เขมรถล่มไทยใกล้ปราสาทตาควายอีกระลอก

สถานการณ์การสู้รบระหว่างไทยกับกัมพูชาเกิดขึ้นอีกระลอก
 
โดยเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงกลางดึกวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา กองกำลังทหารจากภูมิภาคที่ 4 กัมพูชา เสริมกำลังทหาร 500 คน เข้าโจมตีทหารไทยที่ปราสาทตาควาย บ้านไทยนิยมพัฒนา ต.บักได อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ยิงปืน ค 82 ตกในฐานปฏิบัติการทหารพราน 1 ลูก จากนั้นเกิดการยิงปะทะและตอบโต้อย่างหนัก ทำให้มีการปะทะเกือบตลอดทั้งคืน


กระทั่งเวลา 04.00 น. วันที่ 3 พฤษภาคม การปะทะเกิดขึ้นอีกระลอก ส่งผลให้พลทหารธวัชชัย บุญมิ่ง เสียชีวิต พลทหารอำพล ยากิจปลื้ม ส.อ.ศิวิทย์ วิเศษชาติ และอาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) สันติ จันทเต้ บาดเจ็บ


นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง กล่าวถึงสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาว่า ต้องดูไปเรื่อยๆ
 
เพราะการเจรจาให้หยุดยิงเป็นงานที่ทำยาก ทั้งนี้ เชื่อว่าผลการคุยระหว่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กับสมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่าง 7-8 พฤษภาคมนี้ ผลจะออกมาดี


วันเดียวกัน ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ศาลโลก) เปิดเผยเนื้อหาการยื่นขอตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารของกัมพูชาเมื่อวันที่ 28 เมษายน โดยกัมพูชาได้ยื่นขอ 2 เรื่อง คือขอให้ตีความคำพิพากษาเดิมในปี 2505 และขอให้ศาลออกมาตรการชั่วคราวในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร


กัมพูชาระบุว่า 1.ตามความเข้าใจของกัมพูชา คำตัดสินของศาลโลกเมื่อปี 2505 ตั้งอยู่บนเส้นเขตแดนสากลที่มีอยู่และได้รับการยอมรับจากทั้งสองฝ่าย 2.ตามความเข้าใจของกัมพูชา เส้นเขตแดนนั้นกำหนดไว้ในแผนที่ ศาลอ้างถึงในหน้า 21 ของคำตัดสิน เป็นแผนที่ที่ทำให้ศาลสามารถตัดสินว่ากัมพูชามีอธิปไตยเหนือปราสาทย่อมเป็นผลโดยอัตโนมัติให้กัมพูชามีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนที่ปราสาทตั้งอยู่


3. ตามคำพิพากษา ไทยมีพันธกรณีต้องถอนทหารและเจ้าหน้าที่ออกจากพื้นที่โดยรอบปราสาท ซึ่งเป็นดินแดนกัมพูชา กัมพูชาเชื่อว่าเป็นข้อผูกมัดสืบเนื่องจากถ้อยแถลงของศาลโลกซึ่งระบุเขตอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาในบริเวณดังกล่าว อย่างไรก็ดี กัมพูชายืนยันว่าไทยไม่เห็นด้วยกับประเด็นทั้งหมดที่ว่ามา


กัมพูชาย้ำว่า เป้าหมายของการยื่นขอให้มีการตีความคำพิพากษาเพิ่มเติมซึ่งจะผูกพันต่อคู่กรณีทั้งสองประเทศ
 
ก็เพื่อให้เป็นพื้นฐานสำหรับข้อยุติสุดท้ายของข้อพิพาทนี้ผ่านการเจรจาและแนวทางสันติวิธีอื่นๆ ความพยายามที่ล้มเหลวในการตีความคำพิพากษาศาลโลกในปี 2505 นำไปสู่ความเสื่อมทรามในความสัมพันธ์สองประเทศ รวมถึงข้อโต้เถียงในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และการปะทะกันด้วยอาวุธของสองประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ 2554


ในส่วนของมาตรการชั่วคราวกัมพูชาขอให้ศาลโลกสั่ง 3 ประเด็น คือให้ไทยถอนทหารออกจากดินแดนกัมพูชาในพื้นที่ปราสาทพระวิหารทันทีและปราศจากเงื่อนไข สั่งห้ามกิจกรรมทางทหารของไทยในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร และให้ไทยระงับการกระทำใดๆ เป็นการแทรกแซงสิทธิของกัมพูชา หรือทำให้สถานการณ์ร้ายแรงมากขึ้น


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์