นตัวเงินตัวทองอีก

ภายหลังการลงคะแนนนานกว่า 1 ชม. ปรากฏว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรม นูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 190 ด้วยคะแนน 381 ต่อ 165 งดออกเสียง 9 ซึ่งนายสมศักดิ์แจ้งว่าผลการลงมติเกินกึ่งหนึ่ง ถือว่าที่ประชุมเห็นชอบ และสั่งปิดประชุมเมื่อเวลา 12.30 น. อย่างไรก็ตาม ระหว่างการนับคะแนนอยู่นั้น ได้เกิดความปั่นป่วนขึ้นเมื่อมีการขานชื่อถึงลำดับที่ 408  นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แต่นายวัชระกลับหยิบนกหวีดขึ้นมาเป่าเสียงดังลั่นห้องประชุม ทำให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย พากันโห่พร้อมตะโกนต่อว่านายวัชระด้วยคำที่ใช้เรียกตัวเงินตัวทอง แต่นายวัชระตะโกนสวนกลับ เรียก ส.ส.พรรคเพื่อไทยด้วยคำแบบเดียวกันทันที

สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไข เพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และให้นำบทบัญญัติมาตรา 150 และ มาตรา 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ภท.แบะท่าสุดหนุนรัฐบาล

สำหรับผลการลงคะแนนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 จากการตรวจสอบรายชื่อ พบว่าผลลงมติเห็นด้วย จำนวน 381 เสียง นั้น ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทย ส.ว.สายเลือกตั้ง และ ส.ส.ของพรรคภูมิใจไทย ที่ลงคะแนนให้ทั้งสิ้น 30 เสียง จาก ส.ส.ของพรรคที่มี 33 คน ในขณะที่ 165 เสียงที่ไม่เห็นด้วยจะเป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์  ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์สันติ ส.ว.สรรหา รวมถึงกลุ่ม 40 ส.ว.ด้วย ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ไม่มีการลงคะแนน  ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ได้เดินทางมาร่วมประชุมที่สภา

นอกจากนี้ยังมีรัฐมนตรีที่ไม่ได้ลงคะแนน อาทิ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ ส่วน พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักประเทศไทย ก็ไม่ได้มาลงคะแนน เช่นเดียวกัน ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมส.ส.บางส่วนก็ไม่ได้เข้าร่วมประชุม อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่าในการลงมติร่างแก้ไข รัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว.เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ในกลุ่มเพื่อนเนวิน ได้ลงคะแนนงดออกเสียง  แต่ในการลงมติร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในวาระ3 เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ทาง ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวิน ได้ลงมติเห็นชอบ  เช่นเดียวกับการลงมติในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ด้วย

ปชป.ยื่นศาลรธน.ต่อทันที

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68  จะไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่รัฐสภาได้ลงมติเห็นชอบแล้วนั้นว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ  กระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายก็เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ทั้งการปิดอภิปรายและการประชุมที่ไม่ครบองค์ประชุม มีการแก้ไขในลักษณะที่เพิ่มอำนาจและเปิดช่องให้ฝ่ายบริหารสามารถทำหนังสือสัญญาที่อาจมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตประเทศ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ส่งผลให้ในอนาคตรัฐบาลหรือฝ่ายบริหารสามารถหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากรัฐสภา เรื่องนี้มีวาระซ่อนเร้น เพราะมีข่าวอย่างต่อเนื่องว่าผู้มีอำนาจตัวจริงในรัฐบาลพยายามที่จะเข้าไปลงทุนกิจการพลังงานในอ่าวไทย กับกัมพูชา และมาเลเซีย

“นิคม”แจงถกนิรโทษกรรม

นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแล้วว่า คาดว่าวุฒิสภาจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวในวันที่ 11 พ.ย.นี้ เพราะเท่าที่ดูเป็นวันอื่นไม่ได้แล้ว หากที่ประชุมวุฒิสภามีมติไม่รับหลักการก็ถือว่าวุฒิสภาได้ยับยั้งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้วต้องส่งกลับไปให้สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะต้องใช้เวลา 180 วัน และสภาผู้แทนราษฎรสามารถยืนยันตามร่างเดิมได้ แต่หากวุฒิสภารับหลักการก็ตั้งคณะกรรมาธิ การ (กมธ.) เพื่อพิจารณา และให้สมาชิกแปรญัตติ โดยกระบวนการทั้ง 3 วาระจะต้องแล้วเสร็จภายใน 60 วัน แต่หากไม่แล้วเสร็จสามารถต่อเวลาไปอีก 30 วัน  ซึ่งคิดว่ายังใช้เวลาอีกนาน เนื่องจากจะต้องมีผู้ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน

“คำนูณ”ปูดรัฐบาลแก้เกม

นายนิคมกล่าวต่อว่า ส่วนที่หลายฝ่ายเคลื่อนไหวกดดันให้วุฒิสภาควํ่าร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ไม่ทำให้รู้สึกหนักใจ ถ้าทุกอย่างเดินไปตามข้อบังคับ ส.ว.มีวิจารณญาณในการพิจารณา และยืนยันว่า ส.ว.เลือกตั้งไม่ได้เป็นทาสพรรคการเมือง หากเป็นทาสจะต้องมีโซ่ตรวนล่ามไว้  และการพิจารณาคงใช้เวลาไม่นานเท่ากับสภาผู้แทนราษฎร จะไม่มีการพิจารณาผ่านแบบ 3 วาระรวดเพราะเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างละเอียด ขอให้มั่นใจว่า ส.ว.จะพิจารณาด้วยความรอบคอบ

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้โพสต์เฟซบุ๊กใจความว่า “สถานการณ์ขณะนี้คือมีแนวโน้มสูงที่วุฒิสภาจะควํ่าร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมตั้งแต่วาระ 1 วันจันทร์ 11 พ.ย. เครือข่ายรัฐบาลก็รู้ และได้วางแผนแก้เกมไว้แล้ว คือจะไม่รอ 180 วัน  แต่จะเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับใหม่เข้ามาในสภาผู้แทนราษฎรเลยทันที ไม่ต้องรอยืนยันร่างฉบับเดิมที่จะติดบังคับเงื่อนเวลาตามมาตรา 148”

ญาติวีรชนให้กำลังใจ“ปู”

ที่ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ปี 2553 จำนวน 24 ครอบครัว เข้าพบเพื่อให้กำลังใจต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พร้อมสนับสนุนให้รัฐบาลเดินหน้ากฎหมายนิรโทษกรรม โดยนายสมชาย เจียมพล บิดาของนายทิพเนตร เจียมพล ผู้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 พ.ย. ที่ บริเวณซอยรางนํ้า กล่าวว่า กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตมาให้กำลังนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เดินหน้าผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้สุดซอย เราเห็นพ้องต้องกันว่า จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดและต้องการให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า เพื่อที่จะได้มีการล้างไพ่ล้างกระดานกันทั้งหมด บ้านเมืองจะได้เดินหน้าไปได้ไม่เกิดสะดุด พวกเราทุกคนยอมรับ พ.ร.บ.นิโทษกรรมฉบับสุดซอยนี้ พวกเราเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็รู้สึกเห็นใจและสงสารนายกรัฐมนตรี ถ้าเราไม่หันหน้าเข้าหากันไม่ยอมปัญหาบ้านเมืองก็คงไม่ยุติ ขอให้พวกเราเป็นกลุ่มสูญเสียครั้งสุดท้าย อย่าให้เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมาอีก ถ้าเราไม่ยอมเสียสละประเทศเราก็คงเดินหน้าต่อไปไม่ได้

ขอคนไทยให้อภัย-เมตตา

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณญาติวีรชนทุกท่านที่เห็นแก่บ้านเมือง ในฐานะรัฐบาลก็ต้องการอยากให้ประเทศเดินหน้าไปข้างหน้า และอยากเห็นประเทศไทยเดินไปสู่ความปรองดอง ให้อภัยกัน อยากให้กำลังใจพี่น้องประชาชนทุกคนโดยเฉพาะผู้สูญเสีย และในฐานะประชาชนคนไทยจะต้องร่วมกันส่งกำลังใจให้กับคนไทยทุกคนยึดหลักความเมตตา ความเห็นอกเห็นใจกัน และหลักการให้อภัย เพื่อประเทศจะสามารถเดินไปข้างหน้าได้ ไม่อยากเห็นเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับลูกหลานของเราอีก รัฐบาลก็ไม่เคยลืมความสูญเสีย และพยายามทำทุกอย่างโดยยึดหลักความถูกต้อง

จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้เดินเข้าไปพูดคุย พร้อมจับมือพร้อมโอบกอดครอบครัวญาติวีรชนที่เสียชีวิตทุกคน ซึ่งบางคนถึงกับร้องไห้กับความสูญเสียที่เกิดขึ้น นายกรัฐมนตรีได้ให้กำลังใจโดยกล่าวยืนยันว่ารัฐบาลไม่เคยลืม หากมีอะไรขอให้ประสานมา วันนี้ถ้าเราไม่แก้ไขบ้านเมืองก็คงไม่สามารถเดินหน้าหรือแก้ปัญหาได้ “ต้องขอบคุณทุกครอบครัวที่เข้าใจ และต้องขอบคุณที่เห็นแก่ประเทศชาติ” นายกรัฐมนตรี กล่าวพร้อมนํ้าตาคลอเบ้า

อยากให้ค่อย ๆ พูดจากันดี ๆ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงการชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า อยากให้อยู่บนหลักของความเห็นอกเห็นใจกัน เข้าใจกัน และการสูญเสียของญาติผู้เสียชีวิตเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ แต่ถ้าเรายึดหลักของการให้อภัย การปรองดอง  และให้ทุกอย่างเดินไปข้างหน้าก็เท่ากับว่าเราได้เห็นแก่ประเทศ เพราะวันนี้บ้านเมืองเราบอบชํ้า หลายคนกังวลใจ เนื่องจากไม่อยากเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงหวนกลับมาสู่ประเทศเราอีก ซึ่งเชื่อว่า ไม่ว่าจะเป็นหนทางไหน ก็ไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจไปทั้งหมดได้ ถ้าเรายึดหลักของความเมตตาธรรม การให้อภัยกัน จะเป็นหลักที่ให้ประเทศเดินหน้าไปได้ และค่อยพูดค่อยจากันก็น่าจะหาทางออกได้

เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรียังเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ สามารถสร้างความปรองดองให้กับประเทศได้หรือไม่ เพราะกลุ่มที่ออกมาคัดค้านก็มีจำนวนมากขึ้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เราต้องร่วมกันในการให้อภัยซึ่งกันและกันก่อนถึงจะเดินหน้าไปได้ หลักอย่างแรกที่อยากให้ประเทศเดินหน้าคือการให้อภัย ถ้าเราไม่มีการให้อภัยหรือเราไม่ทำอะไรสักอย่างเลย สิ่งที่เราห่วงก็คือจะกลับสู่วงจรความขัดแย้งอีก แต่ถ้าเรายึดหลักเมตตาธรรม ยึดหลักการให้อภัย และยึดหลักว่าเราเป็นคนไทยด้วยกัน ค่อย ๆ พูดค่อยจากัน เชื่อว่าเราจะค่อย ๆ หาทางออกของเราได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายกรัฐมนตรีมีสีหน้าที่โศกเศร้าและมีนํ้าตาคลอ นํ้าเสียงสั่นเครือระหว่างการให้สัมภาษณ์ ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 5-7 พ.ย.นี้ นายกรัฐมนตรีจะไปราชการที่ จ.ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี

กต.เสนอไอซีซีดูสลายม็อบ

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ แถลงว่า มีบางกลุ่มเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมช่วยบุคคลที่สั่งฆ่าประชาชนให้พ้นผิด ในฐานะ รมว.การต่างประเทศ ได้หาทางออกในเรื่องนี้ โดยมีทางเลือกคือการนำเรื่องไปศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ซึ่งมีอำนาจพิจารณาคดีอาญาที่เป็นคดีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญา กรรมต่อมวลมนุษยชาติ คดีอาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมที่เป็นการรุกราน ขอเชิญชวนพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ  และกลุ่มคนเสื้อแดงบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้มายื่นรายชื่อที่กระทรวงการต่างประเทศ แล้วตนจะเป็นคนกลางเพื่อประสานไปยังไอซีซีช่วยดำเนินการในเรื่องคดีสลายการชุมนุม ส่วนหนึ่งการที่ไอซีซียังไม่เข้ามาดำเนินการในตอนนี้ ก็เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมยังใช้ได้อยู่ สำหรับการกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าคอร์รัปชั่นนั้น มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) มาดำเนินคดีโดยไม่โปร่งใส ไม่มีหลักนิติธรรม ดังนั้น การแก้ไขปัญหาคือให้รื้อฟื้นคดีทั้งหมดขึ้นมาใหม่

“เหลิม”ปรี๊ดท้าปชป.ดีเบต

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน พร้อมด้วยกลุ่ม ส.ส.พรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงถึงการเคลื่อนไหวนอกสภาของพรรคประชาธิปัตย์ต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดย ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยทำทุกอย่างตามกติกาของรัฐสภา แต่พรรคประชาธิปัตย์ต้านทั้งพรรค วันนี้กฎหมายยังไม่ยุติ กระบวน การกฎหมายยังอีกยาว ไม่รู้จะได้บังคับใช้หรือไม่ เหตุใดต้องด่าพรรคเพื่อไทยเป็นมหาโจร คนฆ่าคนตายต่างหากคือมหาโจร คนเสนอกฎหมายในสภาอย่างไรก็ไม่ใช่โจร จากที่นอนป่วยมา  7-8 วันรู้สึกรำคาญ ขอท้าให้พรรคประชาธิปัตย์ดีเบตออกฟรีทีวีทุกช่อง

“เสียดายที่รัฐบาลเปลี่ยนผม ถ้าผมยังดูแลอยู่ได้เสียแน่ คุณไม่มีทางไปแล้วคุณถึงหาหนทาง พรรคประชาธิปัตย์ไม่ต้องการไล่รัฐบาลเพื่อยุบสภาเลือกตั้งใหม่ พรรคประชาธิปัตย์อยากพักยกเพราะรู้ว่าเลือกตั้งต้องแพ้ แต่พรรคเพื่อไทยไม่ยุบสภาแน่นอน  คนอย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะมานำล้มรัฐบาลชาติหน้าก็ไม่มีทางชนะ พรรคเพื่อไทยจะคิดอย่างไรผมไม่ทราบ แต่ในฐานะคนหนึ่งที่เหนื่อยกับการหาเสียงผมไม่ยอม พรรคประชาธิปัตย์ทำอย่างนี้ไม่ได้”

ออกกม.นิรโทษเอง 2 ฉบับ

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวอีกว่า ตนกับนายพีรพันธุ์ พาลุสุข รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะคิดและออกกฎหมายนิรโทษ 2 ฉบับ จะได้แตกหักไปเลย นิรโทษให้คนที่ถูกปฏิวัติ รวมทั้งคดี คตส. ส่วนพวกฆ่าคนตายไม่นิรโทษ คนผิดเข้าคุก อะไรจะเกิดต้องเกิด ตอนนี้ขอเขียนเนื้อหาก่อน แต่เนื้อหาคือไม่นิรโทษกรรมให้พวกที่ฆ่าคนตาย แต่พวกถูกปฏิวัติให้ และไม่เกี่ยวกับเรื่องเอาเงินคืน  โดยเริ่มเสนอใหม่ตั้งแต่ต้น เรื่องสถานการณ์นั้นตนวิเคราะห์ไม่เคยพลาด แต่พรรคไม่เชื่อเอง ทีมยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยเขาอิจฉาตนเพราะพูดไม่เคยผิด การเมืองไทยศึกษาข้อกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องรอบรู้ วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ไปไม่ได้แล้ว สำหรับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่จะออก ขอเสียงสนับสนุนเพียง 20 เสียง

“ฝากบอกทีมยุทธศาสตร์ อย่านั่งอยู่บนชั้น 7 อย่างเดียว ลืมหูลืมตาบ้าง ผมมีโอกาสพบนายกรัฐมนตรี ยืนยันไม่มียุบสภาแน่นอน สภาจะยุบก็ต่อเมื่อรัฐบาลขัดแย้งกับสภา ส่วนการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้เป็นความผิดพลาดของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ผมไม่อยากทะเลาะกับใคร การที่ผมออกปากผมก็สร้างศัตรูแล้ว ทีมยุทธศาสตร์อย่าเอาแต่อ่านหนังสือพิมพ์แล้วมาวิเคราะห์ ถามผมหรือถาม อ.พีรพันธุ์เขาบ้าง หรือถาม ส.ส.ในพื้นที่บ้าง ปกติไม่มีอะไรเลย รัฐบาลกำลังดี ๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการบริหารจัดการนํ้า 3.5 แสนล้าน โครงการรถไฟความเร็วสูง 2 ล้านล้าน และโครงการอื่น ๆ แต่วันนี้กลับกลายเป็นถูกเขาด่าเป็นโจร การเมืองวันนี้ถ้าผมได้ด่าสวนเดี๋ยวก็จะดีขึ้นเอง พอคนเข้าใจก็จบ พรรคประชาธิปัตย์ กลับบ้านไป ฝากไว้ว่าใครมีปัญหากับ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเหลือแค่ตัวเองกับเงา” ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

พท.มุกเดิมปูดบันได 5 ขั้น

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ แถลงข่าวกรณีที่ฝ่ายค้านออกมาโจมตีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทางพรรคก็ได้จัดทำคู่มือให้กับสมาชิกพรรคไปทำความเข้าใจกับประชาชนว่า กฎหมายดังกล่าวเป็นการให้อภัยทุกฝ่ายซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และไม่เกี่ยวกับการคืนเงินให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ส่วนที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 10 กว่าคน นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ มีการเคลื่อนมวลชนในวันนี้ ทั้งที่มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภานั้น ถือว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ มองว่าเป็นการดำเนินการที่ขัดกับหลักจริยธรรมของ ส.ส. จึงเตรียมยื่นเรื่องดังกล่าวต่อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ในวันที่ 6 พ.ย. ทั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า พรรคประชาธิปัตย์กำลังต้องการล้มรัฐบาล โดยใช้แผนบันได 5 ขั้น คือ 1. กดดัน ส.ว.ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 2. ขยายแผลความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง 3. หาเสียงสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า 4. ลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาลเพื่อหวังล้มรัฐบาล และ 5. ให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งและนายสุเทพ ได้มาทำหน้าที่ในฝ่ายบริหารอีกครั้ง

ล็อบบี้ ส.ว.รับร่างนิรโทษ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ที่มีนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นประธาน ได้หารือถึง ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยได้ประเมินม็อบต่าง ๆ ว่ามีความพยายามดึงคนทุกภาคส่วนออกมา เพื่อแสดงออกว่าไม่เอาด้วยกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ใช้การล้ม พ.ร.บ. นิรโทษกรรมบังหน้า แต่เจตนาที่แท้จริงคือโค่นล้มรัฐบาล ซึ่งเชื่อว่าทางฝ่ายความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถรับมือได้ ขณะที่แกนนำพรรคเพื่อไทยได้ประสานไปยังวุฒิสภา เพื่อให้เดินหน้าออกกฎหมายนิรโทษกรรมตามร่างที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบไป โดยประสานผ่านทาง ส.ว.อาวุโสคนหนึ่งในจังหวัดภาคกลาง ซึ่งเป็นคนที่พรรคเพื่อไทยประสานงานอยู่เป็นประจำ โดย ส.ว. คนดังกล่าวจะไปสื่อสารในกลุ่ม ส.ว.เลือกตั้งที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาล ให้เดินหน้าผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมโดยเร็ว หากไม่มีข้อติดขัดผิดพลาด จะสามารถเสร็จสิ้นกระบวนการภายในเวลาไม่เกิน 20 วัน หรือก่อนปิดสมัยประชุมสภาสมัยนี้

“บิ๊กตู่”หวังคู่ขัดแย้งได้คุยกัน

ที่ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้ สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีกลุ่มราชนิกูลและราชสกุลออกมาเคลื่อนไหวด้วยนั้น เป็นการปกป้องสถาบัน ซึ่งในส่วนของกองทัพก็มีการดำเนินการโดยหากพบการล่วงละเมิดก็ส่งเรื่องไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ พร้อมทั้งเฝ้าระวัง ขอยํ้าว่าทหารไม่ได้มีอำนาจตามกฎหมาย ทำได้เพียงส่งข้อมูลต่าง ๆ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ส่วนเรื่องการต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมก็มีความรู้สึกเป็นห่วง อยากให้ทุกฝ่ายหาทางลดปัญหาที่เกิดขึ้น หากต่างคนต่างพูดกันไปมา ปัญหาก็จะยิ่งบานปลาย จึงอยากให้ทุกฝ่ายมานั่งพูดคุยกัน หันกลับมามองผลประโยชน์ของชาติว่าอยู่ตรงไหน หาทางแก้ไขไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลาย ปัญหาอยู่ที่ไหนทุกคนก็รู้อยู่ อยากให้ทุกคนมาพูดคุยกันภายใต้กรอบกฎหมาย เพื่อแสวงหาทางออกร่วม ถ้าถอยหลังกันคนละก้าวสองก้าวก็คงจะดี กองทัพเป็นห่วงตลอด โดยเฉพาะความปลอดภัยของประชาชนและความเสียหายที่เกิดต่อบ้านเมือง แต่กองทัพก็ต้องอยู่ในกรอบพอสมควร เพราะมีระเบียบวินัย และรักษากฎกติกา

เมื่อถามว่าหากสถานการณ์ยืดเยื้อทหารจะออกมาหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลไม่สั่งก็คงไม่ออก อยากจะอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่าที่ทหารออกมาทุกครั้งออกมาด้วยคำสั่งตามกฎหมาย ไม่ใช่นึกอยากจะออกก็ออก ถ้าออกมาโดยที่ไม่ฟังคำสั่ง ตนถามว่าเหตุการณ์จะจบหรือไม่ ซึ่งก็ไม่จบแล้วจะเรียกร้องให้ทหารออกมาทำไม

“ณรงค์”แนะทหารวิธีวางตัว

พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวถึงสถานการณ์การชุมนุมต่อต้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า จริง ๆ แล้วทหารเรือไม่อยากเข้าไปยุ่ง เพราะเป็นสถานการณ์ด้านการเมือง กองทัพเป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะใช้อย่างถูกต้องหรือไม่ หากใช้ถูกต้องตามกฎหมายก็พร้อมดำเนินการ แต่ถ้าเมื่อไหร่จะใช้ไม่ถูกต้องเราก็ต้องทักท้วงหรืออาจจะยั้งมือ ส่วนเรื่องของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คิดว่าทุกคนมีสิทธิที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของข้อมูลที่แต่ละคนได้รับ ความคิดจะไม่เหมือนกันจึงเกิดการโต้แย้ง ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่อย่าให้ความขัดแย้งหรือความคิดเห็นไม่ตรงกันทำให้ประเทศชาติหยุดชะงักอยู่กับที่ สำหรับกำลังพลทุกระดับ หากจะแสดงความเห็นเราไม่ปิดกั้นความคิด เพียงแต่อย่านำเครื่องแบบหรือหน่วย รวมถึงความเป็นทหารเข้าไปยุ่งเกี่ยว เพราะนั่นเป็นเรื่องของการเมืองและความคิดเห็นส่วนตัว ถ้าจะไปก็ไปแต่ตัว ถอดเครื่องแบบ อย่าไปแสดงตัวว่าเป็นทหาร และไม่เชื่อว่า จะมีการเรียกร้องให้ปฏิวัติรัฐประหารอีก เพราะทหารได้บทเรียนจากประวัติศาสตร์มาแล้ว

อธิการบดีร่วมต้านนิรโทษ

ส่วนความเคลื่อนไหวของภาคส่วน ต่าง ๆ ในการต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) ออกแถลงการณ์ว่า ตามที่ สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งเนื้อหาไม่เพียงแต่เป็นการยกเว้นความผิดและโทษให้แก่การกระทำในทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการกระทำในลักษณะการทุจริตคอร์รัปชั่นด้วย ทปอ.เห็นว่า กฎหมายดังกล่าว สร้างมาตรฐานที่ไม่ถูกต้องขึ้นในสังคมไทย เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นมิใช่สิ่งร้ายแรง และในท้ายที่สุดก็สามารถหลุดพ้นจากความรับผิดได้ด้วยการนิรโทษกรรม จะทำให้การต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชั่นในสังคมไทยในปัจจุบันไม่ประสบผลสำเร็จ ทปอ.จึงขอคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยในท้ายแถลงการณ์ มีการลงชื่ออธิการบดีมหาวิทยาลัย 19 แห่ง

ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) กล่าวว่า มติที่ประชุม ทปอ.มรภ.เห็นว่า สาระสำคัญใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไม่เป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคม ขัดต่อศีลธรรมอันดี จึงขอร่วมคัดค้านและขอให้ชะลอร่างกฎหมายนี้ออกไปก่อนเพื่อเลี่ยงความขัดแย้งในสังคมที่จะเกิดขึ้น

มหาวิทยาลัยก็เคลื่อนไหว

นอกจากนี้ สภาอาจารย์ สภาข้าราชการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับองค์การนักศึกษาและสภานักศึกษา มธ. ได้รวบรวมรายชื่อคณาจารย์ 636 คน บุคลากร 46 คน แถลงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดย ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มธ.ได้อ่านแถลงการณ์พร้อมระบุว่า จากนี้จะมีกิจกรรมเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อเนื่อง เช่น การล่ารายชื่อต้าน 1 ล้านรายชื่อ และในวันที่ 7 พ.ย.นี้ เวลา 09.00 น. จะมีการรวมตัวของนักศึกษาที่ลานปรีดี พนมยงค์ เพื่อจะเคลื่อนขบวนต่อไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อคัดค้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม

ด้านคณะผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 ระบุว่า คณะผู้บริหารจุฬาฯ เห็นว่า การจัดทำร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ไม่เป็นไปตามที่คณะกรรมการอิสระตรวจสอบ และค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้ให้แนวทางไว้ และขอเรียกร้องให้วุฒิสภา ซึ่งต้องเป็นผู้พิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมได้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ยับยั้งร่างกฎหมายนิรโทษกรรมไว้ก่อน และส่งร่างกฎหมายนิรโทษกรรมคืนไปยังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาทบทวนใหม่ คณะผู้บริหารจุฬาฯ จะติดตาม
สถานการณ์ต่อไปอย่างใกล้ชิด

ที่ลานอุทยานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี คณะอาจารย์ นักศึกษา ศิษย์เก่า มสธ. และประชาชน ประมาณ 600 คน รวมตัวกันเพื่อร่วมต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม โดยอ่านข้อเรียกร้องขอให้ทางพรรคเพื่อไทยและคณะรัฐมนตรียุติกระบวนการ ที่จะทำให้กฎหมายนิรโทษกรรมไปสู่การประกาศใช้ ถ้ารัฐบาลยังเดินหน้าต่อกฎหมายฉบับนี้ ขอให้ตระหนักถึงความรับผิดชอบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ม.รังสิตอัดภาพชัดสภาทาส

มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ออกแถลงการณ์ “ค้านนิรโทษกรรมเหมาเข่ง เร่งคืนความเป็นธรรมให้สังคม” ระบุว่า มหาวิทยาลัยรังสิต ขอแสดงจุดยืนคือ 1. เห็นชอบในหลักการที่ให้นิรโทษกรรมแก่ประชาชนทุกสีเสื้อที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองและแสดงออกทางการเมือง อันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพของพลเมืองตามรัฐธรรมนูญ 2. คัดค้านการนิรโทษกรรมที่ครอบคลุมการกระทำของผู้มีอำนาจสั่งการ แกนนำผู้ชุมนุม รวมถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมในทุกกรณี ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 เป็นต้นมา  3. คัดค้านการขยายเงื่อนเวลาการนิรโทษกรรมที่ถอยหลังไปถึงปี 2547 เพราะเท่ากับเป็นการขยายขอบเขตการนิรโทษกรรมไปสู่การลบล้างความผิดกฎหมายทุกฉบับและทุกฐานความผิด โดยเฉพาะประเด็นการทุจริตคอร์รัปชั่น 4. กระบวนการรวบรัดและขยายความร่างกฎหมายนิรโทษกรรมจนผิดหลักการอย่างสิ้นเชิงของสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันชัดเจนว่า สภาผู้แทนราษฎรหรือสถาบันนิติบัญญัติของไทยปัจจุบัน ทำหน้าที่เยี่ยงสภาทาส ที่รับคำบงการจากเจ้าของพรรคอย่างไร้ยางอาย และเป็นการกระทำที่เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 122

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล  กล่าวว่า ในวันที่ 5 พ.ย. ทางอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลได้ส่งหนังสือถึงคณบดีทุกคณะ เพื่อหารือถึงการแสดงจุดยืนทางการเมืองในนามของสถาบัน ในเวลา 13.30 น. ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

รมว.สธ.จวกอย่าอ้างองค์กร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชมรมแพทย์ชนบท 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ประกอบด้วยจังหวัดพัทลุง ตรัง สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส นำโดย นพ.สมชาย ศรีสมบัณฑิต ผอ.รพ.ตากใบ จ.นราธิวาส ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านต่อการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พร้อมเชิญชวน รพ.ชุมชนขึ้นป้ายหน้า รพ.ชุมชนทุกแห่ง  ในวันอังคารที่ 5 พ.ย.นี้ โดย นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล แต่เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎร ได้คุยกับกลุ่มแพทย์ต่าง ๆ แล้วว่า การแสดงออกทางการเมืองนั้นสามารถทำได้แต่ขอให้เป็นการแสดงออกในนามส่วนตัวหรือในฐานะกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นมา แต่ไม่ควรนำสถาบันไปใช้ เช่น ในนามแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข หรือในนามโรงเรียนแพทย์ เพราะหากนำสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้องจะกลายเป็นการไม่สมควรเพราะไม่มีการพิสูจน์ได้ว่าเป็นตัวแทนขององค์กรทั้งหมดหรือไม่ การขึ้นคัตเอาต์ของกลุ่มแพทย์นั้นเห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะว่าเราไม่ต้องการให้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในสถานที่ราชการ สถานที่ราชการควรจะเป็นกลาง ทั้งนี้มองว่า อีกไม่นานกลุ่มผู้ชุมนุมจะสลายตัว เพราะเรื่องนี้ยังต้องผ่านขั้นตอนวุฒิสภา มีเวลาอีกยาวนาน

<

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์