เกาะติดงบฯศก.พอเพียงแปลงจากML ส่งกลิ่น-ส่อรุมทึ้ง

"อภิสิทธิ์ "ไม่อาจตัดใจเลิกแนวทาง "ประชานิยม" แปลงนโยบาย "เอสเอ็มแอล" ของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนโยบาย"เศรษฐกิจพอเพียง" แค่เริ่มก็เจอปัญหาไม่โปร่งใส

รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่อาจตัดใจเลิกแนวทาง "ประชานิยม" ได้ จึงแปลงนโยบาย "เอสเอ็มแอล" ของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาเป็นนโยบาย "เศรษฐกิจพอเพียง" และเริ่มดำเนินการทันทีตั้งแต่ต้นปี 2552 ผ่าน
 
"กองทุนเศรษฐกิจพอเพียง" วงเงิน 20,000 ล้านบาท มีสำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (สพช.) สังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่คัดกรองโครงการที่ชุมชนเสนอมาแล้วจัดสรรงบประมาณโดยตรงไปยังหมู่บ้านและชุมชนทั่วประเทศ ตั้งแต่ 100,000-700,000 บาท ตามจำนวนประชากร

กำหนดหลักเกณฑ์คัดเลือกโครงการ ต้องมีความยั่งยืน มีผลต่อเนื่องไม่สิ้นสุดในครั้งเดียว และมีคุณสมบัติเข้าข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้


(1) รองรับผู้ด้อยโอกาสและผู้ว่างงาน ให้สามารถพัฒนาไปสู่ความพอกิน พออยู่ พอใช้ ซึ่งเป็นเป้าหมายขั้นต้นของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

(2) สนับสนุนและส่งเสริมการลดต้นทุนและปัจจัยในการผลิตด้านต่างๆ เช่น การเกษตร เพื่อเพิ่มศักยภาพทำมาหาเลี้ยงชีพ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาสในอาชีพ และเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานราก

(3) สนับสนุนและส่งเสริมการอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว

(4) สนับสนุนและส่งเสริมการใช้และการอนุรักษ์พลังงาน หรือพลังงานทดแทน หรือพลังงานทางเลือก
โครงการจะต้องได้รับฉันทามติจากที่ประชุมประชาคมในชุมชน และกำหนดกรอบเงินที่จะใช้อย่างชัดเจน สามารถตรวจสอบได้




@แค่เริ่มก็เจอปัญหาไม่โปร่งใส

-ในกรุงเทพมหานคร (กทม.)

หลังจาก น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ออกมาเปิดโปงความไม่โปร่งใสของการจัดซื้อจัดจ้างของชุมชนที่เข้าร่วมโครงการใน กทม. ได้แก่ 1.ทำไมกรรมการชุมชนเลือกโครงการอนุรักษ์พลังงาน หรือพลังงานทดแทนเหมือนกัน ผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกัน 2.โครงการดังกล่าวไม่ได้มาจากความต้องการของคนส่วนใหญ่ แต่มีนายหน้า หรือ "ล็อบบี้ยิสต์" ไปกดดันกรรมการให้เลือก 3.มีบริษัท 2-3 รายขายสินค้าเหมือนกันในราคาเดียวกันให้ชุมชน ซึ่งสงสัยว่าแพงเกินจริง 4.สำนักงานบริษัทดังกล่าวมีสภาพเป็นเพียงทาวน์เฮาส์อยู่อาศัย ใช้เบอร์โทร.เดียวกัน

"มติชน"สุ่มตรวจสอบเพิ่มเติม พบอีกว่า ชุมชนลาดพร้าว 34, ชุมชนริมคลองบางซื่อ, ชุมชนทับแก้ว บางกะปิ, ชุมชนลาดพร้าว 45, ชุมชนตอกข้าวเม่า บ้านช่างหล่อ, ซอยจรัญสนิทวงศ์ 41, ชุมชนสุขสวัสดิ์ สามเสนใน, ชุมชนถวัลย์ศักดิ์ สามเสนใน, ชุมชนบุญชูศรี สามเสนใน, ชุมชนวัดมะกอกส่วนหน้า สามเสนใน, ชุมชนสามัคคีพัฒนา หัวหมาก ฯลฯ เลือกเครื่องผลิตน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์เหมือนกัน

ชุมชนซอยจรัญสนิทวงศ์ 41, ชุมชนสามัคคีพัฒนา ฯลฯ เลือกเครื่องผลิตปุ๋ยและก๊าซชีวภาพเหมือนกัน นี่ไม่นับอีกหลายๆ ชุมชนซึ่งเลือกเตาเผาขยะชุมชน, ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ SE-650W และโคมไฟถนนพลังงานแสงอาทิตย์เหมือนกัน ที่สำคัญอุปกรณ์ทั้งหมดมาจากบริษัทกลุ่มเดียวกันอีกด้วย

-ในต่างจังหวัด

จากการที่ "มติชน" ตรวจสอบเอกสารการเสนอโครงการของชุมชนในหลายจังหวัดที่แจ้งเข้ามายัง สพช. พบว่า การจัดทำเอกสารของหลายชุมชนที่ยื่นเสนอโครงการส่งเสริมร้านค้าชุมชน (กองทุนปุ๋ยชุมชน) มีลักษณะเหมือนกัน ทั้งรูปแบบกระดาษ ขนาดตัวหนังสือที่ใช้พิมพ์ เนื้อหาโครงการ แม้กระทั่งถ้อยคำ ตั้งแต่ขั้นตอน แผนงาน 4 ประเด็น ได้แก่ 1.การจัดซื้อปุ๋ยคอกในชุมชน และวัถุดิบในการผลิตปุ๋ย โดยใช้วัตถุดิบในชุมชนเป็นหลัก มีกรรมการเป็นผู้จัดหา 2.การเตรียมวัสดุส่วนผสมปุ๋ย 3.นำวัสดุที่เตรียมไว้บรรจุใส่เครื่องผลิตปุ๋ยตามกระบวนการผลิต และนำปุ๋ยมาบรรจุถุงเพื่อมาจำหน่วยให้สมาชิก และชาวบ้านในราคาถูก 4.การเก็บเงินกองทุนเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในชุมชน ในส่วนท้ายเอกสารยังระบุแบบฟอร์มตำแหน่งประธานคณะกรรมการชุมชน เบอร์โทรศัพท์เหมือนกัน แตกต่างกันเฉพาะลายชื่อประธานคณะกรรมการชุมชนเท่านั้น

สภาพข้างต้นเห็นได้จากเอกสารของคณะกรรมการหมู่บ้านเดื่อใต้ จ.หนองคาย, หมู่บ้านม่วง จ.อุดรธานี และหมู่บ้านแก้วอุดม จ.หนองบัวลำภู ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ 3 หมู่บ้านซึ่งห่างกันร่วมร้อยกิโลเมตรจะเขียนเหมือนกันทุกเรื่องแม้กระทั่งถ้อยคำ ถ้าไม่มีนายหน้า หรือล็อบบี้ยิสต์ไปจัดการเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับชุมชนใน กทม. ลักษณะดังกล่าวยังเกิดขึ้นในอีกหลายจังหวัด จะต่างกันก็แค่รายละเอียดปลีกย่อยของเนื้องานเท่านั้น

เกิดอะไรขึ้นกับโครงการตามแนวทางพระราชดำริ "เศรษฐกิจพอเพียง" ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์
 

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์