เจาะ 8 คดีแรกของคตส.

จากข่าวสด




คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ ตามประกาศคปค.ฉบับที่ 30 หรือคตส.

สรุปคัดเลือกจาก 24 โครงการที่สตง.สอบแล้วเสนอเข้ามาเหลือ 8 เรื่องหลัก

ซึ่งล้วนคาบเกี่ยวโยงใยถึงอดีต "บิ๊ก" ในรัฐบาลทักษิณ ได้แก่


1.โครงการจัดซื้อเครื่องจับวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 ของสนามบินสุวรรณภูมิ

มีข้อสรุปว่าการกระทำของคณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด และคณะกรรมการต่อราคางานจ้างออกแบบปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยในการตรวจสอบกระเป๋าและสัมภาระ

รวมทั้งคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) มีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นการทุจริตและมีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เงินของราชการ เป็นเงิน 2,501,798,143.47 บาท


2.โครงการแอร์พอร์ตลิงก์ ระยะทาง 28 ก.ม.

หรือ สัญญาโครงการก่อสร้างระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับ-ส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) จากสถานีมักกะสันไปสนามบินสุวรรณภูมิ
งบลงทุน 25,907,000,000 บาท

พบความผิดปกติที่ร.ฟ.ท.ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทรับเหมาบางข้อที่อาจทำให้รัฐเสียเปรียบ คือจ่ายค่าธรรมเนียมทางการเงิน 1,666,214,702 บาทแทนคู่สัญญา ทั้งที่โครงการดังกล่าวต้องจ่ายเงินทั้งหมดให้เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ


3.โครงการท่อร้อยสายไฟฟ้าภายในสนามบินสุวรรณภูมิ


พบว่า พฤติการณ์ออกแบบและจัดเตรียมเอกสารประกวดราคางานก่อสร้างระบบจ่ายไฟฟ้าและเครือข่ายท่อร้อยสายไฟฟ้าเอื้อต่อบริษัทเอกชน เข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 รวมทั้งกำหนดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายในของท่อร้อยสายไฟฟ้าไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐาน


4.โครงการการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ของบริษัทห้องปฏิบัติการกลางตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด (เซ็นทรัลแล็บ)


เมื่อปี 2546 วงเงิน 1,597 ล้านบาท มีความไม่โปร่งใสและดำเนินการผิดระเบียบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยพัสดุ พ.ศ.2535


5.โครงการจัดซื้อรถดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร


สัญญาการซื้อขายมูลค่า 6,700 ล้านบาท ที่มีการเปลี่ยนแปลงสเปค ส่งผลให้ต้องซื้อแพงเกินความเป็นจริง ซึ่งก่อนหน้านี้กรมสอบสวนคดีพิเศษส่งเรื่องให้คณะกรรมการป.ป.ช. ซึ่งมีรายงานว่า มี 3 อดีตรัฐมนตรีพรรคไทยรักไทย รวมถึงอดีตผู้ว่าฯและผู้ว่าฯกทม.ว่ามีความเกี่ยวโยงแล้ว


6.กรณีที่ผู้บริหารกรมสรรพากรละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่เรียกเก็บภาษีจากนายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร


บุตรชายและบุตรสาวพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในการซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ปจากแอมเพิลริช นอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำให้ประเทศเสียหายจากการขาดภาษีเป็นเงินกว่า 5 พันล้านบาท


7.โครงการปล่อยเงินกู้ของธนาคารเพื่อการนำเข้าและการส่งออกเพื่อให้รัฐบาลทหารพม่า


4 พันล้าน ซึ่งสตง.ตรวจสอบพบว่าเป็นการกระทำผิดเชิงนโยบาย เพราะรัฐบาลทหารพม่านำเงินกู้ดังกล่าวไปทำธุรกิจกับบริษัทเครือข่ายของผู้บริหารรัฐบาลชุดก่อน


8. โครงการปลูกยางเพื่อยกระดับรายได้และความมั่นคงให้เกษตรกรในพื้นที่


ปลูกยางใหม่ ที่ว่าจ้างบริษัทเอกชนรายใหญ่เข้ามารับผิดชอบ
ผลิตกล้ายางชำถุง 90 ล้านต้น แต่พบว่าส่งมอบต้นกล้ายางไม่ได้คุณภาพให้เกษตรกร

ทำให้เกิดความเสียหายมากกว่า 1 พันล้านบาท

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์